ธุรกิจพอดีคำ : “โตโยต้า กับ แฟชั่น”

ถ้าเรานึกถึงบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นบริษัทหนึ่ง

ทุกท่านนึกถึงบริษัทอะไรครับ

บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

เดาไม่ยากใช่มั้ยครับ

บริษัท “โตโยต้า” นั่นเอง

เจ้าของคือต้นตระกูล “โตโยดะ” เริ่มตั้งบริษัทปี 1929

เริ่มต้นจากทำ “ธุรกิจทอผ้า”

โด่งดังในเรื่อง “การสร้างรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ราคาเหมาะสม”

ผลิตเท่าที่จำเป็น เท่าที่ตลาดต้องการ ไม่มีการเก็บชิ้นส่วนต่างๆ ไว้มากจนเกินไป

ทำให้ “เงินไม่จม” ต้นทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

หรือที่ในวงการเรียกกันว่า “Lean Manufacturing”

และกระบวนการนี้แหละ ที่ทำให้ “โตโยต้า” เอาชนะคู่แข่งอื่นๆ ได้

ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์คันแรกสัญชาติอเมริกันอย่างบริษัท “ฟอร์ด มอเตอร์”

แน่นอนว่า ธุรกิจรถยนต์ปัจจุบันก็เรียนรู้วิธีการผลิตรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพจาก “โตโยต้า”

จนปัจจุบันกลายเป็น “มาตรฐาน” อุตสาหกรรมรถยนต์ไปเสียแล้ว

ย้อนกลับไปห้าสิบกว่าปีก่อน ณ เมืองเล็กๆ ประเทศสเปน

ชายหนุ่มคนหนึ่งทำงานในโรงงานทอผ้า

เขาทำงานนี้มาแล้วหลายปี แล้วก็รู้สึก “หงุดหงิด” กับอุตสาหกรรมนี้

เขาพบว่า กำไรส่วนใหญ่นั้นตกไปอยู่กับห้องเสื้อที่ทำการตลาดเก่งๆ แบรนด์ดังชั้นนำต่างๆ ที่มี “นักออกแบบ” ชื่อดัง

คนเหล่านี้พยายามจะบอกคนทั้งโลกว่า พวกเขาควรจะใส่อะไรในฤดูกาลถัดไป

ใส่อะไรแล้วดูดี ใส่อะไรแล้วจะทำให้คุณดูเป็นคน “ทันสมัย”

ส่งผลให้เสื้อผ้าที่ดูดีๆ นั้น มีราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็นมาก

ยิ่งเมื่อมาเทียบกับต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าอย่างเดียว เช่น ค่าวัสดุ ค่าแรงงาน

“เสื้อผ้า” ดีๆ ไม่ควรจะต้องราคาแพง ตามที่ “นักออกแบบดังๆ” อยากจะให้เป็น

ชายหนุ่มศึกษาอุตสาหกรรมอยู่นานหลายปี จึงตัดสินใจ “ลาออก” มาเปิดบริษัทของตัวเอง

ด้วย “วิสัยทัศน์” ที่ยิ่งใหญ่ในการ “ปฏิวัติ” วงการ “แฟชั่น”

เขาตั้งชื่อบริษัทว่า “อินดิเท็กซ์ (Indetex)”

เริ่มต้นด้วยการศึกษาเทคนิคต่างๆ ในการผลิตเสื้อผ้าในราคาที่ถูกลงไปอีก

เขาพบว่า ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้านั้น มี “ช่องว่าง” ให้ปรับปรุงมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น การสั่งวัสดุในการผลิตที่น้อยไปบ้าง มากไปบ้าง

การบริการ ให้เกียรติกัน ระหว่างผู้ผลิตเสื้อผ้า คู่ค้าวัสดุต่างๆ

เช่น การตรงต่อเวลา การส่งมอบงานที่มีคุณภาพ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ชายหนุ่ม” ให้ความสำคัญ

ทำให้โรงงานของเขามีห้องเสื้อจากแบรนด์ต่างๆ มากมายมาใช้บริการ

เมื่อ “ต้นทุนต่ำ” ก็ทำให้กำไรของห้องเสื้อแบรนด์ต่างๆ ดีขึ้น

ธุรกิจการผลิตเสื้อผ้าของเขาเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี

บริษัทเริ่มลืมตาอ้าปากได้บ้าง

ชายหนุ่มยังไม่ลืมความฝันที่จะ “ปฏิวัติ” วงการแฟชั่น

ก้าวต่อไปที่มีความสำคัญคือ การมีห้องเสื้อ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง

เขาตัดสินใจเปิดร้านเสื้อ “เล็กๆ” ของเขาที่หัวเมืองเล็กๆ ในประเทศสเปน

แนวคิดไม่มีอะไรซับซ้อน

“เสื้อผ้าที่ทำตามใจผู้ซื้อ ขายราคาเป็นธรรม”

รูปแบบร้านก็จะเหมือนกับ “ตลาดนัด” สักหน่อย

มีเสื้อผ้าแขวนมากมาย หลายๆ ขนาด มีอย่างละไม่กี่ตัว

ให้ความรู้สึกว่า “ถ้าคุณอยากได้ตัวนี้ ก็มีอยู่เท่านี้นะ ถ้าไม่ซื้อวันนี้ อาจจะหมดได้”

เขาให้พนักงานหน้าร้านสำรวจ “ความต้องการของผู้บริโภค” จากหน้าร้าน

ส่งข้อมูลกลับให้บริษัทแม่ สัปดาห์ละสองครั้ง

และเมื่อนำข้อมูลลูกค้าจากช่องทางอื่นๆ มาระดมสมองกับทีมงานอย่างรวดเร็ว

ทำให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบเสื้อผ้าในร้านค้าได้ “ทุกๆ สองสัปดาห์”

นั่นหมายความว่า มีของใหม่ที่น่าจะตรงใจให้ลูกค้าได้เลือกกันทุกๆ สองสัปดาห์

ในเชิง “จิตวิทยา” แล้ว ก็เป็นการดึงลูกค้าเข้าร้านบ่อยๆ นั่นเอง

แตกต่างจาก “ห้องเสื้อ” อื่นๆ ที่จะมี “คอลเล็กชั่น” ใหม่ๆ ตามฤดูกาล ซึ่งใช้เวลา “สามถึงสี่เดือน” ทีเดียว

และด้วยการที่บริษัท “อินดิเท็กซ์” มีความเชี่ยวชาญทางด้านการ “ผลิต” อยู่แล้ว

ทำให้เขาสามารถควบคุมการผลิต การขนส่ง ร้านค้าต่างๆ ได้ครบถ้วน

ต้นทุนที่ต่ำลง ก็ส่งผลให้ “ราคาขาย” หน้าร้านไม่สูงเหมือน “แบรนด์” ดังอื่นๆ ที่ยังต้องจ้างคนอื่นผลิตให้

“เสื้อผ้าดีๆ ราคาเป็นมิตร เปลี่ยนบ่อยๆ” จึงเกิดขึ้น

เนื่องจาก “ความต้องการของลูกค้า” มีความสำคัญมาก

พนักงานและผู้บริหารส่วนใหญ่ที่เริ่มทำงานที่บริษัทแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบ นักการตลาด ผู้จัดการ

จะต้องทำงานที่ “หน้าร้าน” เป็นเวลาหลายเดือน

เพื่อให้เข้าใจคนที่ทำงานกับลูกค้าโดยตรง เข้าใจบรรยากาศการซื้อขายของลูกค้าเวลาเข้ามาในร้าน

จะได้ “ออกแบบ” สินค้าได้ตรงใจผู้บริโภค และ “บริหาร” องค์กรได้อย่างถูกต้อง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

วิธีการนี้ ก็เป็นวิธีการที่บริษัทที่โด่งดังเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” อย่าง “แซปโปส (Zappos)” บริษัทขายรองเท้าออนไลน์

ที่ขายให้กับบริษัท “อเมซอน (Amazon)” ไปที่มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

โดยผู้บริหาร พนักงานที่เข้าทำงาน จะต้องเริ่มงานโดยการนั่งทำงานที่ “Call Center” รับสายลูกค้าที่โทร.เข้ามาสั่งสินค้า แจ้งปัญหาสินค้า บริการ

เพื่อเข้าใจ “ลูกค้า” อย่างจริงจัง และนำไปบริหารงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันบริษัท “อินดิเท็กซ์” ขยายกิจการร้านเสื้อผ้าไปทั่วโลก ทุกทวีป

ภายใต้แบรนด์หลัก ชื่อว่า “ซาร่า (ZARA)”

ชายหนุ่มคนต้นเรื่องมีชื่อว่า “อมันชิโอ ออเตกา (Amancio Ortega)”

ปัจจุบันมีอายุเกือบแปดสิบปี

เป็นบุคคลที่ถูกจัดอันดับ “ร่ำรวย” ที่สุดในโลก เคียงข้างกับ “บิลล์ เกตส์”

นี่แหละคือเรื่องราวของห้องเสื้อ “ZARA” แฟชั่นยุคใหม่แบบรวดเร็ว ขวัญใจผู้หญิงทั่วโลก

ด้วยห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจร และรูปแบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

หลายคนจึงขนานนามว่าเป็น “โตโยต้าแห่งวงการแฟชั่น”

ZARA – The TOYOTA of Textile Industr