สแกน ‘เศรษฐกิจไทย’ สาละวันเตี้ยลง ‘บิ๊กธุรกิจ’ ประสานเสียงฟื้นยาก หนี้ท่วมประเทศ ‘กำลังซื้อ’ ทรุดหนัก

ดูเหมือน “เศรษฐกิจไทย” กำลังกลายเป็นคนป่วยจากสารพัดโรคร้ายที่รุมเร้า ผ่านมาครึ่งปี ยังไร้สัญญาณทำให้ฟื้นตัว ติดกับดัก “หนี้ครัวเรือน” ยังคงกดดัน “กำลังซื้อ” ซบเซาหนัก และมีแนวโน้มจะทรุดหนักมากขึ้น หากอีก 6 เดือนที่เหลือของปี 2567 รัฐบาลยังไร้มาตรการกระตุ้น

ถามว่าหนักหนาสาหัสขนาดไหน นักธุรกิจน้อยใหญ่ต่างส่งเสียงสะท้อนกันระงม “เศรษฐกิจไทยปี 2567 เหนื่อยกว่าทุกปี” ที่เคยทำการค้าขายมา

เริ่มจาก “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย ย้ำว่าจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คนระวังการจับจ่าย กระทบกำลังซื้อ ธุรกิจร้านอาหารลดลง 40% ถือว่าปี 2567 หนักมาก ขึ้นอยู่กับสายป่านใครยาว โดยเฉพาะร้านเล็กที่ลำบากมาก และมีปิดตัวไปบ้างแล้ว หลังแบกต้นทุนไม่ไหว ทั้งค่าแรง ค่าเช่าพื้นที่ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายแฝง อย่างค่าขนส่ง น้ำมัน ที่ส่งผลต่อต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น

ตอกย้ำอีกเสียงจาก “ประภัสสร รังสิโรจน์” นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด ระบุปัจจุบันกำลังซื้อทั่วประเทศเงียบเหงามากและลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จึงยังไม่เห็นสัญญาณทำให้กำลังซื้อดีขึ้น หากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังซึมต่อเนื่องแบบนี้

ต้องลุ้นสิ้นปี 2567 จะมีร้านอาหารปิดตัวลงอีกหรือไม่

 

ขณะที่ร้านค้าปลีก-ค้าส่ง สถานการณ์หนักหน่วงไม่แพ้กัน โดย “สมชาย พรรัตนเจริญ” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยอมรับว่าจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไร้สัญญาณฟื้นตัว อีกทั้งการแข่งขันของธุรกิจที่ดุเดือด จึงเห็นร้านค้าปลีกภูธรทั้งร้านเล็กในชุมชนและรายใหญ่ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญทยอยปิดตัว หลังแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว และจะทยอยปิดตัวอีกเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันกำลังซื้อทรุดหนักมาก ยอดขายตก 20-30% ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค น่าจะลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้หรืออาจไปถึงปีหน้า ปัจจัยหลักเกิดจากคนไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น จึงประหยัด ซื้อเท่าที่จำเป็น

สอดคล้องกับ “อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี กระทบกำลังซื้อลดลง ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 ยอดขายฟู้ดแลนด์ตกลงประมาณ 2% ยังคาดเดาไม่ได้อีกสองไตรมาสที่เหลือ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร บริษัทใช้วิธีรัดเข็มขัดและบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว

 

แม้แต่ “เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยักษ์คอนซูเมอร์เมืองไทย ยังยอมรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไม่ดีเท่าที่ควรและยังแย่กว่าปี 2566 ผลจากภาคส่งออกลดลง แต่เป็นสถานการณ์เกิดขึ้นทั้งโลก เมื่อส่งออกลดลง ภาคการผลิตก็ผลิตน้อยลง กระทบค่าล่วงเวลา (โอที) สภาพนี้เป็นสภาพทั่วโลกที่มากระทบเศรษฐกิจไทยไม่ดี ถ้าแนวโน้มความตึงเครียดต่างๆ ลดลง ตลาดต่างประเทศเริ่มกลับมา เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น

สำหรับสหพัฒน์ “เวทิต” มองว่า ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟื่อย ยอดขาย 5 เดือนที่ผ่านมา ยังเติบโต โดยเฉพาะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตเกือบ 10% ยี่ห้อมาม่ายอดขายไม่ค่อยตก ไม่ว่าเศรษฐกิจดี ไม่ดี

ส่วนคอนซูเมอร์โปรดักต์อย่างอื่น อยู่ที่การแข่งขัน ช่วงมีการจัดรายการจะทำให้ตัวเลขดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มราคาสินค้า ยังไม่มีปรับขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตเริ่มอยู่ตัว และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 33 บาทต่อลิตร ยังสามารถบริหารจัดการและรับภาระได้

 

ด้าน “นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์แม่ทองสุก จำกัด ประเมินสภาพเศรษฐกิจไทยไม่ดีและแย่ลง สะท้อนจากการซื้อขายทองคำเป็นรูปพรรณที่กำลังซื้อลดลงกว่า 10% คาดทั้งปี 2567 ลดถึง 15-20% ถือว่าลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี เป็นผลจากราคาทองคำแพงขึ้น โดยปีนี้ราคาขึ้นมาอยู่ที่กว่า 40,000 บาทต่อบาททองคำ สวนทางกำลังซื้อของคนยังเท่าเดิม มีรายได้ตามไม่ทันราคาทองคำที่แพง แต่ทองคำแท่งกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเปลี่ยนรูปแบบการซื้อเป็นดิจิทัล โกลด์ เซฟวิ่ง ซึ่งเป็นการออมมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มปี 2568 นพ.กฤชรัตน์ประเมินกำลังซื้อขึ้นอยู่กับราคา ถ้ายังสูงมาก กำลังซื้อคนตามไม่ทันแน่นอน โดยคาดว่าราคาทองคำมีโอกาสแตะ 50,000 บาทต่อบาททองคำ โดยคำนวณจากฐานราคาต้นปี 2567 ที่ 32,000 บาทต่อบาททองคำ ล่าสุดขยับเป็น 40,000 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งปรับขึ้น 8,000-9,000 บาท หรือ 20% ถ้าปีนี้จบ 40,000 บาทต่อบาททองคำ ปีหน้าราคาขึ้น 20% จะแตะ 48,000 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งใกล้ 50,000 บาทต่อบาททองคำแล้ว

ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยลง ดอลลาร์จะอ่อน ทองจะขึ้น

 

ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยสี่ “อธิป พีชานนท์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ประเมินตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งหลังปี 2567 ยังผูกติดกับกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ติดปัญหาการกู้แบงก์ไม่ผ่านที่ยังสูงถึง 50% ถึงรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ออกมา แต่ถ้ากู้แบงก์ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถจะซื้อที่อยู่อาศัยได้ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ดีขึ้น คือ เศรษฐกิจต้องดี ทำให้คนมีเงินในกระเป๋าเพิ่ม กำลังซื้อถึงจะดีตาม และแบงก์ต้องลดความเข้มงวดการให้สินเชื่อ จากปัจจุบันกำลังซื้อถดถอย เพราะขอสินเชื่อลำบาก และอัตราดอกเบี้ยสูง

ด้วยปัจจัยเสี่ยงยังมีอีกมาก กลัวว่าภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะไม่ดีขึ้น รัฐบาลต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา เพราะตอนนี้เศรษฐกิจไทย เหลือภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียวที่ยังไปได้ การส่งออกยังแผ่ว ทางออกของผู้ประกอบการอสังหาฯ เมื่อยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ก็อย่าไปลงทุนล่วงหน้าและเร่งสร้างรายได้จากโครงการปัจจุบัน

เมื่อเสียงสะท้อนของธุรกิจดังกระหึ่มขนาดนี้ คงต้องลุ้น “รัฐบาลเศรษฐา” จะมีหมัดเด็ดกู้วิกฤตเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2567 ให้สดใสได้มากน้อยขนาดไหน!