ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
การเลือกสรร ส.ว. 2567 ปิดฉากลงไปแล้วอย่างเละเทะอื้อฉาว โดยได้รับเสียงวิจารณ์อื้ออึงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับ ส.ว. ที่ไม่ตรงกับกลุ่มอาชีพ หรือขาดความน่าเชื่อถืออย่างมากในด้านประสบการณ์การทำงาน
นอกจากนี้ บางคนยังมีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาและตำแหน่งทางวิชาการที่อาจกล่าวอ้างเกินจริง หรือกล่าวอ้างไม่ตรงตามความเป็นจริง
โดยรวมแล้วผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. หลายคนถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพและที่มาอันน่ากังขาว่ามาจากการจัดตั้งด้วยวิธีการโดยมิชอบหรือไม่
ผลพวงที่ตามมาหลังวันที่ 26 มิถุนายน ไม่เพียงสะเทือนต่อสถานภาพ ตลอดจนความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองของบรรดาผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.เท่านั้น
แต่ยังกระทบกระเทือนภาพลักษณ์ของ กกต. ในฐานะที่เป็นกรรมการจัดการเลือกตั้งอีกด้วย เพราะเป็นผู้ออกกฎ ควบคุมกฎ และดำเนินการให้กระบวนการนี้ผ่านมาจนถึงวันสุดท้าย
ดังนั้น หากมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในขั้นตอนใดก็ตาม กกต.ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่เพียงแต่ปัญหาเรื่องความโปร่งใสภายในกระบวนการเลือกที่มีปัญหา แต่เสียงวิจารณ์มากมายยังมีไปถึงคุณสมบัติของผู้สมัครแต่ละคนด้วย
การที่ กกต.ปล่อยให้ผู้สมัครจำนวนมากที่คุณสมบัติมีปัญหาผ่านเข้ามาจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ได้ทำให้ผลของการเลือกในแต่ละรอบออกมาเป็นเช่นนี้
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.คนใดถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติในภายหลัง ก็จะปรากฏความเสียหายต่อผู้สมัครคนอื่นๆ ตามไปด้วย
เพราะผู้สมัครทุกคนในระบบการเลือกแบบนี้ได้ส่งคะแนนโหวตของตนออกไปเป็นจำนวนมาก โดยที่แต่ละคะแนนก็มีผลส่งต่อกันไปเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ชนะและผู้แพ้ได้
หลังการเลือก ส.ว. วันที่ 26 มิถุนายน ผ่านพ้นไป ได้มีผู้สมัครที่อกหักจำนวนมากรวมตัวกันเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งศาลและ กกต. โดยกลุ่มผู้พ่ายแพ้เหล่านี้มีมากกว่าผู้ชนะหลายเท่า และอาศัยการรวมตัวทางไลน์เป็นช่องทางหลัก ทั้งยังตรวจสอบสมาชิกในไลน์กลุ่มอย่างเข้มงวด เช่น ลบแอ็กเคาต์ที่ไม่ใช้ชื่อจริง และไม่ใช้รูปตัวเองเป็นรูปโปรไฟล์ออกไปจากกลุ่ม ฯลฯ
ซึ่งข้อร้องเรียนส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่ประเด็นหลัก 2 เรื่อง คือ
(1) คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.
(2) กระบวนการเลือกไม่สุจริตเนื่องจากมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบจากกลุ่มการเมืองด้วยอามิสสินจ้าง หรือฮั้วกันมาลงคะแนน หรือบล็อกโหวต (block vote)
ผู้ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนเกือบทั้งหมดมีแรงจูงใจในฐานะที่เป็นผู้เสียประโยชน์จากผลลัพธ์ที่ออกมา เนื่องจากหากมีผู้ได้รับเลือกคนใดตกสวรรค์ คนที่อยู่ในบัญชีสำรองก็จะทยอยเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ว.แทน ด้วยเหตุนี้จึงมีความกระตือรือร้นในการสอยผู้ชนะลงมาให้ได้
แต่บางคนไม่ได้หวังเพียงแค่สอยใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ทว่า ต้องการล้มผลการเลือกทั้งหมด แล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่
ซึ่งในฝ่ายที่ต้องการล้มกระดานนี้มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไปหลายแบบ แต่ละแบบมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดฉากทัศน์ต่างๆ แยกออกไปได้ดังนี้
1.ระงับการประกาศรับรองผลการเลือก ส.ว.ออกไป จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบและวินิจฉัยข้อร้องเรียนต่างๆ ให้แล้วเสร็จ
2. นับคะแนนการเลือกในระดับประเทศใหม่ เพื่อตรวจสอบว่ามีการจัดตั้งหรือทุจริตหรือไม่
3. ประกาศให้การเลือกเป็นโมฆะ แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่ในระดับประเทศ
4. ประกาศให้การเลือกเป็นโมฆะ แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่ในระดับจังหวัดและประเทศ
5. ประกาศให้การเลือกเป็นโมฆะ แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่ในทุกระดับ
6. ประกาศให้การเลือกเป็นโมฆะ แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่ โดยรับสมัครใหม่ด้วยกติกาเดิม
7. ประกาศให้การเลือกเป็นโมฆะ แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกใหม่ โดยรับสมัครใหม่ด้วยกติกาใหม่
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าข้อ 7. นั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะจำเป็นต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.ป.ส.ว. ฉบับปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้เวลานาน รวมทั้งอาศัยงบประมาณและทรัพยากรเพิ่มเติมอีกมาก
ส่วนข้อ 6. แม้จะใช้เวลาน้อยกว่า แต่ก็อาศัยงบประมาณและทรัพยากรมากเช่นกัน ที่สำคัญคือตราบใดที่ยังเป็นกติกาเดิม ปัญหาเดิมย่อมเกิดขึ้นอีก วิธีนี้จึงไม่ได้ช่วยอะไร รังแต่จะสร้างเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าเข้ามาใหม่ไม่จบสิ้น
สำหรับข้อที่ 3, 4, 5 หากเรื่องออกมาเป็นเช่นนี้ก็มีแต่ผู้แพ้ที่พอใจ เพราะได้มีโอกาสแก้มือใหม่ แต่จะวุ่นวายไม่ต่างจากเดิม นั่นคือผู้ชนะพอใจ ผู้แพ้เจ็บใจ จากนั้นก็ถึงคิวผู้แพ้หน้าใหม่กลายมาเป็นผู้ร้องเรียนอีก วนเวียนอย่างนี้ไปไม่รู้จบ
ครั้นพอพิจารณาความเป็นไปได้ข้อ 2 ก็พบว่ามีเหตุอันชวนให้เชื่อว่าการเลือกเป็นไปอย่างไม่สุจริตโปร่งใส เพราะการลงคะแนนเหมือนกันเป็น “เลขชุด” ในกลุ่มผู้ที่ได้รับเลือกประมาณ 6 คนแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพปรากฏให้เห็นเด่นชัดว่า “เตี๊ยม” กันมาแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะเอาผิดทางอาญาได้ อย่างมากก็แค่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ซึ่งทำให้ได้แต่ตั้งข้อสงสัย หรือมากที่สุดคือเลือกใหม่ แล้วพอเลือกใหม่ก็ได้ผลเช่นเดิมอีกไม่ต่างกัน
บทสรุปของเรื่องนี้ด้วยการประกาศให้เป็นโมฆะแล้วนับคะแนนใหม่ หรือโมฆะแล้วเลือกใหม่ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม หรือแม้กระทั่งโมฆะแล้วรับสมัครใหม่ ตราบใดที่ยังใช้กติกาแบบเดิม ปัญหานี้ก็จะมีเหมือนที่ผ่านมา ทางออกนี้จึงไม่มีประโยชน์ รังแต่จะสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเหลือคณานับ
เพราะฉะนั้น หากต้องการคลี่คลายวิกฤตนี้โดยอาศัยผลลัพธ์บั้นปลายเป็นฐานคิด ก็ดูจะมีแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้น คือ
(1) แก้ไขกติกาใหม่แล้วเลือกใหม่
และ (2) ประกาศรับรองผลแล้วค่อยไปสอยทีหลัง ซึ่งอย่างหลังมีผลกระทบน้อยกว่าและน่าจะเป็นไปได้ที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม หากประกาศรับรองผลแล้วสอยทีหลังก็จะนำมาสู่ปัญหาอื่นอีก นั่นคือ “บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟ็กต์” (butterfly effect) ตามที่ได้เขียนเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง “อาฟเตอร์ช็อกและปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก ควันหลงสงคราม ส.ว.”
จากการที่แต่ละคนได้ใช้สิทธิโหวตไปหลายคะแนนแล้ว จากการเลือกทั้งหมด 6 รอบ การสอยแล้วเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาเฉยๆ จึงมิอาจสร้างความชอบธรรมให้กับคนที่เข้ามาแทนได้ มิอาจคืนความยุติธรรมให้กับผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ยิ่งสอยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลต่อคะแนนโหวตที่ถูกต้องชอบธรรมมากเท่านั้น
การปล่อยให้จบไปแบบห้วนๆ ดื้อๆ จึงทิ้งสถานะที่คลุมเครือเอาไว้ให้กับผู้สมัครทุกคนว่าจริงๆ แล้วพวกเขาแพ้หรือชนะ และได้คะแนนโหวตเท่าไหร่กันแน่
ไม่ว่าท้ายที่สุดเรื่องราวจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน กกต.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเวทีนี้โดยตรงมาตั้งแต่ต้นจนจบจะลอยตัวปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบผู้กระทำผิดเพราะขาดคุณสมบัติ จะชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร เนื่องจาก กกต.เป็นคนปล่อยให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการนี้มาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งสร้างความยุ่งเหยิงตามมาในภายหลัง
ลำพังแค่ทำงานไปเรื่อยๆ แล้วปัดความผิดทั้งปวงให้ตกไปอยู่ที่ผู้สมัครจึงไม่อาจยุติเรื่องอื้อฉาวได้แน่ แต่คือการที่ กกต.ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเองให้พ้นไปจากข้อกังขาที่สังคมเริ่มตั้งคำถามดังขึ้นหนาหูว่าเรื่องไม่ชอบมาพากลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร กกต.สมรู้ร่วมคิดด้วยหรือไม่
ฉะนั้น สิ่งที่ผู้คนในสังคมจำนวนมากอยากเห็นจาก กกต. จึงไม่ใช่แค่รับรองผลหรือไม่ เมื่อไหร่ อย่างไร
แต่ก็คือการสืบสวนตรวจสอบทุจริตอย่างแข็งขันและเอาผิดให้ได้ เหมือนตอนที่ออกระเบียบยุบยิบมาห้ามผู้สมัคร และจำกัดการสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มงวด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022