เศรษฐกิจการเมือง ภายใต้คณะราษฎร

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

หลักหกประการของคณะราษฎรที่สำคัญยิ่งในระยะยาวได้แก่หลักข้อที่ว่าด้วย เศรษฐกิจให้มีงานทำ

ตอนที่แล้วผมตอบว่าข้อแรกคณะราษฎรไม่สำเร็จในการสร้างอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน

ในประเด็นที่สองว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก คำตอบเพียงว่าสำเร็จหรือล้มเหลวไม่อาจให้ภาพความเป็นจริงทั้งหมดได้

เพราะมีบางเรื่องที่รัฐบาลคณะราษฎรทำสำเร็จ เช่น การยกเลิกภาษีระบบเก่าที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน เช่น ภายในเดือนแรกรัฐสภาออกพระราชบัญญัติยกเลิกภาษีอากรที่ตกค้างมาจากระบอบศักดินาในการเก็บค่าเช่าส่วนเกินจากชาวนาชาวไร่ในการผลิตและใช้แรงงานของพวกเขา

ยกเลิกอากรนาเกลือ ยกเลิกภาษีสมภักศรอันได้แก่ภาษีเก็บจากไม้ล้มลุก ซึ่งคู่กับภาษีสวนหรืออากรสวนใหญ่อันเป็นไม้ผลยืนต้น

ตามด้วยการลดพิกัดเก็บเงินค่านาซึ่งมีรายได้เข้ารัฐถึงปีละ 1 ล้าน 5 แสนบาท ทำให้เกิดการลดค่าภาษีอีกหลายรายการเช่น ลดภาษีค่าที่ไร่อ้อย ภาษีต้นตาล โฉนด ภาษีไร่ยาสูบ เงินอากรสวนจาก

และตามมาด้วยการเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาไทย จมปลักอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจน

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ได้หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ที่โค่นล้มรัฐบาลแห่งระบอบสังคมเก่า ต้องหาทางทำให้ได้

ดังที่ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ coup de’ etat เป็น revolution ทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายคนเท่านั้น”

ถ้าปฏิวัติในทางเศรษฐกิจได้ การประนีประนอมทางการเมืองก็ลดแรงกดดันต่อรัฐบาลได้

 

 

ดังที่ทราบกันดีว่า การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ตามคำเรียกร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะผู้ที่มาจากผู้ประกอบการ เช่น นายมังกร สามเสน เป็นต้น นำไปสู่การต่อต้านคัดค้านจากคณะเจ้าและสมาชิกคณะราษฎรที่เป็นอนุรักษนิยมอย่างแรง

จนในที่สุดนำไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งแรกที่ทำให้นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดรัฐสภา เปลี่ยนคณะรัฐมนตรี

ปรีดีต้องลี้ภัยไปปารีส เพราะรัฐบาลออกกฎหมายคอมมิวนิสต์

วิกฤตนี้ยุติด้วยการทำรัฐประหารโดยคณะราษฎรสายทหาร นำโดยพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม

วิธีแก้ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวจะกลายมาเป็นธรรมเนียมของการเมืองไทยไปอีกนาน นี่ก็เป็นปัจจัยที่แทรกซ้อนเพราะไม่อยู่ในแผนและความตั้งใจของใคร

มันเป็นสิ่งที่เรียกว่าอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีในทุกแห่งและมักเป็นตัวเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปอีกอย่างเลย

ตรงนี้เองที่ผมประเมินว่าความตั้งใจ “ปฏิวัติ” โครงสร้างทางเศรษฐกิจของปรีดีไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

นั่นคือหลังจากยึดอำนาจรัฐกลับคืนมาได้แล้ว นโยบายเศรษฐกิจนั้นก็ยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีร่องรอยของแนวความคิดที่คณะเจ้าโจมตีว่า “ลอกแบบสตาลินมา” หรือเหมือนกับของสหภาพโซเวียตอีกต่อไป

ที่น่าสังเกตคือก่อนหน้านั้นไม่มีการอภิปรายอย่างเป็นระบบ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและคัดค้าน

สมุดปกเหลืองวิจารณ์จากความยึดมั่นในจุดยืนและผลประโยชน์ของชนชั้นเจ้านายและขุนนางเป็นเกณฑ์ ไม่ได้มาจากความเข้าใจและมองเห็นจุดหมายของเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

 

ลักษณะเด่นประการแรกในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ได้แก่ การเสนอระบบสหกรณ์เป็นระบบการผลิตใหม่แทนระบบเก่าและใหม่ที่กำลังจะเกิดด้วยการให้กรรมสิทธิ์เหนือปัจจัยการผลิต ในระบบศักดินาคือที่ดินเป็นของพระมหากษัตริย์ผู้เดียวเป็นอำนาจทางจารีตตามมรดก หรือในระบบทุนนิยมคือปัจเจกชนเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์

ระบบสหกรณ์คือการทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของส่วนรวมคือรัฐไม่ใช่เอกชน

การให้ที่ดินตกเป็นของรัฐกระทำด้วยการซื้อหรือเวนคืน

การใช้ระบบสหกรณ์ เพราะลำพังรัฐบาลไม่อาจควบคุม และดำเนินการเศรษฐกิจให้ทั่วถึงได้ จำต้องแบ่งการประกอบการออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ

สหกรณ์เหล่านี้จะประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือในด้านการผลิต ด้านการจำหน่ายและขนส่ง ไปถึงการหาเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่สมาชิก ร่วมกันสร้างสถานที่อยู่อาศัย ไปถึงการปกครองตนเองในรูปของเทศบาล

สหกรณ์ยังสามารถดำเนินการด้านการศึกษาให้แก่สมาชิก การสาธารณสุข การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ไปถึงด้านการทหารอีกด้วย

เพียงแค่นี้ก็เห็นความราดิคัลของเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี ที่ไม่สนับสนุนและเดินตามการปฏิบัติที่กระทำกันมาก่อนนี้ในระบบการผลิตแบบศักดินา

หรือในอีกด้านก็ไม่สนับสนุนระบบทุนนิยมเสรีแบบตะวันตกที่กำลังเติบโตแพร่หลายไปทั่วโลกในสมัยนั้นแต่ประการใด

ตรงกันข้ามความคิดหลักในเค้าโครงฯคือระบบหรือลัทธิสหกรณ์ อันเป็นรูปแบบของการผลิตและกรรมสิทธิ์ที่ไม่ใช่ของปัจเจกบุคคลหรือทุน หากแต่เป็นของส่วนรวมหรือชุมชนและรัฐ

 

ตรงนี้เองที่คณะเจ้าและฝ่ายอนุรักษนิยมออกมาโต้ด้วยวาทกรรมว่า สมัยก่อนที่ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่

“ราษฎรก็ไม่เคยถูกตัดเสรีภาพถึงเพียงนี้ ใครจะทำมาหากินอย่างไรในทางที่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีใครห้าม นอกจากนั้น พระเจ้าแผ่นดินของไทยยังสั่งให้เลิกทาส แต่มาบัดนี้เมื่ออำนาจสูงสุดตกอยู่กับราษฎรแล้ว แทนที่จะมีเสรีภาพมากขึ้น พวกท่านที่ชำนาญต่างๆ กลับตัดเสรีภาพของเขามากขึ้น เสียกว่าเดิมอีก และตัดสิทธิไม่ให้ราษฎรทำนา ตัดสิทธิไม่ให้ราษฎรทำอาชีพตามลำพัง โดยสะดวกและห้ามไม่ให้จับจองที่ดินโดยง่าย สิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกตกลงมาแต่โบราณกาล มาบัดนี้ราษฎรกลับกลายเป็นทาสไปอีก…”

ในทางทฤษฎี ปรีดีกระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับลัทธิมาร์กซ์ที่อธิบายว่า เมื่อระบบฟิวดัล (หรือศักดินา) เสื่อมหรืออ่อนตัวลง ชนชั้นนายทุนกระฎุมพีจะก้าวขึ้นมาด้วยการสถาปนาระบบการผลิตแบบทุนที่นำไปสู่การผลิตสินค้าเพื่อตลาดอย่างขนานใหญ่

แต่ทั้งหมดนั้นต้องมีเงื่อนไขสองประการคือ

ข้อแรก เงื่อนไขที่ต้องมีก่อนคือการแยกผู้ผลิตออกจากปัจจัยการผลิตของเขา ทำให้เขาไม่มีอะไรนอกจากแรงงานติดตัวเท่านั้น จึงเป็นแรงงานเสรี

เงื่อนไขที่สอง ทำลายระบบรองรับการผลิตแบบศักดินาทั้งทางกฎหมายและการเมือง นั่นคือการขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นนายทุนกระฎุมพี แล้วเขียนกฎหมายใหม่หมด ออกรัฐธรรมนูญที่รองรับปกปักรักษากรรมสิทธิ์ส่วนตัวของนายทุน กรรมสิทธิ์แบบอื่นไม่รับรอง จากนั้นกระบวนการผลิตทั้งสังคมก็เดินไปบนกระบวนการผลิตแบบนายทุนเป็นด้านหลัก

ส่วนระบบการผลิตแบบจารีตอื่นๆ นั้นเป็นรองหรือเป็นเครื่องประดับที่ไม่มีพลังอะไร

 

น่าสังเกตว่าในการเมืองเศรษฐกิจไทยไม่เกิดกระบวนการดังกล่าวที่เรียกว่า การสะสมทุนแบบขั้นปฐม (หรือบุพกาล)

ตรงกันข้าม นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มามีการออกโฉนดที่ดินเป็นการรับรองกรรมสิทธิ์เหนือปัจจัยการผลิตสำคัญว่าเป็นของบุคคล แม้ไม่มีการให้โฉนดแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง แต่เกิดระบบกรรมสิทธิ์และสิทธิไม่ถาวรขึ้นมากมาย ให้สิทธิ์ชาวนาในการใช้ที่ดินทำการผลิต แต่เอาไปทำธุรกรรมการเงินไม่ได้

สรุปคือรัฐสยามไทยสมัยปฏิรูป เริ่มสร้างเงื่อนไขให้แก่ระบบเศรษฐกิจทุน ด้วยการเลิกระบบไพร่ เลิกทาส และให้มีโฉนดที่ดินของเอกชน เพื่อให้ไปทำการผลิตข้าวส่งออกนอก ทำให้เกิดชนชั้นชาวนาน้อยและชาวนาอิสระขึ้น แทนที่จะกลายไปเป็นชนกรรมาชีพ

เงื่อนไขที่สองทำให้ชนชั้นนายทุนไทยไม่อาจเติบใหญ่ได้ เพราะขุนนางและเจ้านายยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่เสื่อมคลาย ระบบทุนนิยมในสยามพัฒนาไป แต่ก็ไม่ได้ทำลายชนชั้นขุนนางและเจ้านายลง เพราะอำนาจรัฐและกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตยังอยู่กับชนชั้นขุนนางและเจ้านายไม่เปลี่ยน ยังเป็นระบบกรรมสิทธิรวมหมู่ที่เคยใช้ในสังคมไทยโบราณมา

ถ้าดูจากการเป็นเจ้าของเหนือปัจจัยการผลิต เช่น ทุนและแรงงานและที่ดิน ก็ต้องกล่าวว่าโดยรวมยังอยู่ในการครอบครองของชนชั้นศักดินาไทยเต็มที่ กระทั่งถึงยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

เมื่อปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ให้มีการซื้อหรือเวนคืนที่ดินที่เอกชนครองมาเป็นของรัฐ ในโครงการสหกรณ์จึงเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำสยามเก่ารับไม่ได้ เพราะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ทั้งต่อหน้าและลับหลังของคนที่มีฐานะและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหลาย

นี่จึงเป็นพลังทางวัตถุที่จะเกิดขึ้น แต่มันไม่หยุดเพียงแค่นี้ นโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้จะไปสร้างพลังให้แก่อุดมการณ์และความคิดทางการเมืองที่กำลังสถาปนาขึ้นมา อันจะทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยมีพลังและอำนาจที่เป็นวัตถุในมืออย่างแท้จริง

มันจะไม่ใช่เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีผลสะเทือนต่อความคิดนามธรรมในเรื่องอำนาจและสิทธิของบุคคลในรัฐ ซึ่งในที่สุดก็จะ “ดีแต่พูด” แต่ไม่ปรากฏผลในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมแก่ราษฎรขึ้นมา

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกระเทือนต่อผลประโยชน์อันแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของคนในสังคมทั้งหมด

 

กล่าวโดยสรุป ทำให้ได้ข้อสังเกตว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้น ได้พัฒนาก้าวข้ามแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยม ที่มองแรงงานว่าเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการผลิตแบบทุน

หากแต่ได้นำเสนอมโนทัศน์ของแรงงานและราษฎร ในอีกลำดับขั้นของการพัฒนาที่เหนือกว่าและเป็นผลต่อเนื่องจากพัฒนาการในระบบทุนนิยมเอง เข้าสู่การเป็นเจ้าของและเป็นนายเหนือทุนและที่ดินเลย

ในทางประวัติศาสตร์เป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้าและราดิคัลยิ่ง

เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับและนำราษฎรไทย จากระบบไพร่และแรงงานภายใต้พันธนาการ (unfree labor) ไปสู่ระบบสหกรณ์และสังคมนิยมโดยรัฐ ที่ราษฎรและแรงงานหลุดจากพันธนาการและอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของนาย กลายเป็นนายเหนือตัวเองและไม่ใช่กลายไปเป็นแรงงานเสรีในตลาดทุนนิยมที่ไม่มีเสรีภาพของตนเอง ด้วยการเป็นข้าราชการภายใต้รัฐโดยสมัครใจ เป็นแรงงานที่เป็นเจ้าของตัวเองและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในปัจจัยการผลิตและในการปกครองด้วยอย่างเสมอภาคกัน

ในทางทฤษฎีกระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง และไม่น่าแปลกใจที่ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งในคณะราษฎรกันเองและกับคณะเจ้านายอย่างที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้

อันนำไปสู่รัฐประหารวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476

ซึ่งเป็นการยุติการรอมชอมระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้าลง จากนั้นเริ่มสถาปนารัฐบาลของคณะราษฎรในอีกโฉมหน้าขึ้นมา