ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
นักโบราณคดี ควบตำแหน่งนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ ที่มีชีวิตอยู่ยุคอาณานิคม (แน่นอนว่าในยุคสมัยนั้น บรรดาสารพัดหน้าที่การงานนั้นยังมีลักษณะที่คลุมเครือมากกว่าในปัจจุบันนี้) อย่าง วิลเลม เฟรเดริก สตุตเตอร์เฮม (Willem Frederik Stuttertheim, พ.ศ.2435-2485) ได้เคยรับราชการให้กับฮอลันดา โดยประจำอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย (แน่นอนอีกด้วยว่า ในยุคสมัยนั้น ประเทศอินโดนีเซียเป็นอาณานิคมของพวกดัตช์)
เขาได้ทำการสำรวจ ศึกษาวิจัย เรื่องราวทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี รวมไปถึงงานทางด้านมานุษยวิทยา บนเกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซียเอาไว้มากมายเลยนะครับ
แต่เฉพาะที่ผมอยากหยิบยกเอามาเล่าให้ฟังกันในที่นี้คือ ความเชื่อเกี่ยวกับ “ความตาย” และ “ประเพณี” ที่เกี่ยวข้องของชนชาวเกาะทั้งหลาย โดยเฉพาะในเกาะบาหลี ซึ่งว่ากันว่า ยังคงมีลักษณะแบบดั้งเดิม (primitive) คงไว้มากที่สุด
ซึ่งก็อาจนำมาเปรียบเทียบกับประเพณีการฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ของอุษาคเนย์ รวมไปถึงประเทศไทยได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนังสือที่ชื่อ “Indian Influence in Old Balinese Art” (อิทธิพลอินเดียในศิลปะบาหลีโบราณ) ของสตุตเตอร์เฮม ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อเรือน พ.ศ.2478 ได้อ้างเอาไว้ว่า ก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น ชาวบาหลีเชื่อในผีบรรพชน ที่คาดกันว่าจะอาศัยอยู่ในที่ซ่อนตามแม่น้ำ หรือบนภูเขา พวกเขาเป็นเจ้าของแหล่งน้ำ เป็นผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น หากปราศจากพวกเขาแล้ว ข้าวและผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ ก็จะไม่งอกเงยขึ้นมา
ชาวบาหลียังเชื่ออีกด้วยว่า ผีบรรพชนนั้น “เป็นผู้ก่อตั้งชุมชนหมู่บ้าน พวกเขาเป็นผู้กำหนดสร้างประเพณี และปกปักรักษาความเติบโตของชุมชน”
ความเชื่อในทำนองอย่างนี้ก็พบทั้งในเกาะใหญ่อย่างชวา และเกาะอื่นๆ ด้วย
ดังจะเห็นได้จากการที่มีการนำกระดูกบางส่วนของบรรพชนบรรจุไว้ในโกศหิน แล้วเก็บรักษาไว้ในเรือนผี (spirit house) ขนาดเล็ก ที่มีอยู่ในบ้านทุกหลัง
ลักษณะอย่างนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคติการบูชาผีบรรพชน กับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rites) ต่างๆ นั้น จะจัดขึ้นรอบยุ้งฉางข้าวอยู่เสมอ
แต่สำคัญที่สุดก็คือ ผีบรรพชนของบาหลีนั้น ยังได้แบ่งสันปันส่วน “พลังชีวิต” ให้แก่ทั้ง มนุษย์, สิงสาราสัตว์ และพืชพรรณทั้งหลายด้วย
สวัสดิภาพของมนุษย์หรือชุมชนจะปลอดภัยก็ต่อเมื่อ “พลังชีวิต” ของเขา หรือชุมชน อยู่ในสภาวะที่สมดุล แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความสามารถที่จะรองรับพลังชีวิตในปริมาณมากได้อย่างเท่าเทียมกัน
ผู้ที่ได้รับการพิจารณาว่ามีความสามารถเป็นเลิศที่สุด จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะติดต่อกับผีบรรพชน
เขาจะต้องมีหน้าที่เก็บรักษาพลังชีวิตให้อยู่ในสมดุลที่ดี โดยไม่ใช่เฉพาะเพียงแค่ของสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงของตัวชุมชนเองด้วย เพื่อให้ (สมาชิกของชุมชน) มีสุขภาพพลานามัยที่ดี ชุมชนก็จะประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล และไม่มีภัยพิบัติใดๆ เกิดขึ้น
และก็เป็นภายใน “เทวสถาน” (temple) พราหมณ์-ฮินดู ภายในหมู่บ้านนี่เอง ที่จะเป็นสถานที่ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ในการติดต่อกับผีบรรพชน
(เมื่อคราวที่สตุตเตอร์เฮมเข้าไปทำการศึกษาชุมชนในเกาะบาหลีนั้น ชาวบาหลีส่วนใหญ่อ้างตนว่านับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ดังนั้น ศาสนสถานประจำชุมชนเกือบทั้งหมดจึงเป็น “เทวสถาน” ไปด้วย แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในบาหลีนั้น มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรม และผีสางเทวดาท้องถิ่นปะปนอยู่มาก แน่นอนว่าความเป็นท้องถิ่นที่ปะปนอยู่นั้นคือ ศาสนาผีพื้นเมือง ซึ่งก็คือลัทธิการบูชาผีบรรพชน)
ในพิธีกรรมดังกล่าว ผู้ดำเนินพิธีจะนำพาตนเองเข้าสู่สภาวะที่อยู่ในภวังค์ (trance) และปล่อยให้ผีบรรพชนเข้าสิงสู่ในร่างของเขา ในขณะที่ผู้คนอื่นๆ (ที่เข้าร่วมพิธี) จะคุกเข่าลงต่อหน้าร่างอวตารของบรรพชน อันเป็น “ทายาทผู้สืบเชื้อสายมาจากภูเขา และจากแหล่งกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่น้ำทั้งหลาย ที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์”
สำหรับชาวบาหลีแล้ว เพียงแค่ผีบรรพชนของพวกเขาปรากฏกายขึ้นมาอย่างเดียวเท่านี้ ก็ถึงพร้อมโดยสมบูรณ์แล้ว ที่จะทำให้ได้รับ “พลังชีวิต” อันจะดลบันดาลให้เกิด “ความงอกงามของข้าว, ความสงบงันที่จะทำให้น้ำหลากท่วมท้นผืนดิน, การบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อประชากร ฯลฯ”
เมื่อผู้นำของหมู่บ้าน หรือนักบวชเสียชีวิตลง ศพของพวกเขาจะไม่ถูกกลบฝังจนกระทั่งบนกระดูกไม่เหลือเลือดเนื้อปรากฏอยู่เลย จึงค่อยถึงเวลาอันสมควรที่จะมีการตั้งหิน หรือรูปสลักไม้ของผู้ตายลงบนหลุมศพที่มีโกศ (buried jars) บรรจุกระดูก (ของเขา) ฝังไว้ พิธีการเลี้ยงฉลองจะถูกจัดขึ้นเพื่อเยียวยาการที่ชุมชนสูญเสีย “พลังชีวิต” จากการที่ผู้นำชุมชนตายลงไป ดังที่หนังสือเล่มเดิมของสตุตเตอร์เฮมได้อ้างว่า
“รูปสลัก (ไม้หรือหิน) นี้ถูกทำขึ้นเพื่อให้เป็นตัวแทนผู้ตายอย่างถาวร…เป็นการพยายามรักษาร่าง (person) ของผู้ตายในชุมชน แทนศพที่มีแต่จะเน่าสลายเสื่อมโทรมลงไป พร้อมกันกับที่ได้สร้างสถานที่ที่ผู้ตายจะจดจำได้จนชั่วกัลปาวสาน ว่าเป็นตัวของเขาเอง เพื่อให้เขาพึงพอใจที่จะอวตาร (ผ่านร่างทรง) ณ ที่แห่งนั้น”
พูดง่ายๆ ว่า เป็นเหมือนการสร้าง “ร่างกาย” ให้ผู้ตายขึ้นมาใหม่ ด้วยไม้ หรือหิน นั่นแหละนะครับ
ในหนังสืออีกเล่มที่มีชื่อว่า “Prehistory and Religion in South-East Asia” (ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และศาสนา ในอุษาคเนย์) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2500 เขียนโดย ควอริตซ์ เวลส์ (Quaritch Wales, พ.ศ.2443-2524) ชาวอังกฤษผู้สนใจเรื่องอุษาคเนย์ศึกษา ซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษารัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้กล่าวถึง “ร่างกาย” ที่สร้างขึ้นเพื่อให้กับผู้ตาย ด้วยเหมือนกันนะครับ
เวลส์เรียกร่างกายทำเทียมแบบนี้ด้วยการผูกศัพท์ภาษาอังกฤษขึ้นมาว่า “substitute body” คือ “ร่างเสมือน”
(คำว่า “substitute body” นั้น อาจแปลตรงตัวว่า “ร่างกายที่ใช้ทดแทน” หรือ “ร่างกายสำรอง” อะไรทำนองนั้น โดยครั้งแรกที่ผมได้แปลศัพท์คำนี้ขึ้นมาเพื่อใช้งาน ก็ได้เลือกที่จะใช้คำว่า “ร่างทดแทน” แต่เจ้าของคอลัมน์ข้างเคียงกันในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้อย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้แนะนำให้ใช้คำว่า “ร่างเสมือน” แทน ซึ่งผมเห็นดีด้วย เพราะให้ความหมายได้ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคำศัพท์ที่ใช้กันโดยทั่วไปปัจจุบัน อย่างคำว่า “โลกเสมือน” หรือ “โลกเสมือนจริง” และจะเห็นภาพยิ่งขึ้นเมื่อคิดต่อไปถึง คำศัพท์ที่หมายถึงการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ในโลกเสมือน เช่นคำว่า “อวตาร” ก็ดูจะชวนให้เปรียบเทียบกับการเข้าทรงผีบรรพชน และร่างเสมือน ในอดีตได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง)
ตัวอย่างของร่างเสมือนที่เวลส์นำมาใช้นั้นก็คือ วัฒนธรรมดั้งเดิมอื่นๆ ในเอเชีย โดยมีสิ่งปลูกสร้างในวัฒนธรรมการบูชาหิน (Megalithic culture) ประเภทเนินหิน (cairn) ของพวกอังคามี นาคา (Angami Naga, ชาวนาคากลุ่มหนึ่ง) กับเนินหินที่ลาเคอร์ส (Lakhers) ของพวกนาคาอีกกลุ่ม ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย และเนินหิน ที่เกาะนีอาส (Nias Island) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต่างก็มีความเชื่อเหมือนกันในทำนองที่ว่า เนินหินเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเป็น “ร่างกาย” ของหัวหน้าเผ่า หรือชุมชนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ไม่ต้องสังเกตอะไรให้มากความ ก็คงจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ความเชื่ออย่างนี้แทบจะไม่ต่างเลยกับความเชื่อเรื่อง ร่างที่ถูกสร้างให้ผู้ตายในบาหลี ตามชุดข้อมูลที่สตุตเตอร์เฮมนำเสนอเอาไว้ โดยอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดบางประการเท่านั้น
ดังนั้น เราจึงสามารถเรียก หิน หรือรูปสลักไม้ที่ตั้งอยู่บนหลุมศพที่บาหลีว่า “ร่างเสมือน” ได้ด้วยเช่นกัน
ลักษณะอย่างนี้ ยังพบอยู่ในวัฒนธรรมพวกจาม กลุ่มที่เรียกว่า “บาลาโมน จาม” (Bàlam?n Chăm) หรือ “บาจาม” ซึ่งหมายถึงชาวจามที่ยังนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ในปัจจุบัน ชาวจามส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม) ซึ่งมีพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 (secondary burial) ที่เรียกว่า “พิธีกุต”
(ถึงแม้ว่า ชาวบาจามจะสมาทานตนเองว่า นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว พิธีกรรม และความเชื่อหลายๆ อย่างของชนกลุ่มนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยในศาสนาผีดั้งเดิม ซึ่งก็รวมไปถึง พิธีกุตที่ว่านี้ด้วย)
กล่าวโดยสรุปพอิธีกุตก็คือ การนำเอา “พลังชีวิต” ของผู้ตาย เข้าไปรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับ “ผีบรรพชน” ใน “ก้อนหินใหญ่” ที่เรียกว่า “กุต” ซึ่งก็คือชื่อเดียวกันกับพิธีนี้นั่นเอง
เอาเข้าจริงแล้ว “กุต” ของพวกจาม ก็จริงเป็น “ร่างเสมือน” ของ “ผีบรรพชน” ไม่ต่างอะไรกับกรณีศึกษาอื่นๆ ที่ผมได้ยกมาพูดถึงไว้ข้างต้น ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า พิธีศพในสังคมแบบดั้งเดิม (primitive society) ที่มีลัทธิการบูชาบรรพชน หรือศาสนาผี ในหลากหลายวัฒนธรรมของอุษาคเนย์นั้น มีคติความเชื่อ และพิธีกรรมในการสร้างร่างเสมือนของผีบรรพชน ซึ่งย่อมมีมาก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย
และนี่ก็หมายความด้วยว่า ร่างเสมือนนั้น เป็นมีมานับพันปีแล้ว
ดังนั้น การศึกษาทางด้านโบราณคดีเกี่ยวกับหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในไทย (ที่มักจะนำความเชื่อเรื่องวิญญาณ และการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียในภายหลัง มาใช้ในการอธิบาย) นั้น จึงควรที่จะต้องทบทวนกันใหม่ และให้ความสำคัญกับลัทธิพิธีในศาสนาผี และการบูชาบรรพชน เช่น เรื่องร่างเสมือน ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อีกแยะเลยแหละครับ •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022