มหาราช (Maharaj) : อำนาจมืดในศาสนา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มหาราช (Maharaj) ในภาษาฮินดี แปลว่าราชาผู้ยิ่งใหญ่ แต่ในบริบทของการใช้ควรจะแปลว่า “พระคุณเจ้า” หรือ “พระคุณท่าน” เพราะเป็นคำลำลองที่มักใช้เรียกนักบวชหรือคุรุ ไม่ว่าจะเป็นสันยาสีหรือฆราวาสด้วยความเคารพอย่างสูง

ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Maharaj เพิ่งจะเข้าฉายใน Netflix (เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์) แล้วถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะมีเนื้อหาวิพากษ์นักบวชและองค์กรทางศาสนาที่ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กับ “มหาราช” คนหนึ่ง

ที่จริงอินเดียมีหนังแนววิพากษ์ศาสนาออกมามากมายตั้งแต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกิดขึ้นใหม่ๆ ในประเทศนั้น เช่น หนังสองเรื่องของผู้กำกับการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล สัตยาจิต ราย (Satyajit Ray) คือเรื่องเทวี (Devi) ซึ่งตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนอุปโลกน์ให้กับมนุษย์ผู้อ่อนแอทางจิตใจ และเรื่อง Deliverance หรือ “สัทคติ” ที่ตั้งคำถามกับการปฏิบัติอันเลวร้ายจากระบบวรรณะ

ปัจจุบันอินเดียยังคงทำหนังศาสนาได้สนุก แต่ผมสังเกตว่าส่วนมากมักเป็นการวิพากษ์ “คุรุ” หรือองค์กรทางศาสนาที่มีอยู่ดกดื่นในเวลานี้ แฉถึงความหน้าไหว้หลังหลอกและอำนาจฉ้อฉลต่างๆ ทั้งยังมีหนังแนวชาตินิยมหรือที่นำเอาประวัติบุคคลสำคัญมาเล่าใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ

ผมได้ข่าวแว่วๆ มาว่า หนังเรื่องมหาราชที่เพิ่งฉายไปนั้น มีคนประท้วงบ้าง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติในอินเดียที่จะประท้วงหนัง) เพราะตัวเรื่องหลักไปพาดพิงถึงนิกายหนึ่งคือ “ปุษฏิมารคะ” หรือนิกายวัลลภะ ของวัลลภาจารย์ ซึ่งเป็นนิกายที่นับถือพระกฤษณะเป็นพระเจ้าสูงสุด จัดเป็นไวษณวะกลุ่มหนึ่ง แพร่หลายมากในกลุ่มคนอินเดียตะวันตกโดยเฉพาะกลุ่มที่พูดภาษาพรัช (Braj) มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสถานและนิยมมาถึงแคว้นคุชราต บ้านเกิดของมหาตมาคานธีและนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที

ที่จริงผมเคยเขียนถึงวัลลภาจารย์และนิกายของท่านไว้แล้วในชุดบทความนักบุญแห่งอินเดีย ในชื่อ “วัลลภาจารย์ : ผู้เผยหนทางแห่งความรุ่มรวยและฉ่ำหวาน” ลองค้นดูก็จะเจอครับ

บทความนี้ตั้งใจจะขยายความอะไรนิดๆ หน่อยๆ ที่ปรากฏในภาพยนตร์ โดยหมายใจไม่ทำให้ท่านเสียอรรถรสในการชมแต่อาจช่วยให้เข้าใจและชมด้วยความสนุกยิ่งขึ้น

แม้เหตุการณ์ในภาพยนตร์จะเกิดขึ้นในมุมไบ แต่ในเวลานั้นเต็มไปด้วยชุมชนของคนคุชราต ไม่ใช่คนมาราฐีพื้นถิ่น และมีศูนย์กลางทางศาสนาตามประเพณีของคือ “หะเวลี” (Haveli) ไม่ใช่เทวสถานหรือ มณเฑียร (Mandir) อย่างที่เรารู้จักกัน

หะเวลีเป็นคำแปรมาจากภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายถึงตึกที่มีห้องหับมากมายอย่างแมนชั่นหรืออพาร์ตเมนต์ นิยมมากในสมัยกลางของอินเดีย โดยเฉพาะพวกโมกุล นอกจากจะใช้เป็นที่พำนักซึ่งแสดงถึงเกียรติภูมิ ยังใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางศาสนาและเป็นที่สักการะด้วย ดังมหาตมะคานธีเองก็เล่าไว้ว่าท่านก็เข้าหะเวลีมาตั้งแต่จำความได้

ดังนั้น หะเวลีในเรื่องจึงเป็นทั้งที่สักการะเทวรูป “ศรีนาถ” ซึ่งเป็นรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ อันเป็นรูปเคารพสักการะพิเศษในนิกายนี้เพราะเชื่อกันว่าเมื่อท่านวัลลภาจารย์เดินทางไปยังภูเขาโควรรธนะได้นำรูปนี้กลับมายังราชสถาน และยังเป็นที่พักอาศัยของบรรดาผู้นำทางศาสนาหรือมหาราชต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน

ผมคงต้องเพิ่มเติมข้อมูลอีกนิดว่า นิกายของวัลลภาจารย์ไม่เน้นการออกบวช โดยเชื่อว่าการเข้าถึงพระเจ้าด้วยชีวิตแบบฆราวาสย่อมกระทำได้ดีกว่าพระ เพราะต้องเข้าถึงความรักและความหวานชื่นดื่มด่ำในลีลาของพระเจ้าสมดังนามปุษฏิมารคะ – หนทางแห่งความรุ่มรวยหรือเจริญงอกงาม สาวกนิกายนี้จึงประดับประดาเทวรูปด้วยดอกไม้นานาและอาภรณ์แพรไหมอันสวยงาม เต้นรำและขับร้องบทกวี ปรนนิบัติพระเป็นเจ้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

เหตุที่วัลลภาจารย์เน้นชีวิตแบบฆราวาสนี่เอง ผู้สืบทอดของนิกายนี้จึงเป็นคนในตระกูลของท่าน นับตั้งแต่บุตรชายคนรอง “วิฐฐลานาถ” หรือ คุไสน์มหาราช (Shri Gusainji) ผู้มีบุตรอีกเจ็ดคน อันเชื่อกันว่าเป็นภาคสำแดงของพระกฤษณะทั้งเจ็ดปาง และแตกแขนงตระกูล “วัลลภกุล” ออกไปอีกหลายสาย

ดังนั้น ตำแหน่ง “มหาราช” ในนิกายนี้ก็คือผู้สืบเชื้อสายของท่านวัลลภาจารย์นั่นเอง ต้องเข้าใจก่อนว่า ในอินเดียนั้น ผู้นำทางศาสนาอาจมาจากการเลือกโดยคุณสมบัติ แต่ก็มีที่สืบต่อโดยสายเลือด เช่น นิกายสวามีนารายัณ (บางกลุ่ม), นิกายปุษฏิมารคะ, นิกายคาณปัตยะ (ฝ่ายโมรยาโคสาวี) เป็นต้น

กรสันทาส มุลจี (ซ้าย)

ในภาพยนตร์ มหาราชเจ้าปัญหา มีตัวตนจริงคือ ชฑุนาถ พรัชรัตน มหาราช (Jadunathjee Brajratanjee Maharaj – JJ) ซึ่งพยายามจะฟ้องหมิ่นประมาทนักหนังสือพิมพ์และนักปฏิรูป กรสันทาส มุลจี (กรสันทาสหมายถึง ทาสแห่งพระกฤษณะ) ผู้เขียนบทความภาษาคุชราตีเรื่อง Hinduo No Asli Dharam Ane Atyar Na Pakhandi Mato แปลว่า “ศาสนธรรมแห่งฮินดูที่แท้ และนิกายในปัจจุบันอันเสแสร้งหลอกลวง” ในหนังสือพิมพ์ “สัตยประกาศ” ของเขา เพื่อเปิดโปงพฤติกรรมทางเพศกับสาวกสตรีของมหาราชโดยใช้ความเชื่อทางศาสนา ในปี ค.ศ.1862

ความเชื่อดังกล่าวเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติสำคัญในนิกายปุษฏิมารคะ คือการ “เสวา” ที่แปลว่าการปรนนิบัติรับใช้ (ในเรื่องเรียกว่า “จรณเสวา” หมายถึงการปรนนิบัติรับใช้เบื้องบาท)

โดยปกติแล้ว เสวาจะกระทำต่อเทวรูปพระศรีนาถหรือพระกฤษณะเป็นประจำวัน ไม่ว่าในบ้านหรือหะเวลี เช่น การถวายสิ่งที่สวยงาม ดอกไม้ อาหาร การขับร้องและเต้นรำ เพื่อให้ให้สาวกสามารถเข้าถึง “ลีลา” อันน่ามหัศจรรย์ของพระเจ้า เกิดภาวะแห่งความรัก (รส) อยู่ในใจ ดุจนางโคปีได้ร่วมเฝ้าแหนและร่วมรักกับพระเจ้า ซึ่งการจะเกิดภาวะเช่นนี้ได้จำต้องอาศัยการอุทิศทุ่มเทอย่างสูง

คำสอนของวัลลภาจารย์มีอยู่ว่า “พระกฤษณะเป็นที่พึ่งของเรา (ศฺรีกฺฤษฺณ ศรณํ มม)… เราขอสละร่างกาย ปราณ ชีวิต บริวาร ภรรยา ลูก เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติแก่พระองค์…”

จึงมีผู้ตีความว่า การเสวาคือการยอมมอบถวายทุกสิ่งทุกอย่างแก่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือภรรยาของตน โดยมีพวกมหาราชซึ่งเป็นประดุจพระเจ้าหรือมีภาคส่วนแห่งพระเจ้าเป็นผู้รับไว้

ดังนั้น ชฑุนาถจึงให้บรรดาสาวกสตรีมาจรณเสวาโดยให้ร่วมเพศกับตน ซึ่งครอบครัวของสตรีเหล่านั้นโดยมากก็ยินยอมด้วยความเต็มใจ

ทั้งนี้ หากกล่าวถึงตำนานพระกฤษณะซึ่งมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มากมาย จึงอาจถูกตีความไปได้ว่า การร่วมเพศถือเป็น “ลีลา” ที่จะทำให้เข้าถึงรสได้โดยตรง ดุจเดียวกับที่พระกฤษณะร่วมรสกับเหล่านางโคปี ในภาพยนตร์จึงมีผู้แสวงบุญมาขอ “ทัศนะ” หรือมองดูการเสวาของหญิงสาวต่อมหาราชด้วยน้ำตานองหน้า มิใช่ด้วยอารมณ์ใคร่ ซึ่งแปลกประหลาดมากสำหรับผู้ชมนอกวัฒนธรรมนั้น

ที่จริงเพื่อความเป็นธรรมกับนิกายของวัลลภาจารย์ ต้องบอกว่าการถวายตนเพื่อร่วมเพศกับเหล่ามหาราชนั้นมิใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้หรือเป็นข้อต้องปฏิบัติโดยจำเป็นในนิกาย แต่กรณีที่เกิดขึ้นเพราะเป็นคดีความขึ้นมา ทว่า แนวทางการถวายร่างกายแก่เทพ แก่นักบวชหรือพราหมณเป็นสิ่งที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ดังมีหลักฐานที่ปรากฏในปัทมปุราณะเรื่องธรรมของนางเวสิยาหรือโสเภณีว่า ให้ปรนนิบัติพราหมณ์ตามแต่ความปรารถนาของเขา หรือในมัสยะปุราณะว่าให้ปรนนิบัติด้วยกามกรีฑาเลยทีเดียว

ทั้งมีรายงานว่า บางประเพณีท้องถิ่นจะมอบเจ้าสาวในวรรณะต่ำให้พราหมณ์ “ชำระ” ให้บริสุทธิ์เสียก่อน แต่กรณีเช่นนี้ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและแทบไม่ปรากฏแล้ว

หลักฐานอีกอันหนึ่งต่อข้อวิจารณ์นิกายวัลลภะคือข้อเขียนของท่านสวามีทยานันทะ สรัสวตี ผู้ก่อตั้งอารยสมาชที่วิจารณ์นิกายนี้ไว้อย่างเผ็ดร้อน ท่านเรียกว่าพวกคุไสน์ (ในหนังสือแปลไทยเขียนว่า โคไสน์) หมายถึงนิกายของวิฐฐลานาถ บุตรวัลลภาจารย์ ว่า

“หากพระโคไสน์ถูกเชิญไปที่บ้าน นัยน์ตาจ้องดูผู้หญิงคนนั้น สามีของเธอและญาติคนอื่นๆ จะบังคับให้เธอไปหาพระรูปนั้น เพื่อบริการท่านรูปนั้น… สาวกบางคนรับใช้พระโคไสน์ถึงกับไปอาบน้ำให้เขา บางทีใช้ผู้หญิงถูตัวให้เขาและแล้วทั้งผู้ชายผู้หญิงให้บริการร่วมกัน… ความจริงก็คือพวกเขาได้สร้างกรรมอันน่ากลัวอย่างยิ่งและสร้างกรรมที่หนักมาก”

หลังจากปี 1862 ซึ่งกรสันทาสชนะคดีความ นิกายปุษฏิมารคะยังคงเผยแผ่ต่อไปและปรับตัว ผู้นำของนิกายได้เขียนหนังสือเรื่อง Doctrines of Pushtibhaktimarga : Allegations, Conspiracies and Facts (In context of Maharaj Libel Case) เพื่อชี้ให้เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการตีความคำสอนผิดเพี้ยนอย่างไร ในปัจจุบันมีผู้นับถือนิกายนี้ทั้งในและนอกอินเดียเป็นจำนวนพอสมควร

แนะนำให้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ จะได้รู้จักอินเดียยิ่งขึ้น •

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง