E-DUANG : สงคราม “ความเชื่อ” ต่อ “คสช.”

มีความเชื่อ 2 ความเชื่อที่ต้องการ “เวลา” ในการตรวจสอบและพิ สูจน์ทราบความเป็นจริง

1 เชื่อในความสำเร็จของ “คสช.”

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้นำสิ่งใหม่ๆ ปรากฏการณ์ใหม่ๆ ก่อร่างสร้างฐานความนิยมขึ้นอย่างกว้างขวางโอฬาร

1 เชื่อในสภาวะถดถอยลงเป็นลำดับของ “คสช.”

อาจเห็นว่าในห้วง 1-2 ปีแรกของ “คสช.” ได้รับการเห็นด้วยจากชาวบ้านอย่างคึกคัก แต่นับแต่ปีที่ 3 เป็นต้นมา คะแนนและ ความนิยมของ “คสช.”เริ่มถดถอย

เป็นไปตามบทสรุป พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า “กองหนุน” แทบไม่เหลืออยู่แล้ว

 

ฝ่ายที่เชื่อมั่นต่อความยิ่งใหญ่ยรรยงของ”คสช.”จึงมองเห็นชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้กระทั่งรายการ”ศุกร์ร่ายยาว”ก็เป็นความสำเร็จ

นั่นก็คือ มองเห็นด้านที่รุ่งโรจน์ในการยึดกุมเวลาของทุกสถานีโทรทัศน์และวิทยุในช่วง”ไพรม์ไทม์” เป็นการสร้างรากฐานทำให้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดตลาด

หากไม่เชื่อเช่นนี้มติของที่ประชุมสนช.คงไม่ออกมาอย่างท่วมท้นให้เลื่อน”โรดแมป”การเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน

จากพฤศจิกายน 2561 เป็นกุมภาพันธ์ 2562

ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะสถานะ “คสช.”แข็งแกร่งและมั่นคง ไม่มีใครสามารถโยกคลอนได้อย่างเด็ดขาด

ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะพรรคเพื่อไทย

แม้ความห่วงหา อาทร อันออกมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลา นนท์ ก็ไม่ส่งแรงสะเทือน

 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มองว่า การยืดเวลา”เลือกตั้ง”ออกไปนั่นแหละคือจุดอ่อน

สะท้อนให้เห็นว่า “หวาดกลัว”

หากผลงาน 3 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์จะกลัวต่อ “การเลือกตั้ง”ไปทำไม ควรที่จะเดินหน้าเข้าสู่โหมด”เลือกตั้ง”อย่างทระนงองอาจ

ความเชื่อ 2 ความเชื่อนี้กำลังปะทะ ขัดแย้ง และได้รับการวัดผลตรวจสอบอย่างเงียบๆโดยมีเวลาเป็น”ผู้พิพากษา”

“เวลา” นั่นแหละจะเป็น “คำตอบ”สุดท้าย