ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ใครหลายคนได้สันนิษฐานกันเอาไว้ ในหลากหลายทิศทางเลยนะครับว่า คำว่า “สยาม” นั้นแปลว่าอะไรแน่?
แต่ข้อคิดเห็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และยังน่าเชื่อถือที่สุดมาจาก ปราชญ์ทางภาษา โดยเฉพาะวิชานิรุกติศาสตร์ (กล่าวโดยสรุปคือ วิชาที่ว่าด้วยการศึกษารากของคำศัพท์ต่างๆ) คนสำคัญของไทยอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509) ผู้ล่วงลับ ซึ่งได้เคยเสนอเอาไว้ว่า คำว่า “สยาม” มาจากคำว่า “ซำ” หรือ “ซัม” แปลว่า “ตาน้ำ” ใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีตาน้ำ
และถ้าจะว่ากันตามความเห็นของจิตรแล้ว ก็จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวสยามโบราณ (ส่วนชาวสยามในสมัยโบราณจะเป็นคนกลุ่มไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง) นั้น จะเห็นว่า “ตาน้ำ” นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่เฮี้ยน ขลัง และศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเขา
โดยเฉพาะเมื่อ “น้ำ” เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่ใช้เพื่อการบริโภค สำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้
และยังเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ที่มนุษย์ต้องนำมาใช้สำหรับการอุปโภคต่างๆ อีกด้วยนั่นเอง
ศาสนาผีพื้นเมือง ของสุวรรณภูมิ จึงมีความเชื่อเรื่อง “ผี” หรือ “อารักษ์” ที่คอยปกปัก “ตาน้ำ” ในรูปแบบต่างๆ อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากตาน้ำต่างๆ ในพื้นที่แถบภาคอีสานของไทย แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมักจะมีเรื่องเล่าว่าเป็น “รูพญานาค” ที่เชื่อมต่อโลกมนุษย์ไปยังโลกบาดาล
(แน่นอนว่า ในความเชื่ออย่างนี้ พญานาค จึงทำหน้าที่เป็นเจ้าของรูที่ว่า คือตาน้ำอยู่กลายๆ ดังนั้น การเบียดเบียนหรือทำอันตรายใดๆ ต่อตาน้ำเหล่านี้ ย่อมต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พญานาคพึงใจแน่)
และยังพบ “เจ้าพ่อ” ต่างๆ เช่น เจ้าพ่อบ่อพันขัน อันเป็นตาน้ำ และบ่อเกลือสินเธาว์แหล่งสำคัญ ในพื้นที่แห้งแล้ง อย่างทุ่งกุลาร้องไห้ บริเวณที่อยู่ในเขต จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น อยู่อีกให้เพียบศาลสำหรับสักการบูชา
“ตาน้ำ” นั้นยังเป็น “ต้นกำเนิด” ของสายน้ำ และแหล่งน้ำ อันเป็นหลักประกันของชีวิต และความอุดมสมบูรณ์อีกต่างหาก
ดังนั้น จึงทำให้ตาน้ำกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “กำเนิดแห่งชีวิต และความอุดมสมบูรณ์” ไปในพร้อมกันนั้นด้วย
ในหลายๆ ครั้ง พื้นที่บริเวณที่เป็นตาน้ำ จึงถูกถือให้เป็นสถานที่กำเนิดของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่บางแห่งในทางน้ำ ที่ไหลทอดมาจากตาน้ำนั้น มีลักษณะคล้าย “อวัยวะเพศของผู้หญิง” ซึ่งเปรียบเสมือนประตูที่ส่งผ่านให้ให้ชีวิตได้กำเนิดขึ้นมา โดยมีตัวอย่างที่ชัดๆ เลยก็คือ พื้นที่บริเวณที่เรียกกันว่า “นาน้อยอ้อยหนู” ในเมืองแถง (ชื่อทางการในปัจจุบันเรียกว่า เมืองเดียนเบียนฟู) ในประเทศเวียดนาม
“นาน้อย” เป็นที่ราบแคบๆ มีร่องน้ำไหลผ่าน ในขณะที่ “อ้อยหนู” เป็นชื่อของพืชจำพวกหญ้าชนิดหนึ่ง มีปล้องคล้ายอ้อหรือแขม ขึ้นรกไปทั่วเหมือนวัชพืช (น่าเชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า “นาผืนน้อย” อันเป็นศัพท์สแลงที่หมายถึง “อวัยวะเพศของผู้หญิง”)
ส่วน “เมืองแถง” นั้นเป็นหลักแหล่งของพวก “ไทดำ” (หรือ ผู้ไท) ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูล ไต-ไท ที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง
ในตำนานการสร้างโลก-กำเนิดมนุษย์ ของพวกไทดำนั้น เล่าว่า มนุษย์นั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากน้ำเต้าปุง ที่งอกออกมาจากรูจมูกของซากควาย ที่เสียชีวิตลงไปแล้ว โดยพื้นที่ตั้งของซากศพควายดังกล่าวนั้นก็คือ บริเวณที่เรียกว่า “นาน้อยอ้อยหนู” นี้เอง
สายน้ำที่ไหลผ่านทางน้ำบริเวณ “นาน้อยอ้อยหนู” อันเป็นสถานที่กำเนิดของมนุษย์นี้ ย่อมไหลมาจาก “ตาน้ำ” ที่อยู่เหนือขึ้นไป ตาน้ำดังกล่าวจึงเป็นเหมือนต้นกำเนิดของมนุษย์ทั้งหลายนั่นแหละนะครับ
ความเชื่อในทำนองอย่างนี้ พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งโลก ถึงจะมีรายละเอียดของตำนานที่แตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะเชิงอุปมาที่ไม่ได้หนีไปจากกันนัก
ในโลกตะวันตกเองก็มีบ่อน้ำพุธรรมชาติ (ซึ่งก็คือ ตาน้ำ) อยู่หลายแห่ง ตัวอย่างเช่น บ่อน้ำพุของอเรธูซ่า (fountain of Arethusa) ซึ่งอยู่เขตเมืองซีราคูซ่า (Syrakusa) บนเกาะออร์ทีเกีย (Ortygia) อันเป็นเกาะเล็กๆ ที่เป็นบริวารของเกาะใหญ่ซิซิลี ประเทศอิตาลี
ทั้งชาวกรีกและโรมัน ต่างก็เชื่อว่า น้ำพุแห่งนี้เป็นของนางพราย (nymph คือ เทพีประจำสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นท้องทะเล, ป่าไม้ หรือนภากาศ ในกรณีคือบ่อน้ำพุ) ที่ชื่อ อเรธูซ่า (หรือ อเรทูซ่า [Aretusa] ตามสำเนียงกรีก) ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ปกปักรักษาเมืองซีราคูซ่ามาแต่โบราณ
โดยข้อมูลบางแห่ง เช่น ในนวนิยายชิ้นเอกของโลกตะวันตกอย่าง โมลบี้ ดิ๊ก (Molby Dick) ที่เขียนขึ้นโดย เฮอร์มัน เมลวิลล์ (Herman Melville) เมื่อ พ.ศ.2394 นั้นระบุว่า น้ำจากน้ำพุแห่งนี้มีที่มาจาก “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” เลยทีเดียว

คําว่า “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” ในที่นี้มีที่มาจากคำว่า “Holy Land” ซึ่งตามความหมายในคริสต์ศาสนานั้น หมายถึง ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้า (ซึ่งเชื่อกันว่าคือ กรุงเยรูซาเลม) ของที่มีที่มาดินแดนดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงมอบให้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นน้ำในน้ำพุแห่งนี้จึงถือเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ไปด้วย
ถึงแม้ว่า โมลบี้ ดิ๊ก จะเป็นนวนิยายเกี่ยวกับเรือล่าวาฬ แต่อเมริกันชนอย่างเมลวิลล์นั้น เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้เคยใช้ชีวิตอยู่บนเรือล่าวาฬ สลับกับเรือสินค้า ท่องไปในดินแดนต่างๆ ของโลก เป็นเวลา 5 ปี
ดังนั้น ถ้าเขาจะเคยได้ยินเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำพุอเรธูร่า แล้วนำมาเขียนเล่าไว้ในนั้น ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องแปลก
ส่วนในศาสนาชินโต ซึ่งก็คือศาสนาผีพื้นเมืองของวัฒนธรรมญี่ปุ่น (เพราะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีบรรพชน หรือเทพเจ้าผู้เป็นต้นวงศ์ของพระจักรพรรดิ) นั้น มีตาน้ำสำคัญอยู่บนภูเขาสำคัญลูกหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเกียวโต
และที่ตาน้ำแห่งนั้น ได้มีการสร้างศาลเจ้าที่มีชื่อว่า คิฟุเนะ จินจะ (Kifune Jinja) ขึ้นมา โดยถือว่าเป็นศาลที่ประทับของเทพเจ้าแห่งสายน้ำ ที่มีชื่อว่า ทาคาโอะคามิ (Takaokami, หลายครั้งก็เรียกว่า คุราโอะคามิ, Kuraokami) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสายน้ำทั้งมวล และน้ำทั้งหมดนั้นมีที่มาจากตาน้ำที่ศาลเจ้าแห่งนี้
แน่นอนว่า “น้ำ” จากศาลเจ้าจึง “ศักดิ์สิทธิ์” กว่าน้ำจากแหล่งน้ำปกติทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยน่าสังเกตด้วยว่า ตามปรัมปราคติของศาสนาชินโตนั้น ทาคาโอะคามิ มีรูปเป็นมังกร ผู้ควบคุมฝนฟ้าอากาศ และหิมะ ซึ่งก็ดูจะใกล้เคียงกับความเชื่อเรื่องพญานาคของอุษาคเนย์ อย่างน่าสนใจ
ในกรณีของอุษาคเนย์ เมื่อได้มีการยอมรับนับถือในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เมื่อราวหลัง พ.ศ.1000 ลงมาแล้ว ก็มีอยู่หลายกรณีเลยทีเดียวที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากชมพูทวีป ได้เข้ามาเทกโอเวอร์เอาความศักดิ์สิทธิ์ของ “ตาน้ำ” เหล่านี้ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาที่เข้ามาใหม่ของตนเอง
ตัวอย่างเช่น ตาน้ำโบราณ ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของศาสนาจากอินเดียแห่งหนึ่ง ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียนั้น ได้ถูกเทวสถานที่ชื่อ ตีรถะ เอ็มปุล (Tirta Empul) สร้างครอบทับเมื่อ พ.ศ.1503 แล้วสร้างตำนานของตาน้ำแห่งนี้ขึ้นเสียใหม่ว่า พระอินทร์เป็นผู้ขุดบ่อน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้งนี้ขึ้นมา
ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกของเกาะชวา ซึ่งมีการสร้าง “จันทิ” (ชนชาวชวาเรียกศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู และสิ่งปลูกสร้างประธานในนั้นว่า จันทิ คล้ายกันกับที่เขมรใช้คำว่า ปราสาท) หลายแห่งครอบทับตาน้ำ แล้วใช้เป็นสถานที่สรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยได้โอนถ่ายเจ้าที่เจ้าทางของตาน้ำนั้น จากผีในศาสนาผีดั้งเดิมของชวา มาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดูแทน เช่น จันทิโจโลทุนโด เป็นต้น
แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะ “ตาน้ำ” เท่านั้นนะครับ ที่จะถูกสร้างวัด หรือเทวสถานของศาสนาที่มาจากอินเดียครอบทับ พื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษบน “ทางน้ำ” ที่ไหลมาจากตาน้ำ ก็มีหลักฐานว่าถูกจับบวชเข้ารีตให้เป็นพราหมณ์เช่นกัน
ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ “กบาลเสปียน” บนเทือกเขาพนมกุเลน ในประเทศกัมพูชา
กบาลสเปียน (แปลตรงตัวว่า หัวสะพาน) นั้น เป็นที่รู้จักกันในฐานะธารน้ำที่มีศิวลึงค์พันองค์ (รวมถึงรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูองค์ต่างๆ) สลักอยู่ที่พื้นหินใต้ท้องน้ำ
แต่ลวดลายสลักเหล่านี้ไม่ได้สลักอยู่ตลอดทั้งตัวลำธารที่ยาวเหยียด เพราะมีสลักอยู่เป็นช่วงๆ ตามลำน้ำ
โดยท้องน้ำส่วนสำคัญที่สุด (และมีภาพสลักมากที่สุด) นั้นก็คือ พื้นที่บริเวณที่มีลักษณะทรวดทรงคล้าย “อวัยวะเพศหญิง”
และก็เป็นเฉพาะแค่เพียงท้องน้ำบริเวณนี้เท่านั้น ที่ถูกเรียกว่า “กบาลสเปียน”
ลักษณะอย่างนี้เป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ท้องน้ำบริเวณ “กบาลสเปียน” นั้น เป็นสถานที่พิเศษ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก่อนที่จะมีการสลักรูปศิวลึงค์ และเทพเจ้าพราหมณ์
ในทำนองเดียวกับ “นาน้อยอ้อยหนู” ของพวกไทดำ อีกด้วย
ในเขตพื้นที่ประเทศไทยเองก็มี “ตาน้ำ” อันเป็นสถานที่สำคัญในศาสนาผีพื้นเมือง ที่ถูกจับบวชนุ่งขาว หรือห่มเหลืองอย่างนี้เหมือนกันนะครับ
ดังจะเห็นตัวอย่างได้จาก สระแก้ว เมืองศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, บ่อบ้วนพระโอษฐ์ ที่พระแท่นดงรัง จ.กาญจนบุรี, สระสี่สระ (ประกอบด้วยสระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ) จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ
น้ำจาก “ตาน้ำ “เหล่านี้ และถือเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ถูกนำมาใช้ประกอบในพระราชพิธีต่างๆ อยู่เสมอ
ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารตั้งแต่ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย ก็เพราะมีคติดั้งเดิมมาตั้งแต่ในศาสนาผี ก่อนการเข้ามาของอินเดียแล้วว่า เป็นต้นกำเนิดของชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ ซ้ำยังมีผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษา
และสามารถให้คุณ ให้โทษ กับผู้คนได้นั่นเอง •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022