ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ได้ครองเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ด้วยชนะ “คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นักวิเคราะห์การเมืองดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญนักว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลต่อแนวโน้มการพัฒนาจังหวัดปทุมธานีอย่างไร ด้วยทุกคนล้วนตั้งหน้าตั้งตามองไปที่ชัยชนะของ “ชาญ” จะสะท้อนการเมืองในภาพใหญ่อย่างไร
ว่ากันง่ายๆ คือ ต่างพากันพยายามประเมินว่า พื้นที่นี้ “พรรคเพื่อไทย” จะกลับมาเกิดใหม่ได้หรือไม่
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “ครอบครัวชินวัตร” ที่มวยใหญ่ระดับ “ทักษิณ-พานทองแท้-แพทองธาร ชินวัตร” เรียงหน้ากันลงพื้นที่เคียงข้าง “ชาญ พวงเพ็ชร” ที่ขึ้นป้ายหราว่าเป็นผู้สมัครในนาม “พรรคเพื่อไทย” อย่างโดดเด่นเป็นจุดขาย
เป็นปรากฏการณ์ที่ควบคู่ไปกับการฟื้น “ยุทธศาสตร์การเมืองบ้านใหญ่” เพื่อขึ้นมาช่วงชิงคะแนนเสียง โดยเฉพาะในจังหวัดปริมณฑล ที่ “ทักษิณ” ยืนยันเองไปแล้วอย่างน้อย 2 จังหวัดคือ “ปทุมธานี” ที่มีการประชุม “บ้านใหญ่” อย่างครึกโครม ก่อนที่จะขึ้นเวทีที่ “นนทบุรี” ปลุก “เจ้าถิ่นบ้านใหญ่” ให้ร่วมสู้
เป็นที่รับรู้รับทราบกันว่า การเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านั้น ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เลยไปถึงจังหวัดที่พื้นที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นชายทะเลตะวันออกและชายฝั่งตะวันตก “พรรคเพื่อไทย” พ่ายแพ้ต่อ “พรรคก้าวไกล” แบบถูก “แลนด์สไลด์”
สภาพนี้เป็นโจทย์ใหญ่ต้องคิดแก้เกม และ “ทักษิณ ชินวัตร” เลือกที่จะฟื้น “ยุทธศาสตร์บ้านใหญ่” ขึ้นมาสู้กับ “กระแสการเมืองคุณภาพใหม่” ที่ “พรรคก้าวไกล” ใช้เรียกคะแนน
สนามแรกที่ “ครอบครัวชินวัตร” ใช้เพื่อพิสูจน์ความขลังของยุทธศาสตร์นั้นคือ “การเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี”
ดังนั้น เมื่อ “ชาญ พวงเพ็ชร” ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ศูนย์รวมบ้านใหญ่ได้รับชัยชนะ ความยินดีปรีดาจึงเกิดขึ้น ด้วยเป็นเครื่องยืนยันว่า “ยุทธการบ้านใหญ่” ใช้ได้ผล ซึ่งน่าจะหมายถึงความกังวลลดลง เกิดความเชื่อในฤทธิ์ของบ้านใหญ่มาปลอบใจว่ายังมีอาวุธสู้กับ “พลังการเมืองคุณภาพใหม่” ได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่น่าสนใจ ด้วยชวนให้หาคำตอบว่า “พลังบ้านใหญ่” ที่ได้ผลในการเลือก “นายก อบจ.” ประกันว่าจะใช้การได้ในการเลือกตั้งทั่วไปจริงหรือไม่
ข้อมูลแรก ในการเลือกนายก อบจ.ปทุมธานี้ครั้งนี้ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 949,421 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 472,536 คน คิดเป็นแค่ร้อยละ 49.77 ขณะที่ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อพฤษภาคม 2566 ปทุมธานี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 962,891 คน มาใช้สิทธิ 764,802 คน คิดเป็นร้อยละ 79.43
ข้อมูลที่สอง เลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ มีบัตรโหวตโน คือไม่เลือกใครมากถึง 32,885 ใบ ขณะที่เลือกตั้ง ส.ส.ที่คนมาลงคะแนนมากกว่ากลับมาโหวตโนแค่ 10,057 ใบ
นั่นย่อมเป็นการสะท้อนที่ชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวปทุมธานีที่เคยสร้างกระแสขานรับ “การเมืองคุณภาพใหม่” พากันละเลยที่จะไม่มีส่วนร่วม หรือมีบทบาทในการตัดสินการเลือกตั้ง “นายก อบจ.” ครั้งนี้
แม้จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า “การแสดงความดีใจ” โดยตีขลุมว่า “ยุทธการรวมพลังบ้านใหญ่” น่าจะได้ผลในการใช้สู้กับ “การเมืองคุณภาพใหม่” ด้วยพิสูจน์จากชัยชนะของ “ชาญ พวงเพ็ชร”
แต่กระนั้นก็ตาม จากตัวเลขที่ชัดเจนของ “คะแนนเสียงที่หายไป” ทั้งจาก “ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ” และ “จำนวนผู้โหวตโนที่เพิ่มขึ้น” ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสรุปว่า “ยุทธศาสตร์บ้านใหญ่” เป็นการแก้เกมที่มีประสิทธิภาพ เป็นการรีบเร่งเกินไปจนเสี่ยงกับการถูกมองว่า “ตีขลุม” เอาเอง
แต่ก็อย่างว่า การหาวิธีสู้กับ “การเมืองคุณภาพใหม่” ที่เน้นกระแสจากการสร้างฐานความนิยมของคุณรุ่นใหม่ รวมถึงคนรุ่นเก่าที่เอือมระอาความเน่าเฟะของการเมืองแบบเดิม ไม่ใช่เรื่องที่จะค้นพบ “ยุทธวิธีที่ได้ผล” ได้ง่ายๆ
อาจบางที “ยุทธการปลุกบ้านใหญ่สู้ศึก” ก็เป็นทางเลือกเดียวที่มีให้ เหมือนกับ “คนจะจมน้ำ เห็นอะไรลอยมาก็คว้าเพื่อหวังในโอกาสรอดไว้ก่อน”
ซึ่งหากมองอย่างจิตที่พร้อมจะเข้าใจ ย่อมน่าเห็นใจในความจำเป็นต้องคว้าไว้อยู่ไม่น้อย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022