เกษียร เตชะพีระ : เผด็จการสมบูรณ์แบบของลุงสี

เกษียร เตชะพีระ

ตรงข้ามกับท่านนายกฯ ซึ่ง “…แนะ ครม. อ่านหนังสือ “การปกครองประเทศจีน” บอก สอดคล้องประเทศไทย” (12 เม.ย. 2559, https://www.matichon.co.th/news/103564) กระแสทรรศน์ในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์สากลดูจะชี้ไปอีกทาง

คือเห็นว่าถ้าจะเป็นแบบอย่างระบบปกครองที่เพิ่งสร้างของลุงสีจิ้นผิงนั้นก็เป็นแบบอย่างของระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ (the Perfect Dictatorship) ต่างหาก ที่นานาประเทศควรเจริญสติให้รอบคอบก่อนจะรับว่าสอดคล้องและเอาอย่างตาม

ว่าแต่ว่าจีนเป็นระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบตรงไหนอย่างไรหรือ?

การเทิดทูนสีจิ้นผิงในสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เมื่อเดือนตุลาคม ศกก่อน และการเสริมสร้างอำนาจให้เขาผ่านการจำหลัก “ความคิดสีจิ้นผิง” ลงไว้ในกฎบัตรพรรค ทำให้คิดไปได้ว่า “ยุคใหม่” ที่ประกาศถึงนั้นคงจะไม่หย่อนคลายบุคลิกลักษณะอำนาจนิยมของจีนลงไปแต่อย่างใด

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนเป็นระบบอำนาจนิยมแน่ ทว่าการคลี่คลายขยายตัวห้าปีหลังนี้ทำให้ต้องตั้งคำถามกันใหม่อีกครั้งต่อแนวคิดที่แพร่หลายมาช้านานเรื่อง “จีนหลังยุคอำนาจนิยม” ซึ่งเสนอว่าจีนกำลังควานหาตัวแบบทางการเมืองที่ปรับแต่งเข้ากับยุคสมัยของการผ่อนคลายความตึงเครียดและแข็งขืนเผชิญหน้าสลับกันไป ทั้งนี้เพราะเอาเข้าจริงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบสายฟ้าแลบของจีนได้ทำให้รัฐ-พรรค (party-state) เข้ายึดกุมเครื่องมือควบคุมทางการเมืองและสังคมอันไร้เทียมทานไว้ได้

ธาตุแท้ของอำนาจรัฐ-พรรคจีน รวมทั้งความสัมพันธ์ของมันกับผู้อยู่ใต้การปกครองและสังคมกลายเป็นปริศนาขึ้นมาใหม่อย่างที่มันไม่เคยเป็นมาช้านาน

หลักฐานดีที่สุดชิ้นหนึ่งคือวิวาทะหลายหลากมากมายในหมู่นักวิชาการด้านจีนศึกษาช่วงสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ซึ่งล้อมรอบผลงานของ สไตน์ รินเกน นักรัฐศาสตร์ชาวนอร์เวย์แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เรื่อง The Perfect Dictatorship : China in the 21st Century (Hong Kong University Press, 2016) (เผด็จการสมบูรณ์แบบ : จีนในคริสต์ศตวรรษที่ 21)

รินเกนไม่ใช่นักจีนศึกษา แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐ เขาใช้วิธีค้นคว้ากลั่นกรองสอดส่องนโยบายสาธารณะและทุกสิ่งทุกอย่างที่ส่งผลกระทบชีวิตของพลเมืองจีน ในสายตาของเขา จีนโดดเด่นเป็นจำเพาะตรงแบบวิถีการควบคุมพลเมืองของตนซึ่งพัฒนาไปจนสมบูรณ์แบบซึ่งได้ผลจริงแต่มักดำเนินการอย่างนุ่มนวลและโดยอ้อม แทนที่จะเป็นระบบเผด็จการธรรมดาหรืออัตตาธิปไตย ระบบปกครองจีนจึงกลับประณีตพิสดารกว่านั้นมาก อาจเรียกได้ว่าเป็น ระบอบควบคุมาธิปไตย (controlocracy)

หากจะว่าระบอบควบคุมาธิปไตยจีนไม่ได้พึ่งพาอาศัยการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ทั่วทุกแห่งหนแล้ว แต่กระนั้นภัยคุกคามของการก่อการร้ายโดยรัฐก็ยังสถิตอยู่ทุกหนแห่งเหมือนเงาตามตัว อันเป็นภัยคุกคามที่กลายเป็นฐานรองรับสนับสนุนการใช้ความรุนแรงทางกายภาพได้อย่างพอเพียง เพื่อที่ว่าพลเมืองทั้งหลายจะรู้ตัวว่าภัยคุกคามดังกล่าวหาได้เป็นเพียงลมปากเหลวเปล่าไม่

เผด็จการเบ็ดเสร็จในสีสันจีน

ถัดจากนั้น รินเกนหันความสนใจไปสู่ปัญหาระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ซึ่งเขานำมาประเมินโดยอาศัยแนวคิดที่อาจเก่าไปบ้างแต่ยังตรงเป้าเข้าประเด็นเสมอของ ฮันนาห์ อาเร็นดต์ (ค.ศ.1906-1975) นักรัฐศาสตร์และทฤษฎีการเมืองหญิงชาวเยอรมันผู้อพยพลี้ภัยเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีไปอยู่อเมริกา

เขาชี้ว่าระบอบควบคุมาธิปไตยที่สีจิ้นผิงค่อยๆ เสริมสร้างจนเข้มแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ นั้นถือเป็นการปรากฏตัวของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จชนิดใหม่ซึ่งส่งกลิ่นอายบรรยากาศที่เบ็ดเสร็จน้อยกว่าที่มันเป็นจริง

ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จในสีสันจีนที่ว่านี้หาใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จแบบเบาะๆ ไม่ สำหรับรินเกนแล้ว มันเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับภารกิจเผด็จอำนาจทั้งปวงพร้อมสรรพรอให้ใช้ ชั่วแต่ว่ามันจะไม่ถูกใช้เต็มพละกำลังจนกว่าจะจำเป็นเท่านั้น

พูดสั้นๆ ก็คือ มันเป็นระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ประณีตพิสดาร

รินเกนประเมินในแง่ลบอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับความสำเร็จของระบอบควบคุมาธิปไตยจีนในการจัดหาสินค้าและบริการมาให้พลเมืองของตนอย่างมีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนกับภาษีและทรัพยากรประดามีที่มันเรียกเก็บไปก่อน

เขาเห็นว่าภาษีที่ระบอบควบคุมาธิปไตยจีนเรียกเก็บจากพลเมืองของตนนั้นอุทิศคุณูปการน้อยมากให้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ การต่อสู้กับความยากจน การประกันสังคม และการสร้างประเทศให้ทันสมัยในสัดส่วนที่ระบบดังกล่าวพึงทำได้เมื่อดูจากสมรรถภาพของมัน ยังมิพักต้องพูดถึงงบประมาณที่สิ้นเปลืองไปกับการสร้างกำลังทหาร การธำรงรักษากลไกตำรวจและการพิชิตอวกาศ

ฉะนั้นเองระบอบควบคุมาธิปไตยของจีนจึงมิอาจเป็นอื่นไปได้นอกจากต้องเป็นเผด็จการถ่ายเดียว ความที่ระบบนั้นรวบริบเอาภาษีทรัพยากรจากพลเมืองของตนอย่างกระหายหื่นเกินการณ์ด้วยวิธีการดังที่ทำ และความที่ระบบนั้นเจียดปันสินค้าและบริการคืนมาให้แก่พลเมืองด้วยความเห็นแก่ได้ละโมบโลภมากของตัวเองอย่างที่ทำอยู่ ระบอบควบคุมาธิปไตยชนิดที่ว่านี้จึงมิอาจเป็นไปได้ถ้าหากมันต้องพึ่งพาความยินยอมของประชาชนในลักษณะการเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตย

การตั้งคำถามต่อระบบการปกครองของจีนดังกล่าวนี้เป็นฐานคิดของงานเขียนจำนวนหนึ่ง ชุดกฎหมายความมั่นคงใหม่หลายฉบับที่ออกมาเกี่ยวกับศาสนาเอย เอ็นจีโอเอย พื้นที่ไซเบอร์เอย และการต่อต้านการก่อการร้ายเอย ในช่วงการครองตำแหน่งวาระห้าปีแรกของสีจิ้นผิงนั้น เป็นตัวอย่างยืนยันการตีกรอบจำกัดประชาสังคมและเล่นงานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายอย่างชัดแจ้ง

อีกมิติหนึ่งของระบบอำนาจนิยมจีน

ในหนังสือ Routledge Handbook of the Chinese Communist Party (2017, คู่มือพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับสำนักพิมพ์เราต์เล็ดจ์) ซึ่งตีพิมพ์นอกประเทศจีนในโอกาสประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 19 อีวา พิลส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายได้ตีพิมพ์บทความชี้ว่าเธอเห็นสัญญาณการลงมือถอดรื้อข้อตั้งฐานคติทางปัญญาที่รองรับระบบสถาบันนิติธรรมจีนยุคหลังเหมาเจ๋อตงทั้งระบบ – ซึ่งได้แก่การค่อยๆ รับเอาหลักพื้นฐานทางกฎหมายของตะวันตกมาเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ตรงข้ามกับแนวโน้มเดิม บัดนี้เธอสังเกตเห็นการหันหลังกลับตาลปัตรไปสู่แนวคิดเรื่องกฎหมายที่พุ่งเป้าขจัดพลังเสรีนิยมทั้งมวล แล้วให้รัฐมีอิทธิพลมหาศาล ดังแสดงออกในการที่ระบบกฎหมายไม่ให้คุณค่าใดๆ แก่การปกป้องความหลากหลายทางทรรศนะ ทางผลประโยชน์ ทางกลุ่มชนและทางปัจเจกบุคคลในสังคมเลย

ในหนังสือเล่มเดียวกัน โคลเอ ฟรวสซาร์ต นักวิจัยหญิงประเมินว่าความพยายามของประธานสีที่จะเติมเต็มหลุมลึกซึ่งขวางกั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนจากสังคมจีน และความพยายามของเขาที่จะกำจัดกวาดล้าง “ศัตรูของประชาชน” อันกลายเป็นศัพท์เหมารวมสวมหมวกให้ใครก็แล้วแต่ที่ไม่เดินตามแนวทางของพรรคอย่างแนบชิดที่สุดนั้น ได้ส่งผลฟื้นฟูแนวโน้มเผด็จการเบ็ดเสร็จของระบบปกครองจีนขึ้นมา

เธอฟื้นความจำให้ฟังว่าคณะผู้นำพรรคชุดก่อนรู้จักที่จะอดกลั้นอดออมต่อประชาสังคมแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะต่อสู้และวิพากษ์วิจารณ์ตราบที่มันรับใช้เป้าหมายทั่วไปของพรรคด้วย ระดับความหลากหลายและกระทั่งพหุนิยมดังกล่าวนี้เสนอสนองพลวัตที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ให้แก่ระบบอำนาจนิยมจีน แต่มันก็แถมเอาความสมดุลที่ล่อแหลมระหว่างเสรีภาพกับการควบคุมมาด้วย

ทว่าในเมื่อบัดนี้สีจิ้นผิงกลับต้องการที่จะเข้าชี้นำทั้งหมด มันก็ได้สร้างสถานการณ์วิกฤตถาวรขึ้นมา ซึ่งต้นทุนของการบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าวอาจถูกพิสูจน์ว่าสูงยิ่งในที่สุด

ในประเด็นนี้เองที่อีกมิติหนึ่งของระบบอำนาจนิยมจีนแทรกตัวเข้ามา นั่นคือจังหวะก้าวนวัตกรรมและการลงทุนอย่างเร่งรัดใน Big Data และปัญญาประดิษฐ์ได้ทำให้เกิดการบรรจบเข้าด้วยกันของการควบคุม + การติดตามสอดส่อง + การให้คะแนนทางสังคม

ทางการจีนต้องการขยายระบบให้คะแนนความประพฤติ “พลเมืองดี” ที่ได้จากการประมวลฐานข้อมูลชีวิต ความคิดและพฤติกรรมทุกด้านทุกมิติทุกเวลาของแต่ละคนแบบเบ็ดเสร็จนี้ ไปครอบคลุมพลเมืองจีนถ้วนทุกคนภายในปี ค.ศ.2020 ชนิดที่ว่ากดปุ่มทีเดียว เครื่องจะบ้วนข้อมูลสถิติรายงาน ตัวเลข ภาพถ่าย บันทึกภาพจากกล้อง CCTV ฯลฯ ของเขาหรือเธอเท่าที่มีเก็บไว้ในทุกฐานข้อมูลออกมาจนหมดเกลี้ยง

และข้อที่น่าวิตกคือทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในระบบปกครองที่ไม่เห็นว่าการจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐลงมา – ไม่ให้ล่วงล้ำก้ำเกินความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลพลเมืองเกินไป – เป็นสิ่งเหมาะสมควรทำ

ลุงๆ ในบ้านเมืองเราจะเอาอย่างลุงสีกันจริงๆ หรือครับ?