‘ไร้เกียรติยศ’ คืนบาป-พรหมพิราม

“เกียรติยศ” ถ้าฟังอย่างผิวเผินเข้าใจความหมายได้ไม่ยาก

แต่ในชีวิตจริง “เกียรติยศ” ถูกใช้อย่างซับซ้อน สุดแท้แต่ละสังคมหรือชุมชนจะกำหนดขึ้น เช่น จากฐานะความร่ำรวย ชนชั้น ตำแหน่ง สถานะทางสังคม รถยนต์นั่ง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เข็มขัด เครื่องประดับ บ้านช่องห้องหอ หรือแม้กระทั่ง “สุสาน” ล้วนถูกใช้เป็นเงื่อนไขปัจจัยในการจำแนกลำดับชั้นของเกียรติยศ

เมื่อ 20 ปีก่อนมีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งโด่งดังมาก

“คืนบาป พรหมพิราม” เป็นภาพยนตร์ไทยที่กวาดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 13 ไปเยอะมาก เช่น รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงหญิงนำยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

คืนบาป-พรหมพิราม นำเอาคดีอาชญากรรมเมื่อปี 2520 มาเขียนเป็นบทภาพยนตร์

เหตุเกิดในพื้นที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

 

ราว 5 ทุ่มของวันที่ 27 กรกฎาคม 2520 ที่สถานีรถไฟบ้านดารา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หญิงสาวอายุราว 20 คนหนึ่งขึ้นรถไฟขบวนเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ต่อมาถูก “นายตรวจรถไฟ” ขอดูตั๋ว เมื่อไม่มีตั๋ว ไม่มีเงิน ถึงจะดึกดื่นค่อนคืนเช่นนั้น นายตรวจก็ไล่ลงที่สถานีรถไฟ “พรหมพิราม”

ชีวิตหญิงผู้หนึ่งจะเป็นเช่นไรยากจะคาดเดา

หญิงสาวเคว้งคว้าง หิวโหย โซซัดโซเซออกจากชานชาลาพรหมพิรามไป พลันสายลมเย็นวูบมาพร้อมปรากฏเงาสลัวของคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อชัดขึ้นก็เห็นเป็นชายล้วน พวกนั้นชักชวนไปกินอาหารในงานเลี้ยงซึ่งมองเห็นแสงไฟริบหรี่เบื้องหน้า

มิคาดว่า นั่นกลายเป็น “คืนบาป-พรหมพิราม”

สองวันถัดมา หนังสือพิมพ์พาดหัว พบศพวางให้รถไฟทับคอขาด อำพรางคดีที่พรหมพิราม

เหตุเกิดผ่านไปเกือบ 1 เดือน ตำรวจยังเงียบ แต่ “คนดีพรหมพิราม” ไม่อาจนิ่งเฉย รวมตัวกันร้องสื่อว่า หญิงที่ถูกรถไฟทับคอขาดไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการข่มขืนแล้วฆาตกรรมอำพราง

พ.ต.อ.สมชาย ไชยเวช หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลกขณะนั้น (พล.ต.อ.สมชาย ไชยเวช อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ) เข้าควบคุมการทำคดีเองจนสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดได้เกือบ 10 คน

 

ตั้งแต่สมัยก่อนถึงสมัยนี้ ในสังคมไทยยังมีความคิดว่า “เกียรติหญิง” ไม่เท่าเทียมชาย

แม้แต่ในบรรดา “หญิง” ด้วยกันก็ยังเหยียดแบ่งชั้นจำแนกแยกย่อยกันออกไปตามตำแหน่ง สถานะทางสังคม ตามแต่จะ “สร้างขึ้น” เช่น ถ้าในด้านความสวยก็มีเวทีให้ประกวด จากนั้นก็จำแนกชั้นตามที่หญิงผ่าน “เข้ารอบ” หญิงผ่านไปจนถึงชั้น “นางงาม” ก็มีมง ในจำพวกที่มี “มง” ก็ยังต้องดูว่ามงเล็ก มงกลาง หรือมงใหญ่

สำหรับ “หญิง” ที่ถูกชายรุมข่มขืนและฆาตกรรมอำพรางนำศพไปวางให้รถไฟทับ ที่พรหมพิราม เมื่อปี 2520 นั้นทราบภายหลังว่า สติไม่สมประกอบนัก จึงย่อมจะถูกเหยียดคุณค่าให้ต่ำลงไปจนแทบไม่เห็นความเป็นมนุษย์

ตายฟรี ถ้าคดีถูกเป่าให้เป็น “อุบัติเหตุ”!

คนเข้มแข็งจำนวนหนึ่งในสังคมของเราจึงคุ้นชินที่จะข่มเหงคนที่อ่อนแอกว่า

“ชาย” ก็มักง่ายกับการกดขี่รังแก “หญิง”!

 

กล่าวสำหรับ “ศาลยุติธรรม” น่ายินดีที่สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติแต่งตั้งให้ “นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” ขึ้นเป็น “ประธานศาลฎีกา” คนที่ 50 สืบต่อจากนางอโนชา ชีวิตโสภณ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 นี้

สร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรชายหญิงเสมอกัน ส่วนใครจะเก่งกล้าสามารถมีภาวะผู้นำขั้นไหนนั้นก็ว่ากันไป แต่ภาพที่ปรากฏก็คือ หากคุณสมบัติสำหรับตำแหน่งครบถ้วนถูกต้องเหมาะสม ในบ้านเราทั้งศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด มี “ผู้หญิง” ขึ้นเป็นผู้นำหน่วยแล้วหลายคน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในวงการศาลยุติธรรม ยังไม่เคยมีปรากฏที่ “ผู้พิพากษาหญิง” ระดับสูงๆ ถูกไล่ออก

ต่างกับ “ชาย” หลายคนโชกโชนจึงชุ่มโชกไปด้วย “ลาภ” และ “เลือด” ทำให้ในอดีตเคยมีรุ่นใหญ่ระดับ “ประธานศาลอุทธรณ์” ระดับ “รองประธานศาลฎีกา” ถูกไล่ออกไปแล้วไม่น้อยกว่า 5 ราย

ถึงอย่างนั้น “ความเสี่ยง” อันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติละเมิดจริยธรรมของผู้พิพากษาชายก็ยังมีอยู่มากกว่าหญิง เพราะมักตกหลุมพรางของความรัก ความโลภ ความโกรธ โทสะ โมหะ ดังเช่น ข่าว “ถุงขนมฮ่องกง” ที่ยังไม่เคลียร์

หรือว่า หมวด 5 จริยธรรม เกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัวของตุลาการ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ!

หรือว่า ข้อ 35 “จักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดอยู่ในกรอบของศีลธรรม…” ยังขาดความเข้มข้น

ประเด็น “เกียรติยศ” ของผู้ทำหน้าที่ “อำนวยความยุติธรรม” และ “ชี้กรรม” ของผู้อื่นจึงไม่ใช่สถานะหรือตำแหน่งที่ “สูง” และห้ามแตะต้อง หากแต่ควรจะเป็น “การประพฤติ” ที่อยู่ใน “มาตรฐานทางจริยธรรม” มี “ความโปร่งใส” และถูกตรวจสอบได้

ไม่ใช่ “คุมกันเอง” แล้วปฏิเสธ “ค่านิยม” การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่สร้างธรรมเนียมที่เปิดเผยโปร่งใสอย่างสง่าผ่าเผยต่อสาธารณชน ไม่มีมาตรการที่ทำให้เกิดความละอายต่อการกระทำ มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่มุบมิบ ไม่ปกปิดซ่อนเร้น

และไม่กลัวที่เรื่องข้างในจะรั่วออกไปสู่โลกภายนอก

 

ดังเช่น เหตุที่เกิดบน “ตู้นอน” ในรถไฟสายหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้

“ผู้บังคับบัญชา” ซึ่งเป็น “ชาย” นายหนึ่งกระทำผิดกฎหมาย คุกคามล่วงละเมิดทางเพศต่อ “หญิงสาว” ผู้ใต้บังคับบัญชา

กรณีนี้ “สาหัส” กว่าเมื่อปี 2545 ที่เคยมีคนหนึ่ง จดทะเบียนสมรสซ้อนถึง 4 ใบ ซึ่งนอกจากจะทำผิดกฎหมายเสียเองแล้ว ในทางวินัยถือว่า “ประพฤติชั่ว” อนาคตดับ ถูกไล่ออกจากราชการ ทั้งๆ ที่เป็น “ดาวรุ่ง” ของวงการ

รายใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ “นายชาย” ก่อเหตุอุกอาจ แต่ “หญิงสาว” ต่อสู้ ขัดขืน จนเรื่องฉาว

อาจจะจริงที่มนุษย์เรามี “เกียรติยศ” ไม่เท่ากัน

แต่ “เกียรติ” ที่ว่านั้นไม่ใช่จากสูงต่ำดำขาว ตำแหน่งใหญ่เล็ก ไม่มีหรือมั่งมี หากแต่อยู่ที่คุณเป็นใคร ทำอะไร และประพฤติอย่างไร!?!!!