ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
หลังจากบทความเรื่อง “เบื้องลึก ‘นาจา’ เทพอินเดียที่กลายเป็นเทพจีนยอดนิยม” ในมติชนสุดสัปดาห์ตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปแล้ว ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับอยู่สองแบบ
แบบแรก คือหลายท่านเห็นว่าเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ บางท่านก็อาจพอทราบมาบ้างแล้วแต่ก็ได้รู้รายละเอียดมากขึ้น
แต่อีกแบบ คือรู้สึกไม่ชอบใจเอาเสียเลย เพราะอาจไปค้านกับความรู้สึกของเขา โดยเฉพาะคนที่ “อ่านแต่ปก” คือพอเห็นแค่ชื่อบทความก็เดือดดาลเสียแล้ว
แนะนำให้ลองอ่านเนื้อหาข้างในก่อนนะครับแล้วจะโต้แย้งกันอย่างไรก็ว่ากันอีกที ยกเอาเหตุผลเอาหลักฐานมาหักล้างกัน
แต่ในขณะเดียวกันผมก็พอจะเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่ไม่ชอบบทความชิ้นนั้นอยู่บ้าง
ประการแรก ก็จีนออกจะเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ไฉนจะต้องไปรับเอาอะไรจากข้างนอกเล่า ขนาดมีคน (ซึ่งน่าจะเป็นไอโอ) ตามมาโจมตีผมถึงในเพจ เขาพูดราวกับว่าผมดูถูกอารยธรรมจีน
กับอีกประการหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มความเชื่อ เมื่อได้เห็นข้อมูลนี้ก็อาจทำตัวไม่ถูก ในเมื่อโลเชี้ยหรือนาจามาจากเมืองแขกเสียแล้ว เวลาเข้าทรง ร่างทรงจำต้องพูดภาษาแขกด้วยไหม แล้วภาษาจีนที่แหลงๆ กันอยู่จะเอายังไง
เรื่องนี้ผมไม่เกี่ยวเพราะเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลของท่าน แต่อยากให้ลองคิดว่าพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ที่เรารู้ว่ามาจากเมืองแขกแน่ๆ เรายังขอพรท่านในภาษาจีนหรือไทยกันได้โดยสะดวกเลย
ดังนั้น เทพท่านจะพูดภาษาอะไรก็คงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมเสียมากกว่าว่าที่นั่นเขาใช้ภาษาหรือมีกติกากันอย่างไร
การคิดว่ามีประเทศใดที่ทุกสิ่งล้วนเกิดมาจากประเทศนั้นโดยไม่เคย “รับ ปรับ เปลี่ยน” จากที่อื่น ควรถือเป็นมิจฉาทิฐิทางความรู้แบบหนึ่ง หรือการคิดว่ามีประเทศใดที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลยก็น่าจะเป็นมิจฉาทิฐิอีกแบบเช่นกัน
จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าอารยธรรมยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตามในโลกนี้ ล้วน “รับ ปรับ เปลี่ยน” และ “ให้” กันและกันทั้งสิ้น
จีนและอินเดียต่างเป็นอู่อารยธรรมใหญ่ของโลก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้โดยพื้นฐานแล้วทั้งคู่อาจมีความคิดหรือปรัชญาต่างกันอยู่บ้าง
ดังที่กล่าวกันว่าอินเดียชอบการคิดเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนหรือเรื่องทางอภิปรัชญา ในชีวิตชาวบ้านอินเดียทุกวันนี้ก็ยังมีคุณลุงไปนั่งเถียงกันด้วยเรื่องยากๆ เชิงทฤษฎีในร้านชาข้างทาง เถียงกันเสร็จต่างก็แยกย้ายกลับบ้าน
ขณะที่ชาวจีนนั้นมีความเป็นนัก “ปฏิบัตินิยม” ซึ่งเป็นอิทธิพลอย่างสำคัญจากปรัชญาขงจื่อ ขงจื่อไม่มุ่งเน้นคำถามเรื่องโลกหน้าหรือความจริงสูงสุด แต่เน้นชีวิตในปัจจุบัน
ส่วนเต๋านั้นแม้จะมีมิติเรื่องเร้นลับอยู่ แต่ก็อธิบายได้ด้วยกรอบคิดใหญ่ที่คลุมเรื่องย่อยๆ ไว้ทั้งหมด เช่นเรื่องมรรควิถี (เต๋า) เรื่องสภาวะตรงข้าม (หยินหยาง) ฯลฯ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้หล่อหลอมผ่าน “ขนบจารีต” ซึ่งมักไม่ค่อยถูกอธิบายให้ผู้ปฏิบัติฟังสักเท่าไร
ในทางภูมิศาสตร์ จีนกับอินเดียห่างไกลกันมาก ดังใครอ่านนิยาย “การเดินทางสู่ตะวันตก” (ไซอิ๋ว) ก็จะพบจินตนาการถึงความยากลำบากในการไปสู่ “ชมพูทวีป” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ในประวัติศาสตร์ของทั้งสองดินแดน ต่างมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาโดยตลอด
ดังนั้น จีนจะรับเอาเทพเจ้าแขกมาปรับให้เป็นจีน (จีนานุวัตร – Sinicization) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอันใดเลย
หลักฐานเก่าแก่สุดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดีย คือการค้นพบลูกปัดหินคาเนเลี่ยนผลิตจากอารยธรรมสินธุของอินเดีย ซึ่งย้อนหลังไปได้ถึงสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกและสมัยชุนชิว
แสดงว่าจีนและอินเดียติดต่อมากันแล้วถึงพันปีก่อนคริสตกาลอีกนะครับ
ในฝ่ายอินเดียเอง วรรณกรรมเก่าๆ อย่างมหาภารตะก็พูดถึงประเทศจีน (จีนะ) หรือในคัมภีร์อรรถศาสตร์ซึ่งพูดเรื่องหลักการค้าขายเพื่อบรรลุถึง “อรรถะ” (ทรัพย์ ประโยชน์ ความหมายของชีวิต) ยังกล่าวถึง “จีนะปัฏฏะ” หรือ “ผ้าไหมจีน” อันนับว่าเป็นของดีเลิศมาตั้งแต่โบราณ
แหล่งผลิตผ้าไหมโบราณสำคัญของอินเดียแห่งหนึ่งคือกาญจีปุรัม ก็อยู่ไม่ไกลจาก “เจนไน” เมืองเอกของแคว้นทมิฬนาฑู ซึ่งคุณไมเคิล ไรท์ เคยอธิบายว่า เจนไนหมายถึง “ท่าจีน” นั่นเอง คงสะท้อนถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวอีกทาง
นอกจากนี้ ผมเคยเล่าไปแล้วว่า เทคโนโลยีการฟอกน้ำตาลทรายขาว จีนก็รับไปจากอินเดียจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ตามวัฒนธรรมจีน
ทว่า เหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด สิ่งที่เชื่อมจีนกับอินเดียเข้าด้วยกัน คือ “ศาสนา” โดยเฉพาะพุทธศาสนา
พุทธศาสนาอาจเรียกได้ว่าเป็นศาสนาจากต่างชาติที่สำคัญที่สุด ซึ่งได้กลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมจีน โดยเข้ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น แม้ในระยะแรกชาวจีนอาจรู้สึกแปลกๆ กับศาสนาใหม่ของต่างชาติ ทว่า ในที่สุดก็สามารถกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาหลักของชาวจีนจนได้
กระนั้น พุทธศาสนาจากอินเดียก็จำต้องเข้าสู่กระบวนการทำให้เป็นจีนเสียก่อน สิ่งนี้ก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาแบบจีนขึ้นมา
ตัวอย่างเช่น พุทธศาสนานิกายธยาน (ฉาน/เซียง) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “นิกายเซน” ที่มีอัตลักษณ์ความเป็นจีนผ่านการไม่มุ่งสู่การถกเถียงทางทฤษฎีที่ซับซ้อนตามแบบที่ชาวอินเดียนิยม แต่เน้นการปฏิบัติที่เรียบง่าย หรือนิกายสุขาวดีซึ่งก็มีหลักปฏิบัติที่เรียบง่ายเช่นกัน
สมัยราชวงศ์ถัง พุทธศาสนานิกายมนตรยานจากอินเดียเข้ามาสู่จีน “พระแขก” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือเอเชียกลาง อย่างพระนาคารชุน พระอโมฆวัชระ ฯลฯ ได้นำเอาหลักการทางพุทธศาสนา ซึ่งจะสืบทอดต่อมาในนาม “ยู่ก่าก่าว” หรือลัทธิโยคะ (หมายถึงการบำเพ็ญทางจิตในฝ่ายมนตรยาน)
โดยพวกไสยเวทฝ่าย “ลื่อซาน” ทางตอนใต้ของจีนด้วย
พอพูดถึงภาคใต้ของจีนโดยเฉพาะฝั่งฮกเกี้ยน (ซึ่งนาจาเป็นที่นิยมมาก) เราทราบกันดีว่า ฮกเกี้ยนเป็นมณฑลที่ติดทะเล และเป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลระหว่างจีนกับสากลมาตั้งแต่โบราณ
ท่าเรือจ่วนจิ๊ว (เฉวียนโจว) เป็นท่าเรือนานาชาติซึ่งได้ต้อนรับชาวอินเดียเป็นอันมาก จนน่าจะเกิดเป็นชุมชนของชาวอินเดียขนาดใหญ่ขึ้น
หลักฐานสำคัญในการตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดีย ผู้เดินเรือมาจากทมิฬนาฑุตั้งแต่สมัยปัลลวะและโจฬะ คือโบราณสถานหลายแห่ง เช่น วัดคายหงวนวัดทางพุทธศาสนาที่มีร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างเดิมซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดู ตลอดจนการขุดพบเสาหินแกะสลักรูปเทพเจ้า เช่น นรสิงห์ตามศิลปะอินเดียใต้ยังคมชัดอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในบริเวณรอบๆ เมืองจ่วนจิ๊ว ยังมีการค้นพบรูปสลักโบราณของเทพ-เทวีในศาสนาฮินดู เช่น รูปเทวีมหิษาสุรมรรทินี ซึ่งชาวบ้านได้กราบไหว้ในฐานะเป็นเทพท้องถิ่นจีนไปแล้ว เป็นต้น
เทพเจ้าหรือบุคคลสำคัญอย่างพระวิสุทธิวารีปรมาจารย์ (เช็งจุ้ยจ้อซู้) ซึ่งเป็นเทพท้องถิ่นฮกเกี้ยนก็มีลักษณะที่แตกต่างจากชาวจีนหรือชาวฮั่นโดยทั่วไป เพราะท่านมีผิวดำ ดวงตาใหญ่ลึกและจมูกงุ้ม จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ท่านอาจมีเชื้อสายอินเดียหรืออาจชาวเย่ว์ดั้งเดิมในถิ่นนั้น
หลักฐานที่สำคัญอีกอย่างคือบรรดาศาสนอุปกรณ์ของชาวลื่อซานเอง เช่น แส้พิธี (หวดโสะ) หรือแตรเขาควาย (เหล่งกัก) ซึ่งไม่ปรากฏในศาสนพิธีของศาสนาเต๋าหรือในวัฒนธรรมจีน แต่เห็นได้ดกดื่นในวัฒนธรรมพื้นถิ่นอินเดียใต้
ดังนั้น แม้โดยรวมจีนจะมีพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมกับอินเดีย ทว่า ในถิ่นฮกเกี้ยนดูเหมือนอิทธิพลของอินเดียจะเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งจากศาสนาฮินดูที่ผ่าน-ไม่ผ่านพุทธศาสนาอีกชั้น หรือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทรงเจ้าเข้าผีจากคนพื้นถิ่นโดยเฉพาะไสยเวทของชาวบ้านที่สืบต่อมายังพวกเรา
อันที่จริงความสัมพันธ์อันยาวนานลึกซึ้งนี้ ฝ่ายบ้านเมืองคือรัฐบาลอินเดียและจีน (ซึ่งอาจไม่ค่อยชอบหน้ากันสักเท่าไหร่) เขาเห็นกันมาชัดเจนอยู่แล้ว ดังในปี ค.ศ.2019 ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์แบบเมืองพี่น้อง (sister-state relations) ระหว่างเมืองมามัลลปุรัม เมืองชายทะเลโบราณในรัฐทมิฬนาฑุของอินเดียใต้กับมณฑลฮกเกี้ยนของจีน
นี่ยังไม่นับเรื่องทูตทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ไปๆ มาๆ ระหว่างจีนกับอินเดีย เช่น พระถังซัมจั๋ง พระอี้จิง ฯลฯ หลายยุคหลายสมัย
จากที่ผมเขียนมาทั้งหมด ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนกับอินเดียมันไม่ได้ไกลกันทางวัฒนธรรมความเชื่อขนาดนั้น
ผมจึงไม่เห็นว่าการรับเอาเทพเจ้าจากอินเดียหรือศาสนาจากอินเดียจะทำให้จีนเสื่อมความสง่างาม
หรือเสียเกียรติแต่อย่างใด •
ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022