ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
“วรชัย เหมะ” เป็น “คนเสื้อแดง” และเป็นอดีต ส.ส.เขต จังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
เขาอาจมี “ปากเสียง” ในพรรคพอสมควร ถ้าย้อนเวลาไปตอนทศวรรษ 2550
แต่ปัจจุบัน เสียงของวรชัยไม่ได้ดังและไม่ถูกรับฟังขนาดนั้นแล้ว แม้เขาอาจมีตำแหน่งแห่งที่ “ลอยๆ” อยู่บ้าง ในห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
หากยังจำกันได้ วรชัยเคย “สละชีพทางการเมือง” เพื่อพรรคเพื่อไทยมาแล้วหนหนึ่ง
เมื่อคราวที่เขา ครั้งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ใน พ.ศ.2556
โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่ต้องโทษจากคดีการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ในยุคหลังรัฐประหาร 2549
แต่แล้วร่างกฎหมายที่มีเจตนาดีของวรชัย (และคณะ ส.ส. ผู้ร่วมลงนามสนับสนุน) กลับถูก “แปลงสาร” ในกระบวนการการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และการพิจารณาร่างในวาระ 2-3
จนกลายเป็น “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง-สุดซอย” ที่ทำลายเครดิตทางการเมืองและความปรารถนาดีของวรชัยไปเยอะ และทำลายความหวังที่จะได้รับอิสรภาพของคนเสื้อแดงที่ต้องโทษคดีการเมือง ณ เวลานั้น ไปมหาศาล
ก่อนจะนำไปสู่ทางตันของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” การก่อตัวของม็อบ กปปส. และการรัฐประหารโดย คสช. ในท้ายที่สุด

หลังจากนั้น ชีวิตทางการเมืองของคนชื่อ “วรชัย” ก็ไม่เคยบินขึ้นสูงเท่าเมื่อกลางทศวรรษ 2550 อีกเลย
แม้จะล้มเหลว มีบาดแผล อ่อนล้า และทำตัวโลว์โปรไฟล์ แต่ล่าสุด วรชัยได้กระทำการ “สละชีพทางการเมือง” อีกรอบ
ด้วยการเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” รัฐบาล กระบวนการบริหารจัดการของพรรคเพื่อไทยยุค 2567 อย่างไม่อ้อมค้อม ไม่ประนีประนอม เหมือนไม่กลัวการต้องโทษ-โดนลงทัณฑ์
ดังที่หลายท่านน่าจะได้อ่านและรับฟังรายละเอียดไปมากพอสมควรแล้ว
คำพูดของวรชัยอาจไม่มีน้ำหนัก ฟังไม่ขึ้น หรือเป็นแค่เสียงพร่ำบ่นของ “เดดวูดทางการเมือง”
ถ้าเสียงสะท้อนนี้ไม่อยู่ในบริบททางสังคมการเมือง ที่ผู้คนจำนวนมากจากหลากชนชั้นหลายแวดวง ต่างรู้สึกคล้ายๆ กันว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน และสภาพเศรษฐกิจไทยโดยรวมก็ย่ำแย่ซึมเซาไม่กระเตื้องฟื้นตัวขึ้น
ทว่า เมื่อความอึดอัดคับข้องใจ-มองไม่เห็นความหวังข้างต้น คือ “อารมณ์ความรู้สึกร่วมสมัย” ที่ดำรงอยู่จริงๆ อย่างยากปฏิเสธ
ความเห็นของนักการเมืองที่คล้ายจะ “ตกยุค” อย่างวรชัย จึงกลายเป็นสิ่งที่พึงสดับตรับฟังอยู่ไม่น้อย
การสละชีพทางการเมืองทั้งสองครั้งของ “วรชัย เหมะ” มิได้มีชีวิตทางการเมืองของเจ้าตัวเป็นเครื่องเซ่นสังเวยเพียงเท่านั้น
แต่การสละชีพหนแรกของเขา ยังเผยให้เห็นรอยแผลใหญ่ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย” ซึ่งยากสมานฟื้นฟู และลุกลามกลายเป็นรัฐประหารที่ทำลายชีวิตของระบอบประชาธิปไตยไทย จน “ตายด้าน” นานนับทศวรรษ
ส่วนการสละชีพหนล่าสุดของวรชัย ก็เผยให้เห็นอาการเจ็บป่วยอันน่าเป็นห่วงของ “รัฐบาลเศรษฐา-เพื่อไทย” ซึ่งหวังว่ายังไม่สายเกินไปที่จะหาหนทางเยียวยารักษา •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022