สงครามราคายังไม่จบง่ายๆ ‘รถอีวีจีน’ เปิดศึกรอบใหม่

สันติ จิรพรพนิต

บานปลายขึ้นเรื่อยๆ กับสงครามราคาของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี จากจีน

เพราะดัมพ์ราคากันแหลกลาญแทบทุกค่าย

พลอยส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการใกล้เคียง

ที่สำคัญคือความรู้สึกของผู้บริโภค ที่แทบชักตาตั้งเมื่อเห็นราคาเปิดตัวเมื่อปีเศษๆ ที่ผ่านมา กับราคาปัจจุบัน

ห่างกันหลายแสนบาท

และล่าสุดกับค่าย “บีวายดี” เจ้าเก่า เจ้าเดิม ที่เพิ่งทำราคาใหม่ให้กับเก๋งเล็กอย่างดอลฟิน

ครามนี้ถึงคิวของ “ATTO 3” ที่ปรับลดราคาอีกรอบ ตามแคมเปญ ฉลองเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ BYD ครั้งแรกในประเทศไทย

จนเหลือราคา 799,990-959,900 บาท

โดยเฉพาะรุ่น Extended Range (MY23) ที่จบราคา 859,900 บาท

ทำให้นับจากเปิดตัวรุ่น Extended Range (MY23) ลดราคาไปมากถึง 340,000 บาท

การเปิดศึกราคารถอีวีอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำเฉพาะค่ายบีวายดีเท่านั้น

แต่แทบทุกค่ายกระโดดลงมาเล่นสงครามราคากันทั้งสิ้น

และยิ่งเมื่อบีวายดีเปิดหัวรอบใหม่ คาดว่าจะมีค่ายอื่นๆ ตามมาด้วย

สาเหตุจากหลายปัจจัยทั้งภายนอก-ภายใน

ภายนอกไม่พ้นสงครามเศรษฐกิจ ระหว่างจีนกับสหรัฐและยุโรป

จนเป็นที่มาของการตั้งกำแพงภาษีรถอีวีจีนอย่างโหด

บวกกับประมาณการผลิตรถยนต์ในจีน ล้นมากกว่าความต้องการจึงต้องระบายสต๊อกเก่าให้เร็วที่สุด

ไม่นับความก้าวหน้าด้านการพัฒนา และลดต้นทุน ทำให้ราคาต่อหน่วยของรถอีวีจีน ลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไทย ไม่พ้นปัญหาหนี้ครัวเรือน การปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์

จนทำให้ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2567

จากตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ของไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2567

ทำได้แค่ 644,951 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 16.88%

เช่นเดียวกับยอดขายในประเทศ 5 เดือนแรกทำ 260,365 คัน ลดลง 23.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566

อันดับที่ 1 โตโยต้า 97,736 คัน ลดลง 15.7%

อันดับ 2 อีซูซุ 39,183 คัน ลดลง 46.9%

อันดับ 3 ฮอนด้า 37,374 คัน ลดลง 4.3%

ขณะที่ตลาดรถปิกอัพขายได้แค่ 75,510 คัน ลดลงถึง 40.8%

ขณะที่รถอีวี แม้ยอดจดทะเบียน 5 เดือนแรก ยังทำได้ดีที่ 43,921 คัน แต่เติบโตแบบถดถอย และน้อยกว่าที่ประเมินไว้

ด้วยยอดขายที่อืดเป็นเรือเกลือ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บรรดาค่ายรถอีวีจากจีน ต้องห้ำหั่นราคากันอย่างดุเดือด

เพื่อกระตุ้นยอดขาย และแชร์ส่วนแบ่งการตลาดให้มากที่สุด

รวมถึงยังเตะตัดขาคู่แข่งหน้าใหม่ ที่กำลังทยอยเข้ามา

โดยช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีมาอีกอีก 4-5 ราย อาทิ Geely, Riddara, Omoda & Jacoo และ Denza

ไม่เพียงวงการยานยนต์เท่านั้นที่ปั่นป่วนกับสงครามราคา

แต่ยังลามไปถึงบริษัทประกันภัย และลิสซิ่ง

เพราะราคาที่ลดลงมากกว่าตอนเปิดตัวใหม่ๆ หลักแสน หรือหลายแสนบาท

ทำให้การรับประกันภัยรถยนต์ หรือปล่อยสินเชื่อ เกิดความเสี่ยง

เพราะมูลค่ารถยนต์ปรับลงจากวันทำสัญญาก่อนหน้านี้

หากเป็นความเสื่อมราคาจากการใช้งาน หรือระยะเวลาที่ออกรถ

ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่บริษัทประกัน และลิสซิ่ง คำนวณไว้ก่อนแล้ว

แต่เพราะการลดราคาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างหลายๆ ส่วนพลอยบิดเบี้ยวไปด้วย

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ถึงกับต้องปรับโปรแกรมราคามาตรฐานกลางรถยนต์ (TGIA BOOK) กันเป็นรายสัปดาห์

เพราะการลดราคาขายรถใหม่ป้ายแดงลงกว่า 20% ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทุนประกันภัยรถอีวี

ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยที่เป็นผู้รับประกันภัย ต้องปรับลดทุนประกันภัยใหม่ให้สอดคล้องกับราคาอีวี

เนื่องจากราคาค่าซ่อมโดยทั่วไปไม่ได้ลดตาม

ในแง่ของราคาเบี้ยประกันอีวี บางค่ายเริ่มมีการปรับเพิ่มเบี้ย สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ประเมินกันว่า บริษัทประกันอาจปรับลดทุนประกันรถอีวีใหม่ และคาดว่าทุนประกันต่อไปในอนาคตจะลดลงถึงปีละ 30% ไม่ใช่แค่ 10% ตามมาตรฐาน

เพราะราคารถอีวีปรับลงค่อนข้างบ่อยและมากกว่าที่คาด ทำให้หากทุนประกันรถอีวีแพงกว่าราคามือสอง อาจเกิดฉ้อโกงขึ้นได้

จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันบริษัทประกันมีความระมัดระวังการขายเบี้ยประกันอีวี ไม่แข่งตัดราคา หรือแย่งชิงลูกค้ามากนัก

เช่น บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด ประกาศชัดว่าลดเป้าหมายการขยายส่วนแบ่งตลาด โดยไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทำแคมเปญแถมประกันฟรีให้ลูกค้า “บีวายดี”

เพราะในกรณีการทำแคมเปญร่วมกับค่ายรถ บริษัทประกันจะถูกกดค่าเบี้ย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตลาดรถยนต์กำลังซึมยาว เนื่องจากต้องรักษากำไรจากการรับประกันภัย มากกว่าการเป็นเจ้าตลาดประกันรถอีวี

ขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยหลายๆ ค่ายก็ไปในทิศทางนี้

สงครามราคารถอีวีจีน เป็นอีกหนึ่งความปั่นป่วนในวงการรถยนต์เมืองไทย

ที่น่ากังวลคือกลุ่มผู้บริโภค ทั้งกลุ่มที่ “ชีช้ำ” กับการตัดสินใจซื้อไปแล้ว

และที่สำคัญคือกลุ่มที่เตรียมซื้อ จะตัดสินใจอย่างไรเมื่อเห็นการลดราคาลงเรื่อยๆ ของรถอีวีป้ายแดง

งานนี้ ดีลเลอร์หรือตัวแทนขายรถ คงเหนื่อยหนักกับการบริหารความรู้สึกของลูกค้า •