ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
The State of Absence – Voices from Outside
การสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์
ที่ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงผลงานของศิลปินอีกคนที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
เจือง กง ตึง (Truong Cong Tung) ศิลปินร่วมสมัยชาวเวียดนาม
ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมของงานศิลปะจัดวาง, วิดีโอ, งานจิตรกรรม และศิลปะจากวัตถุเก็บตก ที่สะท้อนความคิดส่วนตัวของเขาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และประเด็นเกี่ยวกับชาติพันธุ์ ศาสนา และประเด็นทางสังคมการเมือง
ผลงานของเขาตั้งคำถามถึงบทบาทของธรรมชาติ เวลา และกระบวนการเสื่อมสลายของสิ่งต่างๆ อันอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ด้วยความที่เขาเกิดในบริเวณเขตที่ราบสูงตอนกลาง (Central Highlands) ของประเทศเวียดนาม วัตถุเก็บตกในผลงานของเขาจึงมีนัยยะสื่อไปถึงผลกระทบของสังคมเมืองที่มีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นทางสังคมที่ไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง
เจือง กง ตึง สนใจวัตถุเหล่านี้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลง สร้างบทสนทนา และการแบ่งปันสายสัมพันธ์อันจับต้องไม่ได้ระหว่างวัตถุเหล่านี้กับมนุษย์ ผ่านอุปมาของ “สวน” ที่ปรากฏในผลงานและกระบวนการสั่งสมเรียนรู้ในฐานะศิลปินของเขา ด้วยการขับเน้นให้เห็นถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และกระตุ้นให้ผู้คนหวนกลับไปค้นหาระบบนิเวศภายในของตัวเองอีกครั้ง
เจือง กง ตึง เคยจัดแสดงผลงานในหลากหลายเทศกาลศิลปะทั่วโลก ทั้ง Carnegie International ครั้งที่ 58 ในเมืองพิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา, Bangkok Art Biennale กรุงเทพฯ ประเทศไทย, Dhaka Art Summit ในเมืองธากา บังกลาเทศ, SeMA Biennale ที่ Seoul Museum of Art กรุงโซล เกาหลีใต้ และ Koganecho Bazaar ในโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
ในนิทรรศการครั้งนี้ เจือง กง ตึง นำเสนอผลงาน The State of Absence-Voices from Outside (2020-ปัจจุบัน) ศิลปะจัดวางที่สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของผืนแผ่นดิน ผืนน้ำ ป่าไม้ ที่มนุษย์มีบทบาทเป็นตัวกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงหรือเป็นพาหะนำพาสารแห่งความเปลี่ยนแปลงผ่านทั้งกระบวนการทางธรรมชาติและจากการประดิษฐ์สร้างด้วยน้ำมือมนุษย์
“ด้วยความที่ผมเติบโตในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ ซึ่งป่าไม้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และสวนเองก็เป็นป่าที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ งานของผมจึงมีแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติไปสู่วัฒนธรรม”
“โดยปกติ ผลงานชุดนี้ของผมเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างตัวผม กับพื้นเพในการเป็นคนที่เกิดในบริเวณเขตที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม พื้นที่นี้ยังเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งประเทศลาว, กัมพูชา, พม่า และไทย
พื้นที่ภูเขาสูงแห่งนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ ด้วยการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่พึ่งพิงป่าไม้และธรรมชาติ ไปสู่การทำเกษตรอุตสาหกรรม อย่างการปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของผมเอง หรือการปลูกพริกไทย อะโวคาโด หรือยางพารา การเปลี่ยนจากป่าเป็นไร่นาเช่นนี้สร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนเหล่านี้”
“ผลงานของผมต้องการเน้นย้ำถึงวิถีชีวิตของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเวียดนาม ด้วยการเข้าไปอาศัยร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์จาไร (Jarai) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักที่อาศัยอยู่บนเขตที่ราบสูงตอนกลาง เพื่อสำรวจชุมชนที่มองไม่เห็นในพื้นที่เหล่านั้น อย่างเช่น อากาศ วิญญาณ ภูตผี ดิน แมลง ธรรมชาติ และความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ”
“การเปลี่ยนแนวคิดที่มีความเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ให้กลายเป็นผลงานศิลปะที่มีกายภาพที่จับต้องและมองเห็นได้ นั้นไม่ต่างอะไรกับการพยายามจับลมหายใจ อันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ถึงแม้มันจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ก็ตาม”
“ด้วยความที่ผมฝึกฝนเล่าเรียนทางด้านการทำงานจิตรกรรมลงรักของเวียดนาม (Vietnam Lacquer Painting) ซึ่งใช้วัสดุที่มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับแร่ธาตุและผืนแผ่นดินโลก ผมพัฒนาเทคนิคแบบประเพณีนี้ให้ไปไกลสู่การวาดเส้น ภาพเคลื่อนไหว และศิลปะจัดวาง เพื่อสร้างอุปมาให้ผู้ชมเข้าใจวิธีการจับลมหายใจและเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นศิลปวัตถุที่จับต้องได้”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือศิลปะจัดวางชุดนี้ของ เจือง กง ตึง ประกอบขึ้นจากวัสดุธรรมชาติอย่าง น้ำเต้า, ไม้ไผ่, น้ำ และเมล็ดพันธุ์ต่างๆ อันเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้เคยใช้ชีวิตพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในเวียดนาม ประกอบเข้ากับเส้นสายของท่อพลาสติก และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยถูกจัดวางอยู่บนผืนทราย อันเป็นตัวแทนของผืนแผ่นดินและทะเล อันเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกใบนี้
“วัตถุต่างๆ ที่ผมใช้ในงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางชุดนี้ บางส่วนผมเก็บได้จากพื้นที่ธรรมชาติ บางส่วนก็ซื้อหามา อย่างเช่น เครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่และน้ำเต้า ผมยังผสมผสานวัตถุสังเคราะห์ที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่าง ผืนผ้าพลาสติก, ท่อพลาสติก เสาสัญญาณโทรทัศน์ เข้ากับวัตถุจากธรรมชาติอย่าง ทราย, ดิน, ไม้ไผ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำเต้า ที่เป็นเหมือนตัวละครหลักของผลงานชุดนี้”
“ผมชอบแนวคิดของน้ำเต้า ที่ถูกใช้เป็นภาชนะมานับแต่โบราณ ผู้คนใช้น้ำเต้าบรรจุน้ำหรือเมล็ดพันธุ์มาก่อนที่จะมีเครื่องปั้นดินเผาเสียอีก”
“มนุษย์เก็บน้ำเต้าจากธรรมชาติมาดัดแปลงให้เป็นภาชนะเครื่องใช้มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ นอกจากน้ำเต้าจะเป็นภาชนะที่เอาไว้บรรจุสิ่งของ หากมันยังถูกใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้อีกด้วย ถึงแม้มันจะมีสถานะคงที่ แต่มันก็เคลื่อนย้ายได้ เพราะคุณสามารถนำน้ำเต้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ และสำหรับผม น้ำเต้าไม่เพียงเอาไว้บรรจุพกพาน้ำหรือเมล็ดพันธุ์เท่านั้น”
“แต่ในเชิงสัญลักษณ์มันยังสามารถบรรจุพกพาเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม อากาศอันว่างเปล่า และเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ หลากหลาย และยังเป็นสื่อที่เชื่อมโยงองค์ประกอบในงานชุดนี้ทุกชิ้นเข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย”
ผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ของ เจือง กง ตึง ยังนำเสนอปรากฏการณ์อันแปลกตาด้วยการใช้กลไกที่ซ่อนไว้ภายใต้ผลงาน ที่ค่อยๆ สร้างพรายฟองอากาศให้ผุดขึ้นมาจากตัวงาน ฟองอากาศอันเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างน้ำและอากาศเหล่านี้ ดูคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์แทนการขับเคลื่อนเลื่อนไหลของลมหายใจและของเหลวในร่างกายมนุษย์ก็ไม่ปาน
“ฟองอากาศเหล่านี้มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยความที่น้ำเต้าเป็นสัญลักษณ์ของการบรรจุบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ข้างใน หรือการเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง การกลายเป็นบางสิ่งบางอย่าง ในแง่ของความเชื่อเกี่ยวกับภูติผีและวิญญาณ”
“น้ำเต้ายังเป็นวัตถุสิงสถิตของวิญญาณ ดังนั้น ฟองอากาศก็เป็นเหมือนลมหายใจของวิญญาณเหล่านั้น ในบทหนึ่งของพระสูตร วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ของพุทธศาสนา ยังกล่าวว่า ชีวิตต่างเป็นเหมือนฟองอากาศ ซึ่งไม่เป็นแก่นสารจีรังยั่งยืน”
(น่าเสียดาย ด้วยความที่พื้นที่แสดงงานมีข้อจำกัดทางด้านความเก่าแก่ของอาคารที่จัดแสดงงาน ฟองอากาศอาจทำให้เกิดความชื้นที่จะสร้างความเสียหายให้ตัวอาคารได้ จึงทำให้ฟองอากาศถูกเปิดให้ผู้ชมเห็นเพียงแค่ในวันเปิดงานเท่านั้น ไม่สามารถเปิดให้ดูชมกันในวันอื่นๆ ที่เหลือได้)
“สิ่งที่ผมต้องการนำเสนอผ่านงานของผมคือการกระตุ้นให้ผู้คนรับรู้และพยายามทำความเข้าใจแก่นแท้ของความเป็นไปของธรรมชาติรอบๆ ตัวเราได้”
ผลงานชุดนี้ของ เจือง กง ตึง ทำให้เรานึกไปถึงช่วงเวลาตามหลักธรณีกาลยุคสมัยปัจจุบันที่เราเรียกกันว่า แอนโทรโพซีน (Anthropocene) ที่กิจกรรมของมนุษย์สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนเกินกว่าที่โลกจะรักษาสมดุลเอาไว้ได้อีกต่อไป
ถึงแม้ผลงานเช่นนี้จะไม่สามารถแก้ไขหรือยับยั้งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็อาจสะกิดให้เราตระหนัก รับรู้ และครุ่นคิดถึงความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์เราที่จะส่งผลกระทบต่อโลกที่พวกเรากำลังอาศัยอยู่อย่างจริงจังได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, Arina Matvee และอมรินทร์
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022