วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง-จัดตั้ง จาก ‘นายก อบจ.ปทุมฯ’ ถึง ‘เลือก สว.’ ใครแพ้ ใครชนะ ใครคุมเกม?

หมายเหตุ รายการ “The Politics x ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” เผยแพร่ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สัมภาษณ์ “รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น ในประเด็นว่าด้วยผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี และผลการเลือก ส.ว. 2567

นี่คือเนื้อหาน่าสนใจบางส่วนจากบทสนทนาดังกล่าว

: การกลับมาชนะการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ของ “ลุงชาญ” (พวงเพ็ชร์) เท่ากับว่าบารมีของคุณทักษิณ ชินวัตร และเพาเวอร์ของพรรคเพื่อไทยกลับมาแข็งแรงอีกครั้งใช่หรือไม่?

ผมไม่ฟันธงอย่างนั้น เพราะว่าถ้าดูจากตัวเลขที่ชนะ (ระยะห่าง) มันน้อย ถ้าดูตัวเลขแบบนี้ สำหรับผม ในทางการเมืองผมถือว่า (ทักษิณ-เพื่อไทย) “แพ้” คือตัวเลขชนะในเกม แต่ในทางการเมืองคือแพ้ เพราะชนะเพียงแค่ 203,032 ต่อ 201,212 คะแนน กับสรรพกำลังที่ลงไป ทั้งบ้านใหญ่แปดบ้าน พรรคเพื่อไทย คุณทักษิณ

ถ้าจะฟื้นคืนชีพบารมีของคุณทักษิณจริงๆ มันต้องชนะเยอะกว่านี้ อาจต้องแลนด์สไลด์ไปเลย บิ๊กแจ๊สอาจจะได้สักแสนหนึ่ง พอเป็นแบบนี้ปั๊บ ถ้าดูตัวเลข มันน้อยเกินไปที่จะไปเคลมว่าชัยชนะนี้เกิดขึ้นจากคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย แล้วลุงชาญไม่มีคะแนนเลยเหรอ? ลุงชาญเป็น (อดีต) นายก อบจ. มีฐานะเป็นบ้านใหญ่

ผมเลยมองว่าการสรุปแบบนี้ เป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป แต่เข้าใจได้ว่าเพื่อไทยและแกนนำเพื่อไทยต้องสรุปอย่างนี้ เพราะถ้าไม่สรุปอย่างนี้ ก็ไม่มีสินค้าขายในตลาดการเมือง

เพราะว่าก่อนหน้านี้ ตอนที่คุณทักษิณเดินสายกับบ้านใหญ่ แล้วก็พยายามที่จะลองวิธีการสร้างเครือข่ายในการลงสมัคร ส.ว. ปรากฏว่า ส.ว.อีกสีหนึ่ง มีกระบวนการในการจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยอาศัยกลไกบ้านใหญ่ พอเป็นแบบนั้น เขาเลยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่อย่างไรเสีย พื้นที่ อบจ.ปทุมธานี ต้องแพ้ไม่ได้

พอแพ้ไม่ได้ ผลมันออกมา มันก็เลยรู้สึกว่า โอเค มันแพ้ไม่ได้จริงๆ แต่ในทางการเมือง สำหรับผม มันแพ้ มันยังไม่สามารถจะขายว่าอะไรที่จะเป็นภาพลักษณ์ จุดยืน หรือว่าเป็นลักษณะสำคัญในการที่คุณทักษิณออกมาเคลื่อน (ทางการเมือง)

แล้วอันหนึ่ง ผมเข้าใจว่าโค้งสุดท้าย ผมประเมินว่ามันอาจจะมีการ “คุยกัน” ด้วย ระหว่างผู้สมัครทั้ง 2-3 ท่าน เพื่อรักษาหน้า “พี่ใหญ่” เอาไว้

เพราะการต่อสู้กันแบบ (ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปทุมธานี) นี้ ผมรู้สึกว่ามันไม่ชนะใจคนดู รู้สึกว่าโค้งสุดท้ายมันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนฝ่ายหนึ่งยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเล่นเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะนอกหรือไม่นอกกติกา เพื่อรักษาภาพลักษณ์ทางการเมืองของพี่ใหญ่เอาไว้

ไม่อย่างนั้น มันจะกระทบกับการเลือกตั้งในระยะยาว เพราะว่าไม่รู้จะขายยังไง ในเมื่อนโยบายทุกอย่างของเพื่อไทยก็ไม่เป็นรูปธรรมเลย โดยเฉพาะนโยบายเรือธงต่างๆ ที่สัญญากับประชาชน ในขณะที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ดี กลุ่มทุนกาสิโนก็ดี นโยบายรีบออกมากเลย ทั้งที่ไม่ได้หาเสียงเอาไว้

สอง คะแนนนิยมของคุณเศรษฐา (ทวีสิน) ก็ดี คะแนนนิยมของคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) ก็ดี ไม่เคยกระเตื้องขึ้นมาเลย แกนนำของเพื่อไทยทุกคน ไม่ว่าคนเดือนตุลาฯ ที่เข้าป่าไปแล้วก็ยังไม่ออกมา หากินอะไรกับสังคมไม่ได้แล้ว หมดความศรัทธา ล้มละลายความน่าเชื่อถือ มันก็เลยทำให้คุณทักษิณเป็นคนเดียวที่ต้องเล่นเกม

พอเล่นเกมปั๊บ คุณทักษิณไม่สามารถเล่นเกม “โทนี่ วู้ดซัม” ได้อีกต่อไป ไม่สามารถมาจัด “เพื่อไทย แคร์” เอาใจคนชั้นกลางได้อีกต่อไป เพราะพวกเขารับไม่ได้กับวิธีการทำงานหรือวิถีที่คุณทักษิณดูเหมือนจะได้อภิสิทธิ์จากสังคม เพราะฉะนั้น มันต้องไปหาลูกไม้เก่า ก็คือไปหา “บ้านใหญ่”

แล้วถ้าบ้านใหญ่แพ้ตั้งแต่ ส.ว. มาแพ้ปทุมธานีอีก มันก็จบ มันจึงจำเป็นต้องรักษาหน้าพี่ใหญ่เอาไว้

@matichontv

อ.โอฬาร ชี้ชนะแบบนี้เหมือนแพ้เลือกตั้ง! หลังผลเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ‘ลุงชาญ’ เฉือนชนะ ‘บิ๊กแจ๊ส’ แค่ 2,000 กว่าคะแนน ทั้งที่ระดม 8 บ้านใหญ่ปทุมธานี และส่งแพทองธาร-พานทองแท้ ชินวัตร ลงพื้นที่ช่วย #matichontv #ข่าวการเมืองมติชน #thepolitics #โอฬารถิ่นบางเตียว #เลือกตั้งอบจปทุม #ทักษิณ #พรรคเพื่อไทย

♬ เสียงต้นฉบับ – MatichonTV – MatichonTV

: ถึงที่สุดแล้ว อาจารย์มองว่าศึกครั้งนี้ พี่ใหญ่ได้กำไรหรือว่าเสมอตัว?

ผมคิดว่าเขารู้นะว่าเขาแพ้ คะแนนห่างสองพันคะแนน ผมคิดว่าในทางการเมือง เขารู้ว่าเขาแพ้ แต่แน่นอน คนรอบข้างที่ต้องเอาใจนาย ก็ต้องพยายามจะบอกว่าเป็นผลงานของนาย แต่ถ้าดูคะแนนแล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ ชนะสองพัน ผลงานของนายแค่นี้ไม่ได้

แต่นายรู้แล้วว่าการทำงานแบบอาศัยเครือข่ายบ้านใหญ่ มันคงจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สอง เครือข่ายบ้านใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ณ เวลานี้ ไม่ใช่เครือข่ายบ้านใหญ่ของเพื่อไทย แต่เป็นเครือข่ายบ้านใหญ่ของภูมิใจไทยต่างหาก อันนี้ก็เป็นโจทย์หลักว่า ถ้ายังจะใช้บ้านใหญ่ บ้านใหญ่ที่ทรงพลานุภาพตอนนี้ไม่ใช่บ้านใหญ่เพื่อไทย แต่เป็นบ้านใหญ่ภูมิใจไทย

แล้วข้อสาม พวกบ้านใหญ่เขาไม่ได้รักใครรักจริงหรอกครับ ถ้ากระแสต่ำ เขาไม่เอาด้วยหรอกครับ

 

: มาที่เรื่อง ส.ว. คนมองว่า 200 ส.ว. ที่ได้มา เป็น “ส.ว.สีน้ำเงิน” ประมาณ 120 กว่าคน แล้วก็ไปผูกกับพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่ประเมินกันมันจริง-เท็จประการใด และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

อันดับแรกก่อน ผลของการเลือก มันทำให้เห็นว่า “อำนาจเก่า” หรือปีกอนุรักษนิยม ไม่ได้ไว้ใจพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ไว้ใจพรรคสีแดง ถ้าเราดู มันมีการบิดกันทีหลัง หลังจากการเลือกตัวแทน ส.ว.ในระดับจังหวัดแล้ว ในระดับอำเภอมันยังไหลลื่น ปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ จนคนในเครือข่ายของพรรคสีแดงมีความหวังว่ามีโอกาสจะคุมสภาได้

แต่ผมเชื่อว่า อย่างไรเสีย อนุรักษนิยมหรือว่าอำนาจเก่าเขาไม่ได้ไว้ใจพรรคสีแดงกับสีส้ม เขากลัวว่าถ้าพื้นที่ในสภาได้สองสีนี้ โอกาสในการเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญที่จะกระทบต่อสถานะ-อำนาจของพวกเขา มันมีสูงมาก

เพราะฉะนั้น พรรคสีน้ำเงินจึงเป็นตัวเลือก หลังจากที่ดูเหมือนว่าจะถูกขอให้เข้ามาช่วยเบื้องต้น แต่พอไปดูสัญญาณหลังจากการเลือกตัวแทนเข้ามาในระดับจังหวัด จะชัดเจนมากขึ้นว่ามันเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างอดีตเครือข่ายข้าราชการ ที่เป็นเครือข่ายของอนุรักษนิยม บวกกับเครือข่ายของปีกสีน้ำเงิน ในการยึดกุมสภา ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงมาก

ผมคิดว่ามันเป็นตัวแทนของ “การเมืองสองข้างสามขั้ว” ที่ยังหวาดระแวงต่อกัน แต่พอเป็นแบบนี้ มันจะทำให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษ์ จะแก้ไขได้ยาก ดีไม่ดี อาจจะกระทบไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไข พ.ร.บ.เรื่องการลงประชามติด้วย

ที่สำคัญ จะทำให้ดุลอำนาจทางการเมืองของ “พรรคสีน้ำเงิน” ในพื้นที่ของสภาล่าง ส.ส. มีมากยิ่งขึ้น หลังจากถูกกระชับอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ จากรัฐบาล อย่างเช่นนโยบายกัญชา ที่ถูกบีบนวดอย่างหนัก

หรือดีไม่ดี ถ้าคุณเศรษฐาพลาดตกเก้าอี้มา ไม่ว่าจะเรื่องนโยบายหลักไม่ผ่าน หรือเรื่องกรณีการตั้งคุณพิชิต (ชื่นบาน) มันก็มีโอกาสจะปรับ รัฐบาลแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ซึ่งมันก็จะไหลไปหาพรรคอันดับสอง และพรรคอันดับสองเอง ถ้าเขาคุมสภาสูงได้ อำนาจต่อรองก็สูง

สำหรับผม มองว่าทิศทางการเมือง มันก็มีโอกาสเป็นแบบนั้นได้