วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (4) บททดสอบปัญญาชนยุโรป ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน & อิสราเอล-ฮามาสปัจจุบัน

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

วิกฤตยุโรปในทีทรรศน์ปัญญาชน (4)

บททดสอบปัญญาชนยุโรป

ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน & อิสราเอล-ฮามาสปัจจุบัน

 

กัสซัน ซาลาเม (Ghassan Salam?) อดีตรัฐมนตรีวัฒนธรรมประเทศเลบานอนและศาสตราจารย์แห่งสถาบันศึกษาการเมืองแห่งกรุงปารีส ผู้เขียนหนังสือ แรงยั่วยวนของพระอังคาร : สงครามกับสันติภาพในศตวรรษที่ 21 (La Tentation de Mars. Guerre et paix au XXIe si?cle, 2024) เปิดฉากสนทนากับ ชูเซป บูเรียลี ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงชาวสเปนเมื่อปลายปี 2023 หลังกองกำลังฮามาสบุกจู่โจมสังหารหมู่ชาวอิสราเอลเมื่อ 7 ตุลาคมศกก่อน และกองทหารอิสราเอลเปิดฉากสงครามถล่มแหลกตอบโต้ใส่ฉนวนกาซา พอสรุปได้ว่า :

“ยุโรปเป็นที่ตั้งของยุครู้แจ้งกับจิตใจวิพากษ์วิจารณ์ ทว่า มันหาใช่ความคิดที่เป็นของยุโรปแต่ที่เดียวไม่

“มันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องตระหนักว่ามีหลักเหตุผลในอีกฟากข้างหนึ่งด้วย และหากแม้นเราไม่เข้าใจหลักเหตุผลดังกล่าว มันก็มิได้หมายความว่าหลักเหตุผลนั้นไม่ดำรงอยู่แต่อย่างใด

“ยุโรปมิอาจละเลิกความคิดวิพากษ์วิจารณ์หรือเสรีภาพในการแสดงออกได้ เพราะมันเป็นคุณค่าเจ้าเรือนแห่งฐานรากของยุโรป

“ยุโรปมีสองมาตรฐาน ดังแสดงออกโดยการที่ยุโรปปกป้องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไม่หยุดหย่อนในกรณียูเครน เปรียบกับท่าทีเฉื่อยชาไม่รับผิดชอบต่อกาซาจนถึงปัจจุบัน

“มาบัดนี้ปัญญาชนทั้งหลายกำลังถูกเชื้อเชิญให้พิสูจน์ความเที่ยงธรรมทางอุดมการณ์ของตัวเอง และมันก็กลายเป็นเรื่องยากที่จะพูดจาอย่างเสรีในสื่อสาธารณะของยุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เหลือจะทนรับได้ในฉนวนกาซาทุกวันนี้”

(“L’Europe et le Sud : une nouvelle convergence?” https://legrandcontinent.eu/fr/2024/01/17/leurope-et-le-sud-une-nouvelle-convergence-une-conversation-avec-josep-borrell-gabriela-ramos-remy-rioux-ghassan-salame-et-nathalie-tocci/)

กัสซัน ซาลาเม, จอร์จ สกาลาบา, ทิโมธี ชไนเดอร์

ในเรื่องนี้ จอร์จ สกาลาบา (George Scialabba) นักวิจารณ์หนังสือหัวก้าวหน้าชาวอเมริกันได้เรียบเรียงท่าทีของเขาไว้อย่างเนียนประณีตแต่แหลมคมในบทความหลังเหตุการณ์ฮามาสบุกอิสราเอลสองสัปดาห์ โดยอ้างบทกวีของ W.H. Auden กวีชาวบริติช-อเมริกัน ที่แต่งไว้เมื่อปี 1939 มาเกริ่นนำว่า :

“I and the public know

What all schoolchildren learn,

Those to whom evil is done

Do evil in return.”

ซึ่งพอแปลงเป็นกลอนไทยได้ว่า :

“มหาชนอย่างเราเข้าใจรู้ เด็กนักเรียนทุกผู้ย่อมเรียนได้

ความชั่วร้ายก่อกรรมทำกับใคร เขาย่อมทำร้ายใส่สนองคืน”

“กรณีฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมศกนี้นั้นทั้งป่าเถื่อนทางศีลธรรมและเหลวเปล่าทางยุทธศาสตร์ ไม่มีอะไรให้เหตุผลความชอบธรรมแก่การฆ่าคนบริสุทธิ์ได้ ไม่แม้แต่การปัดปฏิเสธความเป็นชาติของประชาชนเหล่าหนึ่งมาเป็นเวลา 75 ปี ไม่แม้แต่การขับไสไล่ส่งคนเหล่านั้นให้พลัดถิ่นไปนับแสนๆ คนเพื่อเปิดทางให้พวกมาตั้งหลักแหล่งเป็นอาณานิคมแทน และไม่แม้แต่การฆ่าฟันคนบริสุทธิ์ในหมู่คนเหล่านั้นเองนับพันๆ คนใน ‘การล้างแค้นเอาคืน’ อันฉาวโฉ่เกินเลยทั้งหลายแหล่

“และกล่าวในแง่ยุทธศาสตร์นั้นเล่า สำหรับผู้อ่อนแอแล้ว (และไม่เฉพาะเพียงสำหรับพวกเขาเท่านั้น) ไม่มีสิ่งใดไร้ประสิทธิผลไปกว่าการใช้ความรุนแรงเยี่ยงนั้น ซึ่งทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน -อันเป็นฐานรองรับเดียวที่พึ่งพาได้ของความมั่นคงอย่างยั่งยืน- กลายเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ มิสู้ให้ประชาชนทนรับการพลัดพรากสูญเสียไปอีก 75 ปี ดีกว่าจะมาก่ออาชญากรรมทำนองนั้นขึ้นในนามของพวกเขา

“แน่นอนว่าก็แลบรรดาพวกที่ปล่อยให้ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้รับความยุติธรรมไปอีก 75 ปีและปล่อยให้พวกเขาอยู่มาโดยไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ ในรอบ 75 ปีที่แล้วนั้น ย่อมต้องแบ่งปันรับเอาความผิดของเหล่าฆาตกรไปด้วยโดยที่มีข้อแก้ตัวน้อยกว่าเป็นไหนๆ”

(“On the responsibility of intellectuals”, The New Statesmen, 28 October 2023 https://www.newstatesman.com/the-weekend-essay/2023/10/responsibility-intellectuals-students-war-power)

 

ความจริงก็คือ โดยผ่านเผชิญการทดสอบนั่นแหละที่ยุโรปอาจเสริมตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นได้ ดังที่ พอล มาเหย็ด (Paul Magnette) นายกเทศมนตรีเมืองชาร์เลอรัวและประธานพรรคสังคมนิยมเบลเยียมชี้ว่า : “วิกฤตเป็นเครื่องยนต์แห่งบูรณาการ (ของยุโรป) เสมอ” ค่าที่ยุโรปสร้างเนื้อสร้างตัวตนขึ้นมากจากการตอบโต้ต่อกันเป็นชุดต่อประดามหาวินาศภัยที่เกิดขึ้น

ทว่า เพื่อเข้าใจความสลับซับซ้อนของช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน มันย่อมดีกว่าที่จะไม่ไปแต่งแต้มอดีตของยุโรปให้กลายเป็นตำนานโลกสวยเกินจริงว่าด้วยโครงการสร้างประชาคมยุโรปอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ซึ่งขับเคลื่อนโดยความฝักใฝ่สันติภาพ ในทำนองที่ว่า “สหภาพยุโรปถูกดำริสร้างขึ้นเมื่อปี 1945 เพื่อตอบสนองต่อมหาวินาศภัยแห่งสงครามโลกครั้งที่สองด้วยสันติภาพแห่งการค้าขายแลกเปลี่ยน…”

ดังที่ศาสตราจารย์ทิโมธี ชไนเดอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกรวมถึงฮอโลคอสต์ (Holocaust หมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วยน้ำมือนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) และเขียนหนังสือเรื่อง หนทางสู่ความเป็นทาส : รัสเซีย-ยุโรป-อเมริกา (The Road to Unfreedom : Russia-Europe-America, 2018) วิจารณ์ว่า :

“มันก็เป็นประวัติศาสตร์ที่สวยดีอยู่หรอกครับ ชั่วแต่ว่ามันโกหกทั้งเพ ชาวยุโรปน่ะไม่ได้หันหลังให้สงครามในปี 1945 หรอกครับ เพราะพวกเขายังคงทำสงครามในอาณานิคมต่างๆ อยู่สืบต่อจนกระทั่งสูญเสียมันไป มันเป็นการผสมผสานกันระหว่างการสูญเสียจักรวรรดิอาณานิคมกับบูรณาการทางเศรษฐกิจต่างหากที่นำสันติภาพมาน่ะครับ”

 

สอดคล้องกับที่พอล มาเหย็ด เสริมว่าสหภาพยุโรปนั้น…

“หาใช่เกิดจากพลังกระตือรือร้นของฌอง โมเนต์ (1888-1979, นักธุรกิจ นักบริหารและนักสร้างสถาบันชาวฝรั่งเศส) กับคอนราด อาเดอเนาเออร์ (1876-1967, รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เท่านั้นไม่ หากยังเป็นความพยายามที่สัมฤทธิผลของเหล่าผู้แพ้ในประวัติศาสตร์ที่จะค้นพบพลวัตใหม่ด้วย”

ชไนเดอร์สำทับตบท้ายว่า :

“(หากไม่เข้าใจความข้อนี้แล้ว) ชาวยุโรปตะวันตกก็จะไม่สามารถเข้าใจฐานะทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียนั้นเป็นจักรวรรดิที่ยังไม่ปราชัยในสงครามจักรวรรดิครั้งสุดท้ายของตน”

(ต่อสัปดาห์หน้า)