วิกฤตกำลังซื้อ

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เมื่อ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ ยังถกเถียงกันอยู่ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือเป็นภาวะวิกฤตหรือไม่ อย่างไร แต่ถึงเวลานี้สิ้นสิ้นเดือนที่ 6 ขึ้นเดือนที่ 7 ซึ่งเป็นครึ่งปีหลังแล้ว คนส่วนใหญ่คงเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า นี่เป็นภาวะวิกฤต

เพราะผลกระทบแผ่ซ่านไปทั่วทุกธุรกิจ ทุกห่วงโซ่เรียบร้อย เป็น “วิกฤตกำลังซื้อ” ที่การจับจ่ายสินค้าและบริการต่างๆ ตั้งแต่ระดับล่างสุดยันบนสุด ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีสินค้าคือ บ้าน คอนโดฯ เป็นสินค้ามีมูลค่าสูงใช้เงินจำนวนมาก ผู้ซื้อส่วนใหญ่ต้องใช้เงินกู้กับสถาบันการเงิน จะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่น

เมื่อกำลังซื้อลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจำนวนลูกค้าแวะเยี่ยมชมโครงการก็จะลดลง และในจำนวนลูกค้าแวะเยี่ยมชมที่ลดลงนี้ อัตราการจองซื้อก็ลดลงด้วย

แต่ยังไม่จบแค่นั้น ในส่วนลูกค้าที่จองซื้อแล้วยังมีปัญหาอีกด่านหนึ่ง คือ เมื่อยื่นกู้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคาร ถูกธนาคารปฏิเสธปล่อยกู้ในอัตราสูงเกือบครึ่งหรือกว่าครึ่ง

ทั้งนี้เนื่องจากลูกค้าผู้กู้มีภาระหนี้สินครัวเรือนสูงทำให้มีปัญหาเครดิตการกู้ ขณะที่ธนาคารก็เจอปัญหาตัวเลขผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อบ้านเดิมที่มีอยู่แล้วสูงขึ้น ก็ยิ่งระมัดระวังการปล่อยกู้ใหม่มากขึ้น

 

ผลของวิกฤตกำลังซื้อตกต่ำและหนี้ครัวเรือน กำลังส่งผลมายังบริษัทพัฒนาอสังหาฯ มากขึ้น การที่ยอดขายน้อยลง ทำให้ยอดรับรู้รายได้ลดลง เงินสดน้อยลง ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีผลถึงสภาพคล่องกิจการที่ต้องบริหารจัดการ

ที่ผ่านมาสภาพคล่องบริษัทอสังหาฯ นอกจากเงินทุนเงินสดภายในบริษัทแล้ว แหล่งเงินทุนภายนอก ได้แก่ การออกหุ้นกู้ระดมทุน, การใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่มักใช้การออกหุ้นกู้เป็นหลัก ส่วนบริษัทอสังหาฯ ขนาดเล็กใช้เงินกู้ธนาคาร

แต่เวลานี้ช่องทางการออกหุ้นกู้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะหุ้นกู้อสังหาฯ ถูกจับตาจากตลาดว่าจะมีปัญหาการชำระคืนเมื่อครบกำหนด ซึ่งปีที่แล้วก็เกิดขึ้นจริงรายหนึ่งและปีนี้ก็เกิดแล้วรายหนึ่ง เพียงแต่เป็นรายเล็กผลกระทบไม่กว้าง ระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ก็ยังมีลุ้น

การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่จึงเป็นเรื่องยาก ยกเว้นบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ที่มีเครดิตเรตติ้งดีเยี่ยม

 

แหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน สำหรับอสังหาฯ รายใหญ่ที่มีดัชนีชี้วัดทางการเงินดีก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการขอสินเชื่อจากแบงก์ แต่บางรายที่ใช้แต่แหล่งเงินทุนจากการออกหุ้นกู้เป็นหลักไม่ได้สินเชื่อจากแบงก์ในช่วงที่ผ่านมา ทางธนาคารอาจมีเหตุผลว่าไม่มีโปรไฟล์ประวัติการกู้ยืมมาปฏิเสธการปล่อยกู้ใหม่ได้

บริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางและเล็ก การขอเงินกู้จากธนาคารในสถานการณ์ปัจจุบัน ย่อมถูกสแกนตรวจละเอียดทุกซอกมุมความเสี่ยงเป็นพิเศษ

สรุปว่า ช่วงนี้การหาเงินทุนใหม่ไหม่ว่าจากการออกหุ้นกู้ หรือขอกู้กับธนาคารเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบตรงนี้ เพราะยังมีหุ้นกู้เดิม มีภาระหนี้เงินกู้ธนาคารเดิมที่ต้องชำระ ซึ่งในภาวะกำลังซื้อถดถอยจนเป็นวิกฤตแบบนี้ ย่อมมีบริษัทอสังหาฯ บางราย บางตลาด บางทำเล ที่มียอดขายยอดโอนไม่เพียงพอกับการชำระคืนเงินกู้

ถึงตอนนั้น ผลกระทบก็จะย้อนกลับมาสู่สถาบันการเงิน ที่จะมีปัญหาลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น มีหนี้เสียมากขึ้น และบริษัทอสังหาฯ บางรายที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อโครงการก็ผิดนัดชำระหนี้ ด้วยเช่นกัน

ถึงตอนนั้น แบงก์ชาติคงจะเริ่มรับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามที่พยากรณ์ตามตั้งแต่ต้นปี

ตรงกันข้ามการเพิ่มขึ้นของปัญหาหนี้เสียทั้งหนี้บุคคลและหนี้ธุรกิจ จะมีผลกับเสถียรภาพที่ทุ่มเทรักษา •

 

ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.