‘โลกของนักการเมือง’

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ค่อยๆ เคลื่อนตัวมาสู่ภาวะที่หลายคนนิยามว่าเป็นสังคมการเมืองแบบ “สามเส้า” “สามก๊ก” หรือ “สองข้างสามขั้ว” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ขั้วที่หนึ่ง คือ พรรคก้าวไกลที่ยังคงมีคะแนนความนิยมสูงมากในระดับชาติ ต่อเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปปีก่อน ยืนยันได้ด้วยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยนิด้าโพลครั้งล่าสุด

ขั้วถัดมา คือ พรรคเพื่อไทยที่ได้หวนคืนอำนาจ โดยได้สิทธิ์ในการบริหารประเทศด้วยฐานะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล แม้ตนเองจะมิได้เป็นพรรคการเมืองที่มีความนิยมสูงสุดดังเช่นยุค 2540-2550 ก็ตาม

ขั้วสุดท้าย ที่ยังไม่ต้องขุดเจาะตื้นลึกหนาบางอะไรมากมาย แต่สามารถมองเห็นได้จากสามัญสำนึกระดับพื้นฐานที่สุด ก็คือ บรรดา 200 “ส.ว. 2567” ที่มีแนวโน้มว่ากว่าครึ่งหนึ่งของสภาสูงชุดใหม่จะมาจากกลุ่มก้อนการเมืองเดียวกัน หรือมาจากเครือข่ายที่ประสานประโยชน์ใกล้ชิดกัน ซึ่งจะกลายเป็นพลังสำคัญในกระบวนการนิติบัญญัติ (รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) และเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งบุคลากรขององค์กรอิสระต่างๆ

(ส่วน ส.ว.เกินครึ่งสภาจะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แยกออกไป โดยที่ผู้คนจำนวนมากต่างก็รับรู้คำตอบกันดีอยู่ในใจ)

นี่คือการดำรงอยู่ของ “กลุ่มอำนาจสามกลุ่ม” ในระนาบของ “นักการเมือง” ที่มีความเด่นชัดมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เราสามารถตระหนักชัดได้เพียงว่าก้าวไกลกับเพื่อไทยนั้นถึงเวลาต้องแยกกันเดิน ทว่า กลับยังไม่แน่ใจว่าใครหรือกลุ่มบุคคลใด ที่จะมาสานต่อการทำงานทางการเมืองแบบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

 

เรามองเห็นอะไรจากภาวะ “สามก๊ก-สามขั้ว-สามเส้า” เช่นนี้?

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ ใน “พื้นที่ของนักการเมือง” “โลกของนักการเอง” หรืออาจจะเรียกได้ว่า “สมรภูมิทางอำนาจของนักการเมือง” นักการเมืองกลุ่มหลักๆ ในพื้นที่/โลกดังกล่าว มีกลไกในการถ่วงดุลอำนาจกันเอง

หรือมองในอีกมุมหนึ่ง “ผู้เขียนกฎกติกา” หรือผู้ออกแบบโครงสร้าง-สถาปัตยกรรมทางอำนาจของสังคมการเมืองไทย ก็ได้วางแปลนให้เหล่านักการเมืองเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกันในพื้นที่/โลกเฉพาะแบบนี้ตั้งแต่ต้น

กระทั่งเกิดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมหาชน/มวลชน ซึ่งยืนหยัดได้ด้วยกระแสนิยมของประชาชน และยังมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะใช้ชื่อพรรคว่าอะไรหรือถูกยุบพรรคอีกกี่ครั้ง

ทว่า กลับยังมองไม่เห็นอนาคต ว่าพรรคการเมืองพรรคนี้จะเข้าครอบครองอำนาจรัฐได้อย่างไร ในโครงการสร้างการเมืองไทยอย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

แล้วก็มีพรรคการเมือง ซึ่งเคยมีประสบการณ์เป็นรัฐบาลที่ “ประสบความสำเร็จ” สูงที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง 2475 ที่ได้รับโอกาสเข้าไป “ทดลองบริหารประเทศ” รอบใหม่ ในบริบททางการเมืองแบบใหม่ ที่ไม่รับประกันว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จซ้ำเป็นรอบที่สอง

ทั้งยังมีอีกกลุ่มการเมืองที่สามารถยึดกุมวุฒิสภาเอาไว้ได้ ซึ่งมิได้หมายความว่าพวกเขาจะมีอำนาจเพียงแค่ในทางนิติบัญญัติหรือในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ หากยังอาจมีความยึดโยงกับกระบวนการเจรจาต่อรองทางการเมืองในสภาผู้แทนฯ และ ครม.อีกด้วย

แต่ ส.ว.เหล่านี้ อาจต้องผ่านขั้นตอนของการถูกตรวจสอบ (ทั้งโดยทางการและไม่ทางการ) อย่างหนัก ด้วยภูมิหลังที่มาอันคลุมเครือและน่าสงสัยในหลายกรณี

หมายความว่าไม่มีใครในสามขั้วอำนาจนี้ที่จะชนะได้อย่างเด็ดขาด หรือประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงและไร้ทางสู้

 

โดยส่วนตัว ยังคงยืนยันเหมือนที่เคยเขียนเอาไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า ในสภาวะที่นักการเมืองสามกลุ่มใหญ่ๆ สามารถถ่วงดุลกันเองได้อย่างสูสีสมน้ำสมเนื้อเช่นนี้

ทำไมจึงไม่อดทนปล่อยให้พวกเขาเล่นเกมของตัวเอง (และอ่านเกมของฝ่ายอื่น) ในพื้นที่/โลกเฉพาะใบนั้นไปเรื่อยๆ โดยพยายามเข้าแทรกแซง “โลกของนักการเมือง” ให้น้อยที่สุด และอย่าเพิ่งเร่งรีบสร้างเงื่อนไขพิเศษอื่นๆ เข้าไปเปลี่ยนแปลงเกมของนักการเมือง

จนเกิดเป็น “สถานการณ์ใหม่” ที่คาดเดา-ควบคุมได้ยาก •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน