‘กบฏไทยอิสสระ’ : กบฏต่อต้านรัฐบาลและโปรตะวันตกครั้งสงคราม (1)

ณัฐพล ใจจริง

ไม่นานหลังจากที่ไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทัพและเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นได้สร้างความไม่พอใจให้กับปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ เนื่องจากไทยละทิ้งนโยบายรักษาความเป็นกลางซึ่งเคยประกาศไว้

ส่งผลให้เกิดกระแสการต่อต้านทำให้รัฐบาลจนทำให้รัฐบาลต้องประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2484 เพื่อรักษาความสงบ

อักษรรูปตัว “อ” สีแดงที่คณะไทยอิสระส่งไปยังบุคคลต่างๆ ใช้เป็นเครื่องหมายต่อต้านญี่ปุ่น

กรณีไทยอิสสระ 17 มกราคม 2485

ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2485 ไม่นานหลังจากที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยไปยังดินแดนอาณานิคมอังกฤษแล้ว ปรากฏหนังสือพิมพ์ใต้ดินชื่อ “ไทยอิสสระ” แจกจ่ายในพระนคร มีเนื้อหาเรียกร้องให้ชาวไทยร่วมใจกันต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานพร้อมแจกจ่ายเครื่องหมาย “อ” สีแดงเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านร่วมกัน นอกจากในหนังสือพิมพ์ยังเรียกร้องให้คนไทยต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว

ยังมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. และนายมั่น ชูชาติ (สังข์ พัธโนทัย) และนายคง รักไทย (คงศักดิ์ ขำศิริ) ว่า กลายเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่นในการรุกรานเอเชีย สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลเป็นอันมากอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ใต้ดิน ชื่อ “ไทยอิสสระ” ฉบับที่ 1 วันที่ 1 มกราคม 2485

อ่านหนังสือพิมพ์ไทยอิสสระ

เนื้อความในหนังสือพิมพ์ ฉบับที่ 1 วันที่ 1 มกราคม 2485 มีว่า

“นโยบายข้าทาษ นายแปลกว่า การที่…ทหารของต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศเรานั้น นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ โดยเหตุนั้น พี่น้องร่วมชาติอาจมีความตระหนกตกใจและไม่พอใจ และกองทหารต่างชาติที่เข้ามาตั้งอยู่กันมาด้วยความตกลงของรัฐบาล (ขายชาติของนายแปลก) ขอวิงวอนประชาชนชาวไทยให้เปลี่ยนจิตต์ใจเสียใหม่ เพราะพวกเรา (พวกนายแปลก) ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่แล้ว…แต่นายแปลกก็ยอมรับว่า ในความจริงมีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่นก็เป็นเพราะนโยบายเดิมของเราที่จะต้องต่อสู้ผู้บุกรุก

ฉะนั้น นโยบายใหม่ของนายแปลกก็จะต้องตรงกันข้ามกับนโยบายเดิมของคนไทยที่จะต้องต่อสู้ผู้รุกรานเรากลับกลายมาเป็นต้องอ่อนน้อมต่อข้าศึกยอมกลายถวายชีวิตแก่ชนชาติสัตรู ยิ่งกว่านั้นยังช่วยชนชาติสัตรูสูบเลือดสูบเนื้อของชาวไทยไปเสีย เพื่อเลี้ยงสัตรู ยื่นอาวุธให้สัตรูประหัตประหารชนชาติเดียวกันที่รักชาติและไม่ยอมเป็นทาษ โดยนายแปลกและพวกได้กลายเป็นเครื่องมือของสัตรูชาติไปแล้ว ฉะนี้ นโยบาย (ใหม่) ของนายแปลกคือนโยบายข้าทาษนั่นเอง.

ถูกอย่างนายแปลกว่า ที่ว่ามีกองทหารต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศของเรานั้นเป็นของใหม่…ใหม่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่รักความเป็นไทยและใหม่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกแห่งการเสียเอกราชแก่ชนชาติสัตรูอย่างง่ายดาย อย่างน่าอัปยศเช่นนี้ เอกราชแห่งชาติไทยได้ยอมตกอยู่ในกำมือของชาติสัตรูเพียงแนวที่ 5 ของมันเพียงหยิบมือเดียว แผ่นดินแห่งความเป็นไทยต้องตกเข้าสู่ฐานะแผ่นดินแห่งความเป็นทาษเพียงชั่วระยะเวลา 6 ชั่วนาฬิกาเท่านั้นโดยคำสั่งของนายแปลกที่สั่งให้ทหาร ตำรวจผู้รักชาติหยุดยิง หยุดการต่อต้านเพื่อเอกราชของชาติไทย คำสั่งปลดอาวุธตนเอง เพื่อให้ข้าศึกประหัตประหารเราได้แต่ฝ่ายเดียว.

ความจริงหลังจากดำเนินนโยบายข้าทาสของนายแปลกแล้วนั้นก็คือ กองทหารของโจรญี่ปุ่นมาย่ำเท้าอยู่บนจมูกของคนไทยทุกวัน ด้วยการหยิ่งผยองในการเป็นผู้ชะนะโดยมิต้องสู้รบของมัน รัฐบาลนายแปลกต้องรีดนาทาเร้นเร่งรัดภาษีอากรจากราษฎรเพื่อนำไปใช้เลี้ยงดูกองทหารโจรที่มาปล้นเราอย่างไม่เคยมีมาแต่ก่อน เพราะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูโจรญี่ปุ่นวันละ 300,000 บาท กับต้องให้เงินกู้แก่ญี่ปุ่นอีก 25 ล้านบาท โดยนายวณิชฯ สั่งราชการกระทรวงคลัง…”

จอมพล ป. และหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในครั้งนั้น

เมื่อหนังสือพิมพ์วิจารณ์รัฐบาลถูกเผยแพร่ ตำรวจภายใต้หลวงอดุเดชจรัสออกสืบและกวาดล้างบุคคลที่อยู่เบื้องหลังหรือเกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์นี้ รวมทั้งผู้ต้องสงสัยต่างๆ เช่น พวกนักหนังสือพิมพ์ พวกโรงพิมพ์ต่างๆ พวกพ่อค้าจีน แม้แต่คณะเลือดไทยที่เคยออกใบปลิวสนับสนุนรัฐบาลเมื่อครั้งสงครามอินโดจีน (2483-2484) (กุหลาบ สายประดิษฐ์, 2544, 7)

ในช่วงแรกของการจับกุมนั้น รัฐบาลตั้งข้อสงสัยว่าหนังสือพิมพ์ใต้ดินเป็นผลงานคณะนักหนังสือพิมพ์ ด้วยเหตุที่เหล่านักหนังสือพิมพ์นั้นไม่ยอมพินอบพิเทาต่อรัฐบาล (กุหลาบ, 2544, 8)

ทั้งนี้ คณะนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกจับ เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ขจร หัสจินดา เฉวียง เศวตะทัต ดำริห์ ปัทมะศิริ อำพัน บุญยพุทธิ์ ทิพย์ บุญยพุทธิ์ ม.ล.ฉอ้าน อิศรศักดิ์ อารีย์ ลีวีระ เล็ก ศิริสัมพันธ์ สะอาด ฉายะนันท์ สุรีย์ ทองวานิช และเทียน ประทีปเสน

โดยกุหลาบถูกจับเมื่อ 17 มกราคม 2485 ถูกคุมขังเป็นเวลา 84 วัน แต่เขายืนยันความบริสุทธิ์ต่อข้อกล่าวหา จวบจนตำรวจหมดอำนาจในการคุมตัวตามกฎหมายจึงต้องปล่อยเขาเป็นอิสระ

กุหลาบเห็นว่า สาเหตุที่เขาถูกจับน่าจะเกิดจากในช่วงก่อนหน้านั้น กุหลาบเขียนบทความชุด “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” ลงหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษเริ่มลงตั้งแต่ 4 พฤษภาคม 2484 ซึ่งมีเนื้อหาให้ความสำคัญกับ 4 ทหารเสือ เช่น พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสนาพิทยยุทธ์ อันเป็นนายทหารผู้ใหญ่ของคณะราษฎรมากกว่าจอมพล ป.

หนังสือ เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 (2490) และคำน

ไม่นานหลังจากลงพิมพ์บทความชุดนี้ เขาเล่าว่า เมื่อ 11 พฤษภาคม บทความสารคดีของเขาทำให้รายการวิทยุของ “นายมั่น-นายคง” หรือองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลจอมพล ป. ออกอากาศแสดงความไม่พอใจต่อบทความของเขามากที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของพระยาพหลพลพยุเสนา จนทำให้พระยาพหลฯ ขอให้หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษงดลงบทความชุดดังกล่าว แต่กุหลาบในฐานะบรรณาธิการเห็นว่า สมควรลงบทความต่อไป (กุหลาบ, 2490, 27-28)

จากนั้น เขาเขียนตอบโต้ “นายมั่น-นายคง” ไปยังกรมโฆษณาการไป 4 ครั้งถึงเหตุผลในการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ตรงต่อความจริง ต่อมาหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยได้ลงข่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนฯ 30 คนยื่นหนังสือถึงสำนายกรัฐมนตรี ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่รัฐบาลปล่อยให้วิทยุของกรมโฆษณาการวิวาทกับหนังสือพิมพ์และขอให้รัฐบาลควบคุมวิทยุของทางการให้อยู่ในขอบเขต (กุหลาบ, 2490, 81-86)

ต่อมา 27 มิถุนายน เขาได้รับจดหมายจากจอมพล ป. “ด้วยฉันทไมตรีอ่อนหวาน” เขาได้ตอบจดหมายกลับไปและได้รับจดหมายจากจอมพล ป. เมื่อ 1 กรกฎาคม กลับมาตอบรับรู้ถึง “อัธยาศัยไมตรี” ของเขา

และเมื่อ 28 มิถุนายน จอมพล ป.มีหนังสือชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนฯ ว่า เป็นหน้าที่ของรายการวิทยุรัฐบาลที่จะต้องตอบโต้ชี้แจงประเด็นที่จะกระทบกระเทือนต่อรัฐบาล (กุหลาบ, 2490, 88-92)

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เครดิตภาพ : กษิดิศ อนันทนาธร

ไม่แต่เพียงบทความสารคดีของเขาเท่านั้น ต่อมา กุหลาบเขียนบทบรรณาธิการโต้แย้งและแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เช่น รัฐบาลขยายบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ การประกาศรัฐนิยม การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์แบบใหม่ขึ้น (กุหลาบ, 2490, 19-22)

ในที่สุด เขาถูกจับกุมเมื่อ 17 มกราคมนั่นเอง เขาบันทึกว่า “ชัยชนะของเราในเรื่องนั้นได้นำเราไปพบกับความวิบัติในวันที่ 17 มกราคมแห่งปีเริ่มสงครามเอเชียในเวลานั้นจอมพลก็มิได้เขียนจดหมายส่วนตัวมาประโลมใจข้าพเจ้าอีกและข้าพเจ้าก็มิได้รับโอกาสให้เลือกว่า จะพอใจสละตำแหน่ง (บรรณาธิการ) หรือไม่ มาถึงเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ถูกบังคับโดยอำนาจทีเดียว แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ข้าพเจ้ารับความผิดหวังอะไร การณ์ดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม ข้าพเจ้าไม่จดจำเหตุร้ายสำหรับที่จะตอบแทนผู้ใดในทางส่วนตัวเลย เราได้พบ เราได้ปะทะกันแล้ว เราก็จะต้องผ่านไปสู่เหตุการณ์ใหม่ การปะทะใหม่กับคนใหม่ หรือมิฉะนั้น ก็นำไปสู่การหลีกเลี่ยงต่อการปะทะไปสู่การประนอม การอดกลั้นและความสงบเย็น แล้วก็หยุดยั้ง อยู่ๆ ก็ผ่านไปอีก นี่คือชีวิต นี่เป็นสังสารโลก” (กุหลาบ, 2490, 22-23)

กล่าวโดยสรุปแล้ว เป็นไปได้ที่สาเหตุที่กุหลาบโดนจับกุมนั้นน่าจะเป็นเหตุมาจากบทบาทในฐานะบรรณาธิการที่เขียนคัดค้านรัฐบาลหลายประการ เช่น การขยายบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ การประกาศรัฐนิยม และความพยายามฟื้นฟูบรรดาศักดิ์แบบใหม่ รวมทั้งผลงานสารคดีของเขาเรื่องเบื้องหลังการปฏิวัติที่เขาเขียนลงหนังสือพิมพ์จนทำให้รัฐบาลไม่พอใจในผลงานของเขา ตำรวจจึงจับกุมเขารวมไปในคราใบปลิวไทยอิสสระด้วย (กุหลาบ, 2544, 9)