ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
รับรอง ส.ว.ก่อน
หรือ…สะสางความถูกต้องก่อน
การหาตัวแทนประชาชนฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปทำงานในรัฐสภา เป็นเกมการต่อสู้ทางการเมืองชนิดหนึ่ง
ในประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพ กฎกติกาที่ใช้คัดเลือกมักจะมีเสถียรภาพเช่นเดียวกับการเมือง จึงไม่ค่อยจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ในประเทศที่การเมืองอ่อนแอ มีอำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนกฎกติกา
หัวใจของเกมนี้คือ ฝ่ายใดเป็นผู้ร่างกฎ ฝ่ายนั้นได้เปรียบ การเปลี่ยนกฎกติกา จึงเป็นทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
เกมเปลี่ยนกฎนี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่วนใหญ่จะทำหลังจากมีการยึดครองอำนาจรัฐได้เกือบครบสมบูรณ์หรือยึดครองได้แล้วอย่างเด็ดขาด เช่นหลังรัฐประหาร
การเปลี่ยนกฎที่มีผลทางยุทธศาสตร์ และทางยุทธวิธี เพื่อชิงความได้เปรียบ ไม่เพียงแต่ทำเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีวิธีการที่ซับซ้อนเพื่อให้เกิดการยอมรับแม้ไม่ค่อยยุติธรรม
เช่น การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ แม้หลักการประชาธิปไตย ถือว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่พอจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กลับไม่ยอมให้ประชาชนเลือก (บางคนคิดว่า น่าจะสกัดก้าวไกล แต่ในปี 2561 ที่เกมนี้ถูกร่างขึ้นมา แม้แต่พรรคอนาคตใหม่ก็ยังเป็นวุ้นอยู่ เรื่องนี้คงเตรียมไว้สกัดเพื่อไทยมากกว่า)
ผู้เปลี่ยนกฎได้คิดเกมพิสดารที่เรียกว่า…เลือกกันเอง…เฉพาะผู้สมัครที่เสียเงิน 2,500 บาท ผลก็คือ เกิดการจัดตั้งและว่าจ้างคนกันเองมาสมัครและเลือกกันเอง บังคับให้ประชาชนอีก 65 ล้าน นั่งดูการแสดงเลือก ส.ว.
ที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 2557 แล้วแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ถือว่าเป็นการใช้อำนาจแล้วบีบบังคับ แต่การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ถือเป็นการฉ้อฉล หลอกลวง และทำต่อหน้า กกต.และผู้รักษากฎหมาย
การลงทุนทำงานใหญ่ขนาดนี้ มีจุดมุ่งหมายยึดวุฒิสภาแน่นอน
ปิดสวนเสือ แต่จะเปิดฟาร์มจระเข้
สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่หนีเสือปะจระเข้ แต่สวนเสือซึ่งมีเสือ 200 กว่าตัว เสียค่าใช้จ่ายมากมายต่อปี ถึงเวลาที่ต้องปิดลงตามสัญญา หลังได้ทำหน้าที่แสดงโชว์ตามที่เจ้าของสั่งเป็นเวลานานถึง 5 ปี ตอนนี้ก็มีคนคิดจะ เปิดเป็นฟาร์มจระเข้ คงมีรายการจัดแสดงโชว์อีกเช่นเดียวกัน ตามข่าวว่ามีจระเข้เป็นร้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ฝึกมาอย่างดี ถ้านำมาโชว์คงแสดงได้ไม่ประทับใจ
ในทางยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนกฎกติกาเลือก ส.ว. ได้ส่งผลต่อเนื่องยาวไกล มิใช่แค่เปลืองค่าใช้จ่าย แต่กระทบถึงระบบบริหาร การปกครอง และระบบยุติธรรม
สิ่งที่ต้องคิดก็คือ
ใครเป็นผู้วางแผนฮั้วเลือก ส.ว.?
ส.ว.มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้างในระบบยุติธรรมใหม่…
อำนาจสามฝ่าย ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร มีการคานอำนาจกันหรือไม่ สามารถรุกล้ำข้ามเขตอำนาจกันหรือไม่?
ศึกษาที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองและศาลต่างๆ ว่ามาจากไหน? ใครสรรหา?
องค์กรอิสระ มาจากไหน? ใครสรรหา?
การถอดถอนและการปลดรัฐบาล เป็นอำนาจของใคร?
มีอำนาจพิเศษที่อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชนหรือไม่
ถึงตรงนี้จะรู้ว่า อำนาจใครเหนือกว่า ในประเทศนี้
ถ้า ส.ว.สำคัญมาก ถึงตอนนี้จะทำให้ดีที่สุดอย่างไร จึงจะทำให้วุฒิสภาเป็นตัวแทนประชาชน และสร้างประโยชน์ให้ประชาชน
ตัดสินใจเดินเกมอย่างไรดีที่สุด
ส.ว.ใหม่ไม่มา… ส.ว.เก่าก็อยู่ต่อ
1. ทางเลือกตามขั้นตอน รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมีการประกาศรับรองสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน จึงจะเข้าทำงานแทนสมาชิกวุฒิสภาชุดเก่าซึ่งกำลังทำหน้าที่อยู่ ถ้าหากยังไม่มีการรับรองสมาชิกทั้ง 200 คน ชุดเก่าก็จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีกำหนด
ดังนั้น จึงมีคนหลายกลุ่มที่มีความเห็นว่าไม่ว่าจะมีปัญหาในการเลือก ส.ว.ล่าสุดอย่างไร ก็ควรให้ กกต.รับรองไปก่อน จากนั้นค่อยทำการสอบสวนแก้ปัญหาและดำเนินคดีตามข้อร้องเรียนต่างๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมายในภายหลัง เพื่อจะได้ให้ ส.ว.ชุดใหม่เข้าทำการแทนที่ชุดเก่า เพราะถึงอย่างไรชุดใหม่ก็ยังมีสัดส่วนความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง ในขณะที่ ส.ว.ชุดเก่ามาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร
2. ส่วนคนที่มีความเห็นคัดค้านก็มองว่า ส.ว.ชุดใหม่ขณะนี้จำนวนมากไม่ได้มาจากการเลือกที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นการจัดตั้งแบบใช้พวกมากลากเข้าไป จึงควรสอบสวนเพื่อความถูกต้อง ใครที่มาแบบไม่ถูกกฎหมาย ต้องสอยออกไป และตั้งคนที่ถูกต้องขึ้นมาแทนจึงค่อยประกาศรับรอง อาจต้องเสียเวลาไปบ้าง แต่ไม่มีใครรู้ว่าต้องนานเท่าใด
3. บางส่วนที่คัดค้านมองว่าการได้มาจึง ส.ว.ชุดใหม่นี้มีการกระทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ เป็นขบวนการ ดังนั้น จึงเกิดความไม่ยุติธรรม ไม่ชอบธรรมในการเลือก สมควรที่จะให้การเลือก ส.ว.ที่ผ่านมาถูกประกาศเป็นโมฆะและทำการเลือกใหม่
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนค้านว่ามีคนจำนวนมากไม่ได้ทำการทุจริตในการเลือก ส.ว. และเขาก็ได้รับเลือกเป็น ส.ว. แล้วการประกาศเป็นโมฆะเท่ากับทำให้คนที่เลือกมาอย่างบริสุทธิ์เสียสิทธิ์ไปด้วยไม่ควรทำ
4. มีผู้สมัครบางส่วนมีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความผิดของ กกต. ที่ปล่อยให้การเลือก ส.ว.มีช่องโหว่และมีการทุจริต ปล่อยให้คนที่มีการจัดตั้งเข้ามาครอบงำ โดยไม่สกัดตั้งแต่ต้น จึงคิดว่าจะต้องทำการฟ้องร้อง กกต.ที่ทำผิดพลาดด้วยในทุกระดับ
กลุ่มใดที่เสนอทางเลือกให้รับรองไปก่อน
1. กลุ่มผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ไปแล้วไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ที่มาจากการจัดตั้ง หรือ ส.ว.อิสระ หรือ ส.ว.ที่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง
2. พรรคการเมืองที่ต้องการให้ ส.ว.ชุดเก่าที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ออกไปเร็วที่สุด
3. กกต. เพราะ กกต.รู้ว่า ไม่ว่าจะเดินทางไหนก็ต้องถูกฟ้อง แต่ถ้าให้รับรองไปก่อนและดำเนินการสอย ปลด ส.ว.ที่ทำผิดออกไป ภาพลักษณ์ก็จะดีขึ้น บางส่วนที่ทำเองไม่ได้ก็สามารถส่งฟ้องศาลให้ศาลดำเนินการ
แต่ถ้าประกาศเป็นโมฆะ ปัญหาก็จะตามมาว่าโมฆะเพราะอะไร กกต.ทำผิดอะไรไปบ้าง และในความผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษอย่างไร
ประเมินจากสถานการณ์ที่เป็นจริง คาดว่า กกต.จะมีการสอย ส.ว.ที่มีความผิดชัดเจน เช่น คุณสมบัติไม่ตรงกลุ่มอาชีพ จำนวนไม่กี่คน แล้วเลื่อนตัวสำรองขึ้นแทน จึงประกาศรับรอง
จากนั้น กกต.ก็จะประกาศดำเนินการสอบสวนและปลด ส.ว.ที่ไม่ถูกต้อง ตามคำร้องต่ออีกจำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็จะส่งเรื่องที่ทำไม่ได้ไปให้ศาลพิจารณา
การต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพื่อความถูกต้องยุติธรรม
เพื่อความถูกต้องยุติธรรม การต่อสู้กันในทางกฎหมายก็จะเกิดขึ้นตามมาหลายคดี
ถ้าสามารถสอย ส.ว.ซึ่งมีที่มาไม่ถูกต้องออกไปได้มากเท่าไหร่ ตัวสำรองก็จะเลื่อนขึ้นมาแทนได้มากเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่แน่ว่า ตำแหน่ง ส.ว.ที่อยู่ในระดับสำรองเป็นของฝ่ายใดบ้าง
ส่วนกรณีที่จะใช้หลักฐานการจัดตั้งเพื่อกล่าวหาว่ามีฮั้วการเลือก จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่
เพราะถ้าทำได้ ส.ว.ที่จัดตั้งมาก็จะหลุดออกไปเป็นจำนวนมาก และทำให้ ส.ว.สำรองทั้งหมดขึ้นมาเป็นตัวจริง ในขณะที่พวกที่มีคะแนนต่ำลงไป น่าจะสามารถถูกผลักดันขึ้นมาเป็นตัวสำรองแทนได้ ซึ่งจะต้องให้ศาลตัดสิน
เรื่องนี้ไม่ใช่ทำให้การเลือก ส.ว.เป็นโมฆะ แต่ถ้าทำได้จะมีผลให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น สัดส่วนของ ส.ว.จากกลุ่มการเมืองต่างๆ และ ส.ว.อิสระ จะผสมปนเปกันไปตามธรรมชาติการเมืองไทย ทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์ ยกเว้นกลุ่มที่วางแผนจัดตั้งขนาดใหญ่
ความยากไม่ได้อยู่ที่การหาหลักฐาน แต่อยู่ที่ผู้ดูแลระบบยุติธรรม ว่าถ้ามีคนมาร้องให้สะสางเพื่อความถูกต้อง จะกล้าทำหรือไม่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022