ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
เหยี่ยวถลาลม
ข้าแต่ศาล
ที่เคารพ
“ข้าแต่ศาล ที่เคารพ” เป็นชื่อหนังสือรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนของ “สมลักษณ์ จัดกระบวนพล” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนได้จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี 2558
หนังสือเต็มไปด้วยหัวข้อเรื่องน่าสนใจมากมาย อาทิ คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย, คำถามที่อาจารย์วิชากฎหมายยังไม่อาจให้คำตอบได้, หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ, จิตวิญญาณและการดำรงตนของผู้พิพากษาตุลาการ ฯลฯ
โดยเฉพาะหัวข้อ “จิตวิญญาณและการดำรงตนของผู้พิพากษาตุลาการ” สมลักษณ์เริ่มต้นด้วยความคมชัดว่า
“ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อำนาจตุลาการ เป็น 1 ใน 3 อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ…ผู้พิพากษาตุลาการ มีอำนาจหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนไทย เป็นสถาบันในการดับทุกข์และอำนวยสุข”
เมื่อส่งต่อไปยังหัวข้อ “คำสอนของอาจารย์สัญญา แด่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลาย” ยิ่งเข้มข้น กระตุกต่อมคุณธรรมกันแรงๆ อย่างเช่นในตอนหนึ่งว่า คำสอนของอาจารย์ที่ผู้พิพากษาต้องจดจำอย่าได้หลงลืมเป็นอันขาดก็คือ
“…ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย…เพราะฉะนั้น พวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร พวกผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี่แหละครับ ไม่ใช่ความรังเกียจจะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการ แม้จะออกไปแล้ว”
ผู้พิพากษาตุลาการไม่ค่อยจะมีเรื่องอื้อฉาว ไม่ได้หมายความว่าไม่มี “สิ่งแปลกปลอม” หรือไม่มีบุคลากรที่เป็นภัยคุกคามความน่าเชื่อถือศรัทธาของสถาบันศาล
วงการศาลมีความอ่อนไหวกับเรื่องจริยธรรมที่สุด!
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “องค์กรตุลาการ” ปกปิดซ่อนเร้นซุกฝุ่นไว้ใต้พรมหรือเปล่า ถึงไม่ค่อยได้ยินข่าว
ความจริงก็คือว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ “ก.ต.” นั้นได้คัดกรองเอาบุคลากรที่เป็นภัยคุกคามต่อความเชื่อถือศรัทธาออกจากสถาบันตุลาการตลอดเวลา
เพียงแต่ไม่อื้อฉาว และไม่ออกสื่อตอบโต้กันไปมาเหมือน “บิ๊กตำรวจ”!
ล่าสุดกรณี “ข้าราชการหญิง” ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรม “ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่” นั้น “ก.ต.” ก็ตั้งกรรมการสอบสวนทันที
เจอ “พยานเอก” เข้าไป 2 ปากก็ใจหายใจคว่ำ!
รายที่ 1 ปากคำจากข้าราชการผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าทุกข์
ร้องทุกข์เพื่อให้องค์กรตุลาการ “ดับทุกข์” ไม่ใช่ให้ช่วยระงับยับยั้งอย่าให้อื้อฉาว!
รายที่ 2 ท่านเป็นผู้พิพากษาหญิงชั้นผู้ใหญ่
ท่านเป็นผู้ประสบเหตุ เป็นสตรี “ผู้กล้า” เข้าช่วยปกป้องสิทธิสตรี
สรุปความตามปากคำของพยานสำคัญ 2 รายนี้ก็สุดที่ “ก.ต.” จะวินิจฉัย
ส่งไม้ต่อให้ นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา มีคำสั่งย้ายด่วน! ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ออกจากตำแหน่ง “อธิบดี”!
ถึงแม้ทุกคนจะปิดปากกัน “เงียบกริบ” เพราะธรรมเนียมองค์กรศาลไม่ประจานกัน แต่วงในก็รู้ดีว่า การปกป้องเกียรติภูมิ “สถาบันตุลาการ” สำคัญยิ่งกว่าปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิของบุคคล
ย้ายเสร็จจึงตามด้วย “ดาบสอง” ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย!
วิจารณ์กันว่า ตามแบบแผนในอดีตที่ผ่านๆ มา เส้นทางการสอบสวนมักจะเดินไปถึง 2 ทางแยก
ทางแยกแรก ถ้าด้วยข้อมูลหลักฐานรวมถึงประจักษ์พยานนำไปสู่ผลสรุปว่า พฤติการณ์นั้นก่อความเสื่อมเสียเกียรติภูมิแก่องค์กรตุลาการ จุดจบมัก “ให้ออกจากราชการ” ฐานประพฤติเสื่อมเสีย มีความมัวหมอง ไม่เหมาะที่จะดำรงสถานะผู้พิพากษาตุลาการอีกต่อไป
ทางแยกที่สอง หากผลการสอบสวนสรุปออกมาว่า เป็นการประพฤติชั่วร้ายแรง บุคคลนั้นก็จะถูกลงโทษวินัยร้ายแรง “ไล่ออก”
“สันติ ทักราล” อดีตประธานศาลฎีกาผู้ชัดเจนเฉียบขาดเคย “สั่งพักราชการ” ผู้พิพากษาประพฤติชั่วก่อนเลย-จากนั้นตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย 6 เดือนเสร็จ “ไล่ออก”
เป็นการปกป้อง “จิตวิญญาณแห่งผู้พิพากษาตุลาการ” ให้ธำรงคงอยู่
ปกป้องศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันตุลาการมิให้เสื่อมคลาย
หลักการนี้ยึดถือกันเป็นสากล
สําหรับบางอาชีพซึ่งถูกเรียกว่า “วิชาชีพ” นั้น “งาน” หรือบทบาทหน้าที่จะถูกผูกเอาไว้กับสิ่งที่เรียกกันว่า “จิตวิญญาณ”
“จิตวิญญาณ” ที่ว่านั้นไม่ใช่ความว่างเปล่าเลื่อนลอยเพ้อเจ้อเหนือจริง หากแต่เกิดจากการฝึกอบรมบ่มเพาะขัดเกลา “เป็นพิเศษ” เพื่อสร้างบุคลากรในวิชาชีพนั้นๆ เช่น วิชาชีพครู หมอ นักกฎหมาย ผู้พิพากษาตุลาการ อัยการ ตำรวจ วิศวกร สถาปนิก ตลอดจน “สื่อมวลชน” ซึ่งการประกอบอาชีพมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าการทำมาหากินทั่วไป
ผู้พิพากษาเคท คอร์เนล แห่งศาลแมนเชสเตอร์คราวน์ ประเทศอังกฤษ จึงได้กล่าวแก่ “รีเบคก้า จอยน์ส” อดีตครูสาวซึ่งถูกตัดสินจำคุก 6 ปีครึ่ง ฐานล่วงละเมิดทางเพศเด็กชาย 2 คนในโรงเรียนว่า
“การกระทำของคุณนั้นเต็มไปด้วยความน่ารังเกียจและน่าตกใจ คุณเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่ควรได้รับความไว้วางใจจากทางโรงเรียน เด็กๆ และผู้ปกครอง ให้ดูแลลูกชายของพวกเขา แทนที่คุณจะทำเช่นนั้น คุณกลับใช้ตำแหน่งที่ไว้วางใจนั้นโดยมิชอบ และแสวงหาผลประโยชน์จากบทบาทที่มีสิทธิพิเศษ เพื่อความพึงพอใจทางเพศของตัวเอง”
ใช่ว่ามีแต่ครูฝรั่ง เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีครูไทยล่อลวงเด็กไปล่วงละเมิดทางเพศ จะต่างกันก็แต่ “ครูฝรั่ง” ถูกศาลสั่งจำคุกไปแล้ว ส่วนครูไทยนั้นโรงเรียนยังคงให้ทำหน้าที่ “แม่พิมพ์ของชาติ”
แม้ทุกวิชาชีพจะตั้งใจปลูกฝังอบรมบ่มเพาะบุคลากรเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” เช่น ครู ต้องให้มี “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ตำรวจต้องมี “จิตวิญญาณผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” ผู้พิพากษาต้องมี “จิตวิญญาณตุลาการ” แต่ในทุกวิชาชีพย่อมจะมีบุคลากรที่ประพฤติเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน
สำหรับผู้พิพากษาตุลาการ คำสอนของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ กระจ่างชัดที่สุด
“…ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย…เพราะฉะนั้น พวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้เขานับถือต่อไป…”!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022