นายกฯ ผ่าวิกฤต ‘พงส.’ ขาดแคลน ตั้ง ‘พล.ต.อ.เอก’ ปธ.-ดึง ‘กูรู’ ร่วม ชง กม. ‘แท่งตำแหน่ง-อัพเงินเดือน’

พนักงานสอบสวน (พงส.) ขาดแคลนเป็นปัญหาวิกฤต

ผบก.ภ.จ.รายหนึ่งถึงกับโอดครวญว่า “พงส.ปัจจุบันแย่เลยไม่มีคุณภาพ ไม่พัฒนาต่อเนื่อง ไม่มีแรงจูงใจ ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร”

บางแห่งพนักงานสอบสวนลาออกยกโรงพัก เพราะงานล้นคนน้อย ทำงานจนเครียด บางคนถึงขนาดตัดสินใจใช้อาวุธปืนคู่กายกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง

ที่เหลืออยู่ ไม่มีความสุขในการทำงาน เพราะรับผิดชอบสอบสวนคดีอาญามากเกินไป ทำให้สำนวนขาดคุณภาพ

เป็นที่มาถูกตั้งกรรมการ ต้องลาออก ย้ายสายงาน เปลี่ยนงานในที่สุด

ขณะที่เงินประจำตำแหน่งไม่เทียบเท่ากับข้าราชการฝ่ายอื่นในกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกัน

ค่าตอบแทนสำนวนการสอบสวนไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย การเลื่อนตำแหน่งล่าช้า

จึงตกอยู่ในสถานการณ์ “เลือดไหลออกไม่หยุด”

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาเกือบ 10 เดือนรับทราบปัญหานี้

จึงได้ลงนามประกาศ ก.ตร. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสอบสวน เรียกชื่อย่อ “อ.ก.ตร.สืบสวนสอบสวน” โดยมี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน

รองประธานอนุกรรมการ มี พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน, รอง ผบ.ตร.หรือผู้ช่วย ผบ.ตร. งานกฎหมายและคดี และรอง ผบ.ตร. หรือผู้ช่วย ผบ.ตร. งานสืบสวนสอบสวน

ส่วนอนุกรรมการประกอบด้วย นายอิทธิพล แก้วทิพย์ รองอัยการสูงสุด, รศ.ประทิต สันติประภพ ก.ตร., รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

และยังมีระดับ “กูรูมือสืบสวนสอบสวน” ได้แก่ พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, พล.ต.ต.นิเวศก์ อาภาวสิน, พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส. บช.น., พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย, พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ และ พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ นอกนั้นมี ผบช.ก.ตร., ผบช.สกพ., ผบช.กมค. ร่วมเป็นอนุกรรมการ

 

“อ.ก.ตร.สืบสวนสอบสวน” มีอำนาจ

1. พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ ก.ตร. ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายทิศทาง มาตรฐาน และวิธีการพัฒนางานสืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมในปัจจุบัน การเสริมสร้างประสิทธิภาพพนักงานสอบสวนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบราชการตำรวจและให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงาน กำหนดเส้นทางในการเจริญก้าวหน้าของพนักงานสอบสวน และพัฒนาระบบงานสืบสวนสอบสวนเพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ ก.ตร. ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านงานสืบสวนสอบสวน เพื่อให้สามารถตอบสนอง ต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลสูงสุด รวมทั้งการพัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ประกาศ มติ หรือหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสืบสวนสอบสวน

และ 3. พิจารณาและเสนอความเห็นต่อ ก.ตร. ในเรื่องที่คณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสวนสอบเห็นสมควรให้ ก.ตร.พิจารณา

คณะอนุกรรมการชุดนี้ถือฤกษ์ประชุมนัดแรก 16 กรกฎาคมนี้ โดย พล.ต.อ.เอกจะเชิญ 2 สมาชิกวุฒิสภา คือ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร อดีตรอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิงานสืบสวนสอบสวนเข้าร่วมประชุมด้วย

 

พล.ต.อ.เอกสะท้อนสถานการณ์ขณะนี้ให้ฟังว่า อัตราพนักงานสอบสวนมีอยู่ 18,000 คน ตอนนี้ทำงานจริงอยู่ประมาณ 11,000 คน ในโรงพัก 1,484 แห่ง การทำงานโหลดหนักมากจนคนหนีออกจากสายงาน เนื่องด้วยไม่มีความเจริญเติบโตในหน้าที่และงานหนัก ปีที่แล้วสำรวจตัวเลขติดลบ อีก 80 ตำแหน่ง เพราะทุกคนไม่อยากอยู่สายงานนี้ และยิ่งอาชญากรรมไซเบอร์ตอนนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน คดีเข้ามาจำนวนมาก งานพนักงานสอบสวนยิ่งหนัก

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนนั้น จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับเพิ่มเติม เข้าไปด้วย โดยจะต้องมีเส้นทางของการเติบโตทางสายงานพนักงานสอบสวนที่เคยถูกยกเลิกไปสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลับมาด้วย ให้เงินเดือนเท่ากับผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอื่น เช่น ศาล อัยการ และ ป.ป.ช.

“เราเข้าใจภาพพจน์ของตำรวจดี ยังมีตำรวจ อดีตตำรวจ มีองค์กรของตำรวจบางส่วน ที่เข้าใจเห็นปัญหา เข้าใจวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นเพื่อจะแก้ไขให้ถูกต้อง ยืนยันว่ายังมีตำรวจดีๆ ที่จะพยายามช่วยกัน ทำให้องค์กรแห่งนี้ให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชนตามแนวทางที่ควรจะเป็นที่ถูกต้อง” พล.ต.อ.เอกกล่าว

ประธาน อ.ก.ตร.สืบสวนสอบสวนยังได้ยกกรณี ว่าที่ พ.ต.อ.กีรติ ตรีวัย พนักงานสอบสวนดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีโรฮิงญาที่โด่งดัง ยังคงต้องเดินทางจากสงขลามากรุงเทพฯ เพื่อเบิกความคดีนี้มากว่า 5 ปี เป็นรอง ผกก.กว่า 11 ปี ถึงได้เลื่อนเป็น ผกก. ถูกย้ายอย่างไม่เป็นธรรม ถือว่าทำลายขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวนอย่างน่าอเนจอนาถใจที่สุด

เพราะฉะนั้น ประกาศ ก.ตร.ฉบับนี้ ถือว่าจุดประกายความหวังให้แก่พนักงานสอบสวนอีกครั้ง