นพมาส แววหงส์ : SULLY “ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำฮัดสัน”

นพมาส แววหงส์

ใครที่ติดตามข่าวเหตุการณ์รอบโลกบ้างพอสมควร คงจะได้ผ่านตาหรือรับรู้เหตุการณ์ที่สื่อมวลชนประโคมและเรียกว่า “ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำฮัดสัน”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) ในมหานครนิวยอร์ก เครื่องบินในประเทศ ยู.เอส. แอร์เวย์ส เที่ยวบินที่ 1549 ออกจากสนามบินลากวาเดีย โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา

ขณะล้อเพิ่งลอยพ้นพื้นพาเครื่องทะยานเหินฟ้าไปได้เพียงสามสิบวินาที ก็เกิดเหตุเหนือคาดขึ้น ฝูงห่านจากแคนาดาที่บินอพยพหนีหนาวลงใต้ ชนเข้ากับเครื่องอย่างจัง ห่านหลายตัวหลุดเข้าไปในเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์ดับทั้งสองเครื่อง และนักบินต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ ซึ่งหมายถึงชีวิตในความรับผิดชอบ 155 ชีวิต (นับรวมกัปตันกับนักบินผู้ช่วยด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ดูจากในหนังเหมือนไม่รวมเพราะกัปตันใจจดใจจ่อคอยนับผู้รอดชีวิตว่าครบ 155 หรือเปล่า)

และกัปตันเชสลีย์ ซัลเลนเบอร์เกอร์ ซึ่งเรียกขานกันว่า “ซัลลี” ตัดสินใจร่อนเครื่องบนแม่น้ำฮัดสันท่ามกลางความหนาวเย็นใกล้จุดเยือกแข็งของเดือนมกราคม

และแล้วก็สมดังคำที่สื่อมวลชนตั้งให้ ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งลำรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เนื่องจากถึงจะรอดจากแรงกระแทกกับพื้นน้ำมา แต่โอกาสรอดชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิเย็นขนาดนั้น ก็มีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน

ประชาชนในนิวยอร์กถือว่านี่เป็นข่าวใหญ่ และข่าวดีที่สุดของเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา

จำได้ว่าตอนนั้น ไมเคิล บลูมเบิร์ก เป็นนายกเทศมนตรีของนิวยอร์ก หนังมีเอ่ยถึงบลูมเบิร์กเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ปรากฏตัวในหนัง

ในทันทีทันใด ซัลลีกลายเป็นวีรบุรุษผู้ช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

แต่นี่คือเรื่องราวที่เกิดไม่นานหลังจากนั้น เมื่อ เอฟ.เอ.เอ. และคณะกรรมการความปลอดภัยของการขนส่งแห่งชาติ สอบสวนการตัดสินใจของนักบิน โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ ด้วยทางเลือกสี่ตัว คือ นำเครื่องกลับไปลงที่ลากวาเดีย หรือนำไปลงที่สนามบินใกล้ๆ คือ เจ.เอฟ.เค. นวร์ก หรือ เทเทอร์โบโร

สถานการณ์จำลองในการทดสอบทางเลือกล้วนสามารถนำเครื่องกลับไปลงที่สนามบินทั้งสี่ได้อย่างปลอดภัย

กัปตันซัลลีที่เป็นวีรบุรุษขวัญใจของคนนิวยอร์ก และคนทั้งประเทศ จึงต้องเจอกับเรื่องที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตการบินของเขา

หนังสร้างจากหนังสือเรื่อง Highest Duty ที่เขียนโดย เชสลีย์ ซัลเลนเบอร์เกอร์ กับ เจฟฟรีย์ ซัสโลว์

และเรื่องนี้ทำให้นึกถึง Flight ที่ เดนเซล วอชิงตัน เล่น กำกับฯ โดย โรเบิร์ต เซเมคคิส ซึ่งเล่าเหตุการณ์ที่กัปตันเครื่องบินโดยสารนำเครื่องลงด้วยเหตุเครื่องยนต์ขัดข้อง และช่วยชีวิตคนไว้ได้เกือบทั้งลำ แต่ก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวนในทำนองเดียวกันนี้ และแม้จะช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้อย่างมหัศจรรย์ แต่กัปตันก็ต้องยอมรับชะตากรรม เนื่องจากทำผิดวินัยอย่างรุนแรงด้วยความอ่อนแอส่วนตัว

Sully เป็นเรื่องจริงไม่ได้อิงนิยาย ซึ่งแตกต่างไปจากนั้นคนละทิศเลย และประเด็นที่นำเสนอก็แตกต่างออกไปคนละทางด้วย

ผู้กำกับฯ คลินต์ อีสต์วู้ด เลือกที่จะเปิดด้วยฉากวิกฤตของเครื่องที่ตัดสินใจร่อนลงบนพื้นน้ำของแม่น้ำฮัดสัน และฝันร้ายของซัลลีที่ขับเครื่องบินพุ่งชนตึกสูงในเส้นขอบฟ้าของนิวยอร์ก อันชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ของวันที่ 11 กันยายนที่ตึกเวิลด์เทรด

แม้จะได้รับความชื่นชมจากผู้คนทุกหนทุกแห่งที่พบ และได้รับเชิญไปออกรายการทีวีมากมาย แต่ก็เหมือนกับซัลลีถูกบางสิ่งหลอกหลอนอยู่ในใจ และไม่อยากเจอหน้าสื่อมวลชนโดยไม่จำเป็นเลย

ในขณะที่เขาภูมิใจในความเป็นนักบินฝีมือเยี่ยมตลอดเวลาสี่สิบปีที่รับส่งผู้โดยสารหลายหมื่นคนถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย เขาก็รำพึงว่าเวลาหลายหมื่นชั่วโมงในอากาศนั้นกลายเป็นสิ่งไม่มีความหมายเลย

เขาจะต้องถูกตัดสินด้วยเวลาเพียง 208 วินาที (ไม่ถึงสามนาทีครึ่ง) ของเหตุวิกฤตนับแต่โดนฝูงห่านชนจนถึงการร่อนลงบนผิวน้ำ

 

ทอม แฮงส์ เล่นบทวีรบุรุษที่ไม่ใช่พระเอกบู๊ แต่สร้างแคแร็กเตอร์ที่เราเห็นใจและเข้าข้างได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อบวกเข้ากับฝีมือกำกับฯ ของ คลินต์ อีสต์วู้ด ซึ่งไม่เคยทำหนังไม่ดีมาหลายสิบปีแล้ว และกลายเป็นปูชนียบุคคลในวงการบันเทิงคนหนึ่งไปแล้ว ทำให้หนังเรื่องนี้น่าดูอย่างเหลือเกิน

แต่ต้องไม่คาดหวังว่าจะเป็นหนังเปรี้ยงปร้างตูมตามนะคะ เนื่องจากเหตุการณ์บนท้องฟ้านั้นเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที แล้วเราก็รู้แล้วด้วยว่า เหตุการณ์ลงเอยด้วยดีเกินคาด ถึงขั้นที่ใครๆ เรียกกันว่าเป็นปาฏิหาริย์

แฮงส์เล่นบทคนที่เจอกับสถานการณ์คับขันในชีวิตจริงมาหลายเรื่องแล้ว และโดยเฉพาะ Captain Philip ที่เขาเป็นกัปตันเรือสินค้าที่ถูกโจรสลัดปล้น และจับเป็นตัวประกันอยู่หลายวัน จะว่าไปเหตุการณ์ในเรื่องนั้นก็เกิดในปีเดียวกับเหตุการณ์ในเรื่องนี้ (Sully)

ข้อใหญ่ใจความที่หนังบอกแก่เรา ซึ่งปรากฏให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่า และสรุปไว้ในคำของซัลลีในตอนท้าย เมื่อเขาได้รับคำชมว่าเขาทำหน้าที่ได้ดีที่สุด ซัลลีบอกว่าไม่ใช่เขาคนเดียวหรอกที่สร้างปาฏิหาริย์ครั้งนี้ ทุกคนช่วยกันสร้างปาฏิหาริย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ลูกเรือ หน่วยกู้ภัย ฯลฯ

ถ้าทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว เรื่องนี้ก็จะไม่ได้เป็นปาฏิหาริย์อย่างที่เป็นอยู่นี้

ตอนดูการกู้ภัยอยู่ ผู้เขียนยังรู้สึกเลยว่านิวยอร์กเขาฝึกคนของเขาดีเหลือเกิน ไม่มีใครเกี่ยงงานกัน และทุกคนแคร์กับงานที่ตนทำอยู่ และให้ใจเกินร้อยกับงานของตน การช่วยเหลือและกู้ภัยต่างๆ ทำได้น่าประทับใจเหลือเกิน

ประเด็นที่แหลมคมอีกประเด็นที่ใช้ต่อสู้กันในเรื่องคือ ความสามารถระหว่างคอมพิวเตอร์กับมนุษย์ เราถือกันว่าคอมพิวเตอร์นั้นไร้อารมณ์และถูกต้องแม่นยำ ในการทดสอบกี่ครั้งๆ ผลก็ปรากฏว่าซัลลีตัดสินใจผิดที่ไม่นำเครื่องไปลงสนามบินใกล้ๆ นั้น แทนที่จะร่อนลงบนแม่น้ำซึ่งเสี่ยงอันตรายมากกว่า และสร้างความเสียหาย (ให้แก่สายการบิน) มากกว่า

แต่คอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากในสถานการณ์จริงนั้น มีปัจจัยของมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง

 

หนังจบลงด้วยประโยคเด็ดของนักบินผู้ช่วย เจฟฟ์ สกายส์ (แอรอน เอ็กฮาร์ต) ซึ่งยืนยันการตัดสินใจที่เฉียบคมของกัปตันมาตลอด เขาถูกถามว่า “ถ้าย้อนกลับไปได้ เขาอยากทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิมหรือไม่” เขาคิดอยู่พัก แล้วตอบว่า “อยากให้เหตุการณ์เกิดในเดือนกรกฎาคม”

ทุกคนได้หัวเราะกับคำตอบนี้ และได้ความกระจ่างแจ้งในระเบียบปฏิบัติการของนักบินทั้งหมด

เหตุเกิดในเดือนมกราคมซึ่งน้ำเย็นเฉียบใกล้จะเป็นน้ำแข็ง เพราะงั้นถ้ามันเกิดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อน ก็น่าจะดีกว่าเยอะเลย

 

SULLY

กำกับการแสดง
Clint Eastwood

นำแสดง
Tom Hanks
Aaron Eckhart
Laura Linney