ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
สังคมไทยในช่วงหนึ่งปีที่เสียนักวิชาการสำคัญไป 2 คนจนน่าสลดใจ และถึงแม้ความตายจะเป็นความจริงของชีวิต การสูญเสีย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คือการสูญเสียปัญญาชนของสังคมที่เป็นผลผลิตของเงื่อนไขทางสังคมบางอย่างจนไม่มีทางมีคนแบบนี้ได้อีกเลย
อ.นิธิ และ อ.ชัยวัฒน์ เติบโตทางปัญญาในเวลาที่สังคมไทยเผชิญเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมและปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กัน ทั้งคู่เป็นเหมือนคนรุ่นเดียวกันอีกมากที่เผชิญโจทย์ใหญ่ว่าอะไรคืออนาคตที่ควรเป็นของสังคมไทย และเราจะทำอย่างไรกับสังคมนี้ดี
น่าสังเกตว่า อ.นิธิ และ อ.ชัยวัฒน์ ล้วนผ่านการฝึกฝนทางวิชาการที่ไม่จำเป็นต้องสนใจสังคมเลย
อ.นิธิทำวิทยานิพนธ์เรื่องอินโดนีเซีย ส่วน อ.ชัยวัฒน์ทำเรื่อง The Nonviolent Prince หรือปรัชญาการเมืองเรื่องผู้ปกครองที่ไม่ใช้ความรุนแรง
บทบาทต่อสังคมจึงมาจากความสนใจของทั้งคู่เอง
ผมรู้จัก อ.ชัยวัฒน์ จากหนังสืออย่าง “การเมืองมนุษย์” ก่อนเรียนปรัชญาการเมืองเบื้องต้นกับอาจารย์ แล้วตามมาด้วยทฤษฎีการเมืองกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์โดยได้เกรด A ทั้งหมด โดยวิชานั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมได้ B+ ด้านทฤษฎีการเมืองเพราะเขียนคำตอบผิดข้อเดียว
ผมจำได้ว่าอาจารย์ออกข้อสอบ 20 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกตอบ 10 ข้อ ว่าแต่ละข้อหมายความว่าอะไร และด้วยเหตุที่วิชานี้เป็นปรัชญาการเมืองเบื้องต้น หนึ่งในคำถามจึงได้แก่ Nichomachean Ethics เขียนโดยใครและพูดว่าอะไร ซึ่งผมดันไปตอบเป็นมาคิอาเวลลี่เพราะเห็นตัว N แล้วไปนึกถึงตัว M
คนจำนวนมากพูดถึง อ.ชัยวัฒน์ในแง่ความโดดเด่นด้านการสอนโดยวิธีตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ ผมอยากขยายความว่าวิธีของ อ.ชัยวัฒน์คือวิธีแบบโสกราตีสที่เน้นการสร้าง “บทสนทนาซึ่งโต้แย้งแบบมีประเด็น” (Argumentative Dialogue) ที่จบด้วยคู่สนทนารู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร
ทุกวันนี้คนชอบพูดว่า “คำถามที่ดีสำคัญกว่าคำตอบที่ดี” แต่ผมรู้สึกว่าประโยคนี้เฝือ หรือ Clich? จนไม่มีความหมายอะไร และถ้าคิดแบบโสกราตีส “คำตอบที่ดี” อย่างสมบูรณ์แบบอาจไม่มีอยู่ก็ได้
เพราะสิ่งสำคัญกว่า “คำตอบที่ดี” คือการตระหนักว่าคำตอบนั้นมีข้อจำกัดและเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“พี่เกษม” หรือ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ พูดถึงบรรยากาศในวิชา อ.ชัยวัฒน์ ว่าถกเถียงกับคนรุ่นเดียวกันอย่าง “อ.ยุกติ” และ “อ.เดชา” สนุกสนาน แต่ผมคิดว่าวิธีของ อ.ชัยวัฒน์อีกด้านที่คนพูดถึงน้อยคือการอ่าน “ตัวบท” อย่างละเอียด (Closed Reading) เพื่อดูว่า Syntax หรือระเบียบของตัวบทพูดอะไร
จุดเด่นของวิธีสอนแบบโสกราตีสคือมันทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงเรื่องที่เรียนได้ดี และทักษะที่อาจารย์ได้จากวิธีนี้ทำให้อาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรายการข่าวในตำนานอย่าง “มองต่างมุม” พร้อมอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอาจารย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นมากก็ตาม
สำหรับผมแล้ว ความโดดเด่นของ อ.ชัยวัฒน์ อยู่ที่การอ่านตัวบทอย่างละเอียดยิ่งกว่าความสนุกในการนำชั้นเรียน เพราะถ้าไม่มีการอ่านก็ไม่มีทางเกิดการถกเถียงที่ดีจนได้ “คำตอบที่ดี”
จะมีก็แต่การถกเถียงแบบต่อปากต่อคำไปเรื่อยๆ ที่ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างความรู้ได้เลย
ผมเรียนปริญญาเอกโดยมีอาจารย์ปรัชญาการเมืองคนเดียวกับ อ.ชัยวัฒน์ คือ Manfred Henningsen จุดเด่นของอาจารย์มานเฟรดคือการอ่านตัวบทปรัชญาการเมืองอย่างละเอียดหน้าต่อหน้า ตั้งแต่เพลโต, อริสโตเติล , มาคิอาเวลลี่, โทมัส ฮอบส์ ฯลฯ แบบที่เมื่ออ่านแล้วจะไม่มีวันลืมสิ่งที่อ่านได้เลย
ในชั้นเรียนของอาจารย์มานเฟรดซึ่งตอนนั้นอายุ 70 ปี สิ่งที่ผู้เรียนจะได้คือทักษะในการอ่านงานเขียนชิ้นสำคัญของนักปรัชญาการเมืองสำคัญด้วยสายตาที่ละเอียดจนเหลือเชื่อ
อาจารย์พาผู้เรียนไปสู่การทำความเข้าใจความคิดในบริบทความคิดและต่อยอดสู่การตั้งคำถามสำคัญต่อปัจจุบัน
ตอนที่ผมเรียนที่นั่น อาจารย์มานเฟรดบอกผมว่าสำหรับคนเรียนปรัชญาและทฤษฎีการเมือง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องอ่านตัวบทอย่างละเอียดและเข้มข้น เพราะเมื่ออ่านแล้วตัวบทนั้นจะอยู่กับเราไปตลอดกาล
และผมเชื่อว่าอาจารย์มานเฟรดต้องสอนอาจารย์ชัยวัฒน์ด้วยคำสอนนี้เช่นเดียวกัน
มานเฟรดเรียนปริญญาเอกที่มิวนิกโดยทำวิทยานิพนธ์ในปี 1967 กับนักปรัชญาเยอรมันคนสำคัญคือ Eric Voegelin ซึ่งเขียนงานที่ยากอย่างเหลือเชื่ออย่าง The New Science of Politics และงานห้าเล่มยักษ์อย่าง Order and History ที่เขียน 29 ปี และมาได้พิมพ์เล่มสุดท้ายหลังจากที่เขาตาย
อีริก โวกลิน เป็นลูกศิษย์ของฮันส์ เคลเซน, เป็นมิตรสนิทกับนักปรัชญาอย่าง Alfred Schutz และ F.A.Hayek, เป็นคนเขียนจดหมายรับรองให้มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ อพยพมาสหรัฐหลังถูกโจมตีว่าสนับสนุนนาซี และรับตำแหน่งในมหาวิทยาลัยมิวนิกต่อจากแมกซ์ เวเบอร์ ที่ไม่มีใครกล้ามา 40 ปี
รากทางปัญญาแบบนี้มีผลต่อวิธีอ่านงานปรัชญาการเมืองของ อ.ชัยวัฒน์ ในทางใดทางหนึ่งแน่นอน
งานทางปรัชญาของโวกลินไม่ค่อยมีคนพูดถึงในสังคมไทย แต่ในฐานะเป็นลูกศิษย์ของมานเฟรดซึ่งเป็นลูกศิษย์ของโวกลินที่กลายเป็นบรรณาธิการ Order and History เล่มที่ 5 อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นคนไทยที่อาจจะเป็นคนเดียวซึ่งพูดถึงงานของโวกลินใน The New Science of Politics ออกมา
เมื่อผมกลับจากสหรัฐอเมริกา อาจารย์ชัยวัฒน์โทร.ตามให้ผมไปนำสนทนาชั้นเรียนปริญญาโทของอาจารย์ที่วันนั้นเชิญโปรเฟสเซอร์จากสหรัฐมาบรรยายเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่าให้ทำไปก่อนแล้วจะไปช่วย แต่อาจารย์ไม่มาเลยจนการบรรยายจบลง
ผมจำไม่ได้ว่าอาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่าวันนั้นหายไปไหนหรือทำอะไร แต่จำได้ว่าอาจารย์ยิ้มเผล่แล้วบอกว่า “ผมรู้ว่าคุณทำได้” จากนั้นก็เนียนชวนคุยเรื่องอื่นโดยทำเป็นลืมเรื่องนี้ไปเลย
ทั้งชัยวัฒน์, มานเฟรด และโวกลินล้วนฝึกตนด้านปรัชญาโดยไม่มีปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง แต่ที่สุดคนเหล่านี้กลับสนใจปัญหาความรุนแรงหมด โวกลินเขียนงานยักษ์เรื่องอิสราเอล ส่วนมานเฟรดมีหนังสือเล่มสุดท้ายคือ “ระบอบแห่งความสยดสยองและความทรงจำ” ซึ่งพูดถึงค่ายกักกันนาซี
อาจารย์ชัยวัฒน์มีคุณูปการยิ่งใหญ่ในการลงหลักและพัฒนาแนวคิดสันติวิธีในสังคมไทย ผมคิดว่าไม่ใช่ความบังเอิญที่อาจารย์, อาจารย์ของอาจารย์ และอาจารย์ของอาจารย์ของอาจารย์ซึ่งมีจุดเริ่มต้นทางปัญญาจากปรัชญาการเมือง กลับจบด้วยการศึกษาความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อย่างที่บอกไป
ในสังคมที่ความรุนแรงทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนความรุนแรงโดยรัฐทุกยุคไม่เคยมีคนรับผิด อ.ชัยวัฒน์บุกเบิกนำเข้าและพูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง, ความรุนแรงทางวัฒนธรรม, ความรุนแรงทางอัตลักษณ์, ความรุนแรงสามจังหวัดใต้ ฯลฯ จนไวยากรณ์การคิดแบบนี้ปักหลักในสังคม
อีริก โวกลิน เกือบถูกตำรวจลับของฮิตเลอร์จับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนหนีตายไปมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จากนั้นเขาขยายความสนใจสู่ความรุนแรงทางการเมืองในศตวรรษที่ 20 จนเขียนงานสำคัญว่าการตีความคริสต์ศาสนาแบบบิดเบี้ยวคือต้นตอระบอบรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์และนาซี
เมื่อผมเรียนกับอาจารย์มานเฟรดซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์ชัยวัฒน์อีกที นอกจากปรัชญาการเมืองแล้ว อาจารย์มานเฟรดเริ่มสอนเรื่องความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบุรุนดี, รวันดา, เขมรแดง, จีน, โซเวียต ฯลฯ รวมทั้งงานสำคัญของฮันนาห์ อเรนด์ อย่าง Eichmann in Jerusalem
เส้นทางปัญญาของอาจารย์ชัยวัฒน์คล้ายกับอาจารย์ของอาจารย์ และอีริก โวกลิน สามคนนี้เดินทางจากปรัชญาการเมืองสู่การทำความเข้าใจความรุนแรงในสังคมร่วมสมัย แต่อาจารย์ชัยวัฒน์อาจต่างจากคนอื่นบ้างในแง่ที่อาจารย์ไปถึงขั้นทำงานด้านสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรงออกมาโดยตรง
ถ้าจะมีอะไรยึดโยงคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ผมคิดว่าสิ่งนั้นคือการเคารพในปรัชญาการเมืองอย่างแรงกล้า เพราะถึงที่สุดปรัชญาการเมืองคือการตั้งคำถามเพื่อพินิจว่าการเมืองคืออะไร, สังคมการเมืองที่ดีคืออะไร และเราจะไปสู่สังคมแบบนั้นอย่างไร ถึงแม้นั่นจะไม่ใช่สิ่งที่นักปรัชญามุ่งตอบโดยตรง
ความน่าทึ่งของอาจารย์ชัยวัฒน์อยู่ที่ความพยายามนำเข้าและผสมแนวคิดยากๆ เพื่ออธิบายปัญหาในสังคม อาจารย์ให้เลนส์ใหม่ในการมองปัญหาเด็ก, ศาสนา, ประชาธิปไตย, วัฒนธรรม, งบฯ ทหาร ฯลฯ
ซึ่งไม่ว่าอาจารย์ชัยวัฒน์จะอยู่หรือไม่ มรดกทางปัญญาที่อาจารย์ทิ้งไว้จะไม่มีวันเลือนหายไปเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022