ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้เห็นภาพที่ขัดหูขัดตาบอกให้รู้ว่ากระบวนการเรียนการสอนให้เยาวชนตระหนักรู้รักใส่ใจสิ่งแวดล้อมยังเข้าไปไม่ถึงสถานศึกษาแห่งนี้ และเชื่อว่ายังมีโรงเรียนอีกมากมายทั่วประเทศมีสภาพเป็นเช่นนี้
จึงขอทำนายอนาคตว่าในระยะ 10-20 ปีนับจากนี้ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีขยะเกลื่อนเมือง โอกาสจะได้รับการชื่นชมจากนานาชาติว่าไทยเป็นประเทศสะอาดเหมือนเช่นญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้น้อยมาก
โรงเรียนที่ได้เข้าไปสัมผัสในวันนั้นเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ มีนักเรียนชายหญิงรวมกันกว่า 2,000 คน ส่องเข้าไปดูเว็บไซต์ของโรงเรียน มีคำประกาศว่าเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล
ดูจากสภาพโรงเรียนมีความรู้สึกย้อนแย้งจนทำให้เกิดความสงสัยในคำนิยามโรงเรียนมาตรฐานสากลที่ว่านั้น หมายถึงอะไร?
หมายถึงโรงเรียนที่มีเด็กนักเรียนเรียนเก่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้เยอะ หรือเด็กๆ ไปสร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลในระดับนานาชาติ เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?
ถ้ามีความหมายเพียงแค่ 2 อย่าง ยังไม่อยากจะเชื่อว่าเด็กเก่งๆ ทั้งหลายที่ผ่านการเรียนการสอนจากโรงเรียนแห่งนี้ช่วยสร้างความเจริญ คุณประโยชน์ให้ประเทศได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
การเรียนเก่งแต่เห็นแก่ตัว ไม่ทำคุณประโยชน์ให้สังคมโดยรวม ได้ฉุดรั้งประเทศเข้ารกเข้าพงเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างในอดีตเห็นกันเยอะแล้ว
ประเทศที่พัฒนาแล้วกลายเป็นสังคมคุณภาพ คนส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่เก่งเท่านั้น แต่มีจิตสำนึกสาธารณะพร้อมเสียสละสุขส่วนตัวทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนชุมชนท้องถิ่นและประเทศในทุกๆ ด้าน
ย้อนกลับมาที่โรงเรียนดังกล่าวมีหอประชุมใหญ่ จุนักเรียนได้เป็นร้อยคน มีเวทีมาตรฐานอุปกรณ์มัลติมีเดียครบครัน ข้างๆ เป็นโรงอาหาร และห้องสุขา
อาจเป็นเพราะคืนก่อนวันที่ไปถึงฝนตกค่อนข้างแรง สนามหญ้าข้างหอประชุมโรงเรียนยังแฉะมีน้ำขัง แต่ที่เห็นบนพื้นแฉะๆ เป็นเศษขยะ ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก ทิ้งเกลื่อน ทั้งๆ ที่เยื้องๆ กับหอประชุมมีถังขยะแยกประเภท 3 ถังใหญ่วางเรียงกัน
บริเวณหอประชุมมีการจัดเวทีเสวนา นักเรียนได้รับการเกณฑ์ให้เข้าฟังจนเกือบเต็ม อากาศค่อนข้างร้อน แม้จะมีเครื่องปรับอากาศติดตั้งอยู่ ได้ยินเสียงบ่นจากคนข้างๆ ว่า แอร์เสียหลายเครื่อง ต้องยกพัดลมใหญ่หลายตัวมาตั้งช่วยลดอุณหภูมิ
นักเรียนอาจจะทนอากาศร้อนไม่ไหว พากันเดินเข้าเดินออกจากหอประชุมเป็นระยะๆ แต่สังเกตว่าไม่มีใครใส่ใจประตูที่เปิดอ้า ทั้งที่ควรมีสำนึกว่าเมื่อเปิดประตูจะต้องปิดเพื่อประหยัดกระแสไฟฟ้าและควบคุมอุณหภูมิภายในหอ อีกทั้งยังพูดคุยหยอกล้อขาดระเบียบวินัยในระหว่างการฟังเสวนา
ออกจากห้องประชุม เดินไปห้องสุขาซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมาก ผนังกั้นห้องผุ ถังใส่น้ำโถส้วมและอ่างล้างมือเปื้อนไปด้วยคราบสกปรก
“นี่หรือโรงเรียนที่มีมาตรฐานสากล?” เป็นคำถามซ้ำในหยักสมอง
แน่นอนว่าเมื่อเยาวชนเหล่านี้พ้นจากรั้วโรงเรียน ก็จะไม่รู้สึกกระดากใจกับการทิ้งขยะเรี่ยราดในที่สาธารณะ ไม่สนใจกับการประหยัดพลังงานและการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวให้สะอาด เมินเฉยต่อกฎกติกา พร้อมจะแหกกฎได้ทุกเมื่อ
จึงไม่น่าประหลาดใจที่เมืองไทยมีขยะเกลื่อนทั้งบนดิน ดอยสูง แม่น้ำลำคลองและในทะเล ผู้คนขับรถสวนทาง ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ฝ่าไฟจราจร หรือแม้กระทั่งรวมตัวสนับสนุนเผด็จการทหารโค่นล้มประชาธิปไตยก็ทำมาแล้ว เพราะประเทศไทยไม่เคยวางระบบการอบรมเลี้ยงดูในเรื่องการมีจิตสำนึกสาธารณะมาตั้งแต่เด็ก
สถิติเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นเฉลี่ย 26.95 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 73,840 ตัน/วัน เฉลี่ยคนละ 1.12 กิโลกรัม/วัน กรุงเทพมหานครมีขยะมากสุดวันละ 12,748 ตัน/วัน เมื่อเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5
ปริมาณขยะเพิ่ม แต่จำนวนขยะที่นำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่หรือรีไซเคิลมีแค่ 9.31 ล้านตัน แสดงว่า การรณรงค์ลดปริมาณขยะ รณรงค์รีไซเคิลขยะยังด้อยประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีขยะล้นเมืองจึงเป็นความจริงที่ยากปฏิเสธ
ดังนั้น รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนกระบวนการลดขยะ แก้ขยะล้นเมืองและรีไซเคิลขยะ ทำอย่างไรให้คนรุ่นนี้มีจิตสำนึกสาธารณะ หยุดทิ้งขยะเรี่ยราด คนรุ่นใหม่เคารพกติกา
ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างจิตสำนึกสาธารณะให้คนทั้งประเทศตั้งแต่เด็กอนุบาลจนกระทั่งเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ยังรณรงค์ปลุกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคม
ใครที่เคยไปญี่ปุ่นจะสัมผัสได้เลยว่า พื้นที่สาธารณะมีความสะอาดแค่ไหน ไม่ใช่แค่ในเมือง แต่ในชนบท สวนสาธารณะหรือแหล่งท่องเที่ยว ก็สะอาดเช่นเดียวกัน
ในบทความชื่อ “What Japan can teach us about cleanliness” ของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งเขียนโดย สตีฟ จอห์น พาวเวลล์ และ เองเจเลส มาริน คาเบลโล บอกเล่าการสร้างจิตสำนึกของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี แม้เป็นบทความที่เขียนมาราว 5 ปี แต่ยังน่าสนใจ ขออนุญาตคัดเรียงบทความนี้มาเผยแพร่ต่อ
…ทุกๆ เย็น ก่อนเด็กนักเรียนกลับบ้าน ครูจะจัดแถวเรียงหนึ่ง ในห้องเรียนนี้มีทั้งหมด 5 แถว จากนั้นครูประกาศตารางสอนของวันพรุ่งนี้ และในประโยคสุดท้ายที่ครูพูด
“ต่อไปนี้เป็นบัญชีรายชื่อผู้ทำความสะอาด แถวหนึ่งและแถวสอง ให้ทำความสะอาดห้องเรียน แถวสามและสี่ เช็ดถูบันได ทางเดิน แถวห้าแถวสุดท้ายทำความสะอาดห้องน้ำ”
จากนั้นเด็กทุกคนหยิบไม้ถูพื้น ผ้าเช็ดพื้น ไม้กวาดและถังน้ำจากตู้เก็บของด้านหลังห้องเรียน
ผู้เขียนบทความบอกว่า ฉากคล้ายๆ กันนี้กำลังเกิดขึ้นกับโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่น
“ไมโกะ อาวาเนะ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานจังหวัดฮิโรชิมาบอกกับผู้เขียนว่า
“ช่วง 12 ปีของชีวิตในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมปลาย เวลาทําความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของตารางนักเรียน เมื่อเด็กใช้ชีวิตที่บ้าน พ่อแม่สอนว่าเป็นเรื่องไม่ดีถ้าไม่เก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบและไม่รักษาความสะอาด”
ผู้เขียนบอกว่า การอบรมสั่งสอนทั้งในโรงเรียนและที่บ้าน เป็นองค์ประกอบของจิตสำนึกสาธารณะ ช่วยให้เด็กตระหนักรู้และภาคภูมิใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว
“ใครเล่าอยากเห็นบ้านหรือโรงเรียนสกปรกรกรุงรังที่พวกเขาเหล่านั้นลงมือทำความสะอาดด้วยตัวเอง?”
เด็กญี่ปุ่นทุกคน เมื่อไปถึงห้องเรียนจะถอดรองเท้าแล้วเก็บไว้ในล็อกเกอร์เปลี่ยนเป็นรองเท้ากีฬา กลับบ้านก็จะถอดรองเท้าเก็บอย่างเป็นระเบียบ
เมื่อเด็กโตขึ้น การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นปกติเช่นนี้ ได้ขยายออกไปนอกห้องเรียน นอกบ้าน ไปถึงออฟฟิศ ชุมชนเมืองและก่อหลอมรวมเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ
การรักษาความสะอาดกลายเป็นไวรัล แผ่ขยายเป็นวงกว้าง อย่างเช่น รถชินคันเซนความเร็วสูงจะมีปฏิบัติการที่เรียกว่า “7 นาทีมหัศจรรย์”
สถานีกรุงโตเกียวเป็นชุมทางของรถชินคันเซน แต่ละวันมีรถไฟจอด 323 ขบวน มีผู้โดยสารใช้บริการ 4 แสนคนต่อวัน ทุกๆ ขบวนจะจอดแล้วให้พนักงานต้อนรับขึ้นไปเช็ดถู ตรวจเก็บขยะและสิ่งของที่ผู้โดยสารทิ้งไว้
รถไฟชินคันเซนแต่ละขบวนให้เวลาทีมทำความสะอาดเพียง 7นาทีเท่านั้น
พนักงานแต่ละคนจะมีถุงขยะพลาสติกเตรียมไว้พร้อม เมื่อรถไฟจอดเทียบชานชาลา ทุกคนกรูขึ้นไปปฏิบัติการในทุกโบกี้ แต่ละคนจะต้องทำหน้าที่เก็บขยะ เช็ดถูกระจก ปรับเบาะ กวาดพื้น
พนักงาน 1 คนทำความสะอาดราวๆ 100 ที่นั่งต่อครั้ง เมื่อทำความสะอาดครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จะเข้าแถวหน้าชานชาลาพร้อมกับโค้งคำนับเพื่อต้อนรับผู้โดยสารขึ้นไปใช้บริการ
ภาพงานบริการและการดูแลรักษาความสะอาดของพนักงานรถไฟชินคันเซนที่แพร่กระจายไปทั่วโลก
ไม่เพียงแต่พนักงานชินคันเซนที่โลกประทับใจ แต่ชาวญี่ปุ่นไปดูฟุตบอลโลกที่บราซิลและรัสเซีย พากันถือถุงขยะเก็บขวด เศษขยะที่แฟนบอลโยนทิ้งในสนามหลังการแข่งขันเสร็จสิ้น ก็เป็นภาพที่ยังอยู่ในใจผู้คนทั่วโลก
งานเทศกาลดนตรีฟูจิ ร็อก เป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น แฟนเพลงที่เป็นขี้ยา จะพกกล่องใส่ก้นบุหรี่และเก็บขยะไว้กับตัวจนกว่าจะพบถังขยะ
ถังขยะในญี่ปุ่นหายากมากเพราะทุกคนต่างเก็บขยะไว้กับตัวเอาไปทิ้งที่บ้าน ไม่ทิ้งเรี่ยราด
พนักงานออฟฟิศและร้านค้า จะช่วยกันทำความสะอาดรอบๆ สถานที่ทำงานในทุกๆ เช้าก่อนเปิดร้านและเข้าทำงาน เด็กๆ อาสาทำความสะอาดชุมชนเป็นรายเดือน เก็บขยะบริเวณใกล้โรงเรียน และจัดกิจกรรมความสะอาดเป็นประจำ
ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ตั้งข้อสังเกต คนญี่ปุ่นรักความสะอาดและระเบียบวินัยมาตั้งแต่โบราณกาล ด้วยความเชื่อว่าสุขอนามัยที่ดีหมายถึงสุขภาพที่ดี
ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธที่ญี่ปุ่นรับมาระหว่างศตวรรษที่ 6-8 และพุทธศาสนานิกายเซน ถือว่ากิจกรรมทำความสะอาดและการทำอาหารประจำวันถือเป็นการฝึกสมาธิ
ในศาสนาชินโต เป็นศาสนาพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่นับถือเทพเจ้า ชาวญี่ปุ่นนับถือมาก่อนพุทธศาสนาแผ่เข้ามา รังเกียจความสกปรก หรือ Kegare
แนวคิดของชินโต ถือว่า ความสกปรกเป็นความไม่บริสุทธิ์ นำไปสู่ความตาย โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
การทำให้ตัวเราบริสุทธิ์ ฝึกจิตให้นิ่ง ว่าง สงบ สะอาดทั้งใจ กาย จะช่วยให้สังคมพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง
นั่นทั้งหมดเป็นหัวใจสำคัญทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศสะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำไมเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธเช่นกัน จึงมีขยะเกลื่อนเมืองตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น? •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022