จับตาศึกตะวันออกกลาง ลามขึ้นเหนือสู่เลบานอน

ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านไอตา อัล-ชาบ ทางตอนใต้ของประเทศเลบานอน ติดกับพรมแดนอิสราเอล หลังจากการสู้รบโจมตีระหว่างกองกำลังอิสราเอลกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ยังคงดำเนินต่อไป (รอยเตอร์)

หลังจากอิสราเอลส่งกองทัพตะลุยเข้าสู่ฉนวนกาซา ไล่ดะลงมาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ชนิดที่แทบไม่ฟังเสียงใครทั้งสิ้น หลายคนพากันคาดหวังว่า เมื่อทุกอย่างบรรลุเป้าหมายในกาซาแล้ว สงครามในตะวันออกกลางก็จะสร่างซาลง

แล้วก็หวังกันว่า เมื่อการเจรจาสันติภาพได้ข้อยุติ สภาพการสู้รบก็จะสิ้นสุดลงเสียที

แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม บรรดานักการทูตและผู้สันทัดกรณีจำนวนมากกลับหวั่นเกรงว่า กองทัพอิสราเอล (ไอดีเอฟ) อาจตัดสินใจครั้งสำคัญ เปิดฉากสงครามครั้งใหม่อีกครั้ง ด้วยการถล่มฮิซบอลเลาะห์ แล้วบุกขึ้นเหนือสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน แหล่งซ่องสุมและเป็นพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิหร่านกลุ่มนี้

ข้อเท็จจริงก็คือ พื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลที่ติดต่อกับทางตอนใต้ของเลบานอน กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่ไม่สามารถใช้อยู่อาศัยได้อีกแล้ว หลังจากถูกฮิซบอลเลาะห์โจมตีต่อเนื่องมานานหลายเดือน ด้วยจรวดและขีปนาวุธ

ถึงขนาดทางการต้องอพยพชาวบ้านไม่น้อยกว่า 70,000 คนออกจากพื้นที่ และยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติจนถึงบัดนี้

นั่นเป็นเรื่องที่อิสราเอลรับไม่ได้ และไม่เคยยอมให้เกิดขึ้นมาก่อน

 

มีความพยายามทางการทูตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากทางฝ่ายอเมริกันและยุโรป เพื่อโน้มน้าวให้ฮิซบอลเลาะห์ถอนกำลังล่าถอยออกจากแนวชายแดนไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร หวังจะขจัดเงื่อนไขของสงครามดังกล่าวนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีวี่แววว่าจะประสบผล

พื้นที่ตอนใต้ของเลบานอน ไม่ใช่สมรภูมิใหม่สำหรับไอดีเอฟ เพราะกองทหารอิสราเอลเคยยึดครองพื้นที่ตามแนวชายแดนด้านใต้ของเลบานอนไว้เป็นเวลานานจนกระทั่งถึงปี 2000 และไม่นานหลังจากถอนตัวออกมา การสู้รบครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นตามมาในปี 2006 ศึกที่รู้จักกันในเวลานี้ว่า คือสงคราม 34 วันระหว่างฮิซบอลเลาะห์กับกองทัพอิสราเอล

หากอิสราเอลตัดสินใจเปิดศึกทางตอนเหนืออีกครั้ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างไร นี่เป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบเอกฉันท์ได้ ความเห็นส่วนใหญ่แตกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งเชื่อว่า อย่างไรเสีย อิสราเอลก็จะยังคงมีสภาพเหนือกว่าอยู่มาก

แต่ในอีกทางหนึ่งกลับเห็นเป็นตรงกันข้าม

ฝ่ายหนึ่งมั่นใจว่า 18 ปีหลังการสู้รบครั้งสุดท้าย อิสราเอลยังมีศักยภาพเหนือกว่าอยู่ไม่น้อย

เครื่องบินรบอิสราเอลเคยบินถล่มที่ตั้งของฮิซบอลเลาะห์ได้อย่างน้อย 100 เป้าหมายต่อวันเมื่อ 18 ปีก่อน แต่สามารถทำได้มากถึงกว่า 3,000 จุดต่อวันในเวลานี้

ขณะเดียวกัน ฮิซบอลเลาะห์เองก็อ่อนแอลงไม่น้อยเช่นกันในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงสูญเสียที่มั่นส่วนใหญ่ให้กับการโจมตีของอิสราเอลไปเท่านั้น ยังสูญเสียกองกำลังไปไม่น้อยกว่า 400 ราย

ในขณะที่อิหร่าน ลูกพี่ใหญ่เองก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดศึกโดยตรงกับอิสราเอลเช่นเดียวกัน

 

กระนั้น ก็มีผู้สันทัดกรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในอดีตจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ฮิซบอลเลาะห์เองก็เตรียมการเพื่อรับมือกับอิสราเอลไว้ในระดับพอสมควรแล้วเช่นเดียวกัน อย่างน้อยที่สุดก็สามารถรองรับการโจมตีเมื่อสงครามเริ่มเปิดฉากได้ ก่อนที่จะก่อศึกยืดเยื้อด้วยยุทธวิธีกองโจร โจมตีกลับด้วยการแทรกซึมเข้าสู่แนวหลังผ่านทางเครือข่ายอุโมงค์ที่สร้างขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ

นักการทหารไม่น้อยที่ระบุว่า ขณะที่กองทัพอิสราเอลสั่งสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ฮิซบอลเลาะห์เองก็เช่นเดียวกัน หากอิสราเอลทุ่มกำลังเข้าสู่ตอนใต้ของเลบานอนหลังการโจมตีทางอากาศ สิ่งที่จะเผชิญก็คือ กองทัพโดรนที่พร้อมปฏิบัติการกามิกาเซ่ เพื่อทำลายรถถังฝ่ายตรงข้ามจากจุดที่เปราะบางที่สุด คือด้านบนของตัวรถ

ในเวลาเดียวกัน นักรบฮิซบอลเลาะห์ที่ผ่านการฝึกจากทั้งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของอิหร่านและกองกำลังรัฐอิสลามเพื่อทำสงครามในซีเรียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเพิ่มพูนขีดความสามารถขึ้นอย่างเอกอุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองกำลัง “รัดวัน” หน่วยรบพิเศษของฮิชบอลเลาะห์ที่มีขีดความสามารถมากพอที่จะบุกเข้ามาโจมตีภายในดินแดนอิสราเอลได้ไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร

นายทหารในกองทัพอิสราเอลรายหนึ่งเตือนว่า ฮิซบอลเลาะห์ไม่เพียงพัฒนากองกำลังภาคพื้นดินของตนเท่านั้น ยังพัฒนาการโจมตีจากระยะไกลด้วยอาวุธอย่างโดรน จรวด และขีปนาวุธได้แม่นยำและต่อเนื่องได้มากยิ่งขึ้นด้วยอีกต่างหาก

ฮิซบอลเลาะห์สามารถใช้โดรนเพื่อคลำหาเป้า แล้วจึงถล่มด้วยจรวดนำวิถีได้อย่างแม่นยำ หากกองทัพอิสราเอลตั้งอยู่ในที่มั่นที่ผ่านการพรางเป็นอย่างดี ความสูญเสียอาจไม่เกิดขึ้น แต่หากเกิดสถานการณ์ต้องเคลื่อนกำลังบุก เป้าที่เคยลับก็จะกลายเป็นเป้าหมายเปิดเผยไปในทันที

 

ฮิซบอลเลาะห์ประสบความสูญเสียไม่น้อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็จริง แต่อ่อนแอลงหรือไม่ยังยากที่จะตอบได้ ที่สำคัญก็คือในเวลาเดียวกันนั้น กองทัพอิสราเอลก็ตกอยู่ในสภาพกะปลกกะเปลี้ยจากศึกกาซาไม่น้อยเช่นกัน

ปัญหาสำคัญที่สุดของอิสราเอลอาจไม่ใช่การรุกทางภาคพื้นดิน แต่เป็นความจริงที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถป้องกันภัยให้กับพลเรือนภายในประเทศให้สามารถรอดพ้นจากขีปนาวุธนำวิถีจากเครื่องยิงหลายหัวรบที่ฮิซบอลเลาะห์มีอยู่ในสต๊อกมากมายในเวลานี้

เมื่อ 18 ปีก่อน ฮิซบอลเลาะห์มีจรวดและมิสไซล์อยู่ในคลังราวๆ 15,000 ลูก ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาวุธนำวิถี พิสัยทำการเพียงแค่ 20 กิโลเมตรหรือน้อยกว่า

ทุกวันนี้ที่อยู่ในคลังแสงของฮิซบอลเลาะห์ มีไม่น้อยกว่า 120,000 ลูก แทบทั้งหมดเป็นอาวุธนำวิถี และจากที่เคยถล่มได้เพียงแค่ไฮฟา ในเวลานี้ฮิซบอลเลาะห์สามารถโจมตีได้ถึงเทลอาวีฟเลยทีเดียว

ผลการศึกษาวิจัย “ลับ” ที่ยังไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ จัดทำแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ฮิซบอลเลาะห์สามารถยิงถล่มอิสราเอลด้วยจรวดและขีปนาวุธได้ในอัตรา 2,500-3,000 ลูกต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์

ประเมินความสูญเสียของฝ่ายอิสราเอลได้ว่า อาจมีสูงถึงเป็นเรือนหมื่นราย

อะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น แทบไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการก็คาดเดาได้ว่า มหาสงครามในตะวันออกกลางคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นอย่างแน่นอน