ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
โบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอย่างแยกไม่ได้ตั้งแต่อดีต, ปัจจุบัน และอนาคต ดังเห็นจากช่วงต้นๆ ของการเรียนการสอนโบราณคดี มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับการเมืองนานาชาติเรื่องสงครามเย็น
โบราณคดีในไทย โดยเนื้อแท้คือประวัติศาสตร์ศิลปะของชนชั้นสูง หรือชนชั้นนำ (ไม่มีของประชาชน) ศิลปะ (ในประวัติศาสตร์ศิลปะ) หมายถึงงานช่างทางความเชื่อในศาสนา-การเมืองของชนชั้นสูง หรือชนชั้นนำ ที่ทำขึ้นเพื่อการปกครอง (ศาสนาคือเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง)
ก่อนเป็นคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (สังกัดกรมศิลปากร) เมื่อ พ.ศ.2507 ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นข้าราชการกรมศิลปากร ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ กองโบราณคดี (สมัยนั้นพิพิธภัณฑ์อยู่ในสังกัดกองโบราณคดี) ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประสานงานจัดแสดงนิทรรศการศิลปกรรมไทยที่สหรัฐ, ยุโรป และเอเชีย ระหว่าง พ.ศ.2503-2508 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองสงครามเย็นต่อต้านคอมมิวนิสต์โซเวียต (ปัจจุบันคือรัสเซีย) และจีน
ดังนั้น ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เมื่อย้ายไปเป็นคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2507 จึงยังติดพันงานนิทรรศการฯ (สงครามเย็น) ทำให้ต้องไปต่างประเทศต่อเนื่องยาวนาน จนนักศึกษาคณะโบราณคดีทนไม่ไหวต้องรวมตัวกันไปร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2508 (ตามข่าวหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ เช่น เดลินิวส์, ไทยรัฐ, สยามรัฐ)
ความเป็นมาเรื่องนี้ที่ “ท่านอาจารย์” ทำงานเกี่ยวข้องสหรัฐในสงครามเย็น ไม่เป็นที่รับรู้ในหมู่อาจารย์และนักศึกษาโบราณคดีทั้งสมัยนั้นและสมัยหลังจากนั้น แต่เพิ่งรู้จากงานวิจัยของ ชาตรี ประกิตนนทการ (อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ดังต่อไปนี้
“นิทรรศการศิลปกรรมไทย” จัดร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา โดยมีจำนวนศิลปวัตถุชิ้นเอกของไทยนำไปจัดแสดงมากถึง 339 ชิ้น ใช้เวลาจัดแสดง 2 ปี (พ.ศ.2503-2505) ตามพิพิธภัณฑ์ 8 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นนิทรรศการถูกย้ายไปจัดแสดงในประเทศอื่นทั้งในยุโรปและเอเชียต่ออีกมากถึง 10 ประเทศ ใช้เวลาประมาณ 4 ปีและสิ้นสุดลงใน พ.ศ.2508 รวมเป็นระยะเวลาจัดแสดงนิทรรศการชุดนี้ยาวนานถึง 6 ปี
การคัดเลือกศิลปวัตถุรวมทั้งสิ้น 339 ชิ้น ทำโดยคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมศิลปากรกับธีโอดอร์ โบวี่ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอินเดียน่า, ภัณฑารักษ์ฝ่ายศิลปตะวันออกของพิพิธภัณฑ์ศิลปเมืองบอสตัน และ เอ. บี. กริสโวลด์
ภายในงานมีสูจิบัตรเนื้อหา 3 ส่วน คือ ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยเขียนโดย เอ. บี. กริสโวลด์, ความงามของศิลปไทย โดย ศิลป์ พีระศรี และคำบรรยายศิลปวัตถุแต่ละชิ้นโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล
นิทรรศการชุดนี้ถูกจัดขึ้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการทำสงคราม “การเมืองวัฒนธรรม” ใน “ยุคสงครามเย็น” โดยการสร้างความร่วมมือในกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ผ่านองค์กรการกุศลที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก “สำนักข่าวกรองกลาง” หรือ “ซีไอเอ”
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้โครงการนำศิลปวัตถุมีค่าของประเทศพันธมิตร “โลกเสรี” จัดนิทรรศการเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
งบประมาณทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและ “มูลนิธิเอเชีย” หรือชื่อเดิมคือ “คณะกรรมการเพื่อเอเชียเสรี” องค์กรที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากซีไอเอเพื่อทำงานด้านการเมืองวัฒนธรรมในเอเชียยุคสงครามเย็น
ศิลปวัตถุทั้งหมดถูกจัดสถานะให้เป็นสมบัติทางการทูตระหว่างรัฐบาล การขนย้ายกระทำโดยกองเรือสหรัฐอเมริกา
มหาวิทยาลัยอินเดียน่ามีสถานะเป็นเพียงตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อให้โครงการนี้ดูมีภาพพจน์ทางวิชาการเท่านั้น
ฝ่ายไทยมีกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพหลัก โดยมอบหมายให้ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ข้าราชการและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นคณะกรรมการและผู้ประสานงาน
งานเปิดนิทรรศการที่จัดในแต่ละประเทศถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระดับรัฐที่มีผู้นำประเทศมาเป็นประธานเกือบทั้งหมด คำกล่าวเปิดแต่ละแห่งเต็มไปด้วยนัยยะทางการเมืองในบริบทสงครามเย็น เช่น
คำกล่าวเปิดนิทรรศการชุดนี้เมื่อ พ.ศ.2506 ของ “คาร์ล ไฮน์ริช ลุบเก” ประธานาธิบดีเยอรมนีตะวันตก กล่าวว่าเมื่อมองดูศิลปวัตถุเหล่านี้ทำให้มองเห็นจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชของไทยที่ไม่ต่างจากคนเยอรมัน แล้วยกประวัติศาสตร์การปลดแอกของคนเยอรมันจากการเป็นทาสของ “มองโกล” เช่นเดียวกับคนไทยที่ต้องต่อสู้กับการรุกรานของ “มองโกล” เมื่อราว 700 ปีก่อนเช่นกัน แสดงว่าคนไทยกับคนเยอรมันมีศัตรูร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต
การพูดเช่นนี้คือการแสดงนัยยะที่โยงมาสู่ปัจจุบันว่าไทย-เยอรมันมีศัตรูที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ร่วมกัน และจะสามารถเอาชนะได้ไม่ต่างจากที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติ
[สรุปบางตอนจากงายวิจัยเรื่อง การประกอบสร้างศิลปะไทยฉบับทางการ : ประวัติศาสตร์ศิลปะ กับการก่อร่างสร้างชาติ พ.ศ.2408-2525 ของ ชาตรี ประกิตนนทการ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิงหาคม 2561 หน้า 226-229]
คํากล่าวเปิดนิทรรศการของประธานาธิบดีเยอรมัน ด้วยการอ้างถึงไทยถูกรุกรานโดยมองโกล เป็นข้อมูลได้จากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ว่าด้วยไทยเป็นเชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์ เป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของจีน)
ต่อมาน่านเจ้าถูกรุกรานจากจีนกุบไลข่าน (เป็นมองโกล) ทำให้คนไทยแท้ต้องอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนลงไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในดินแดนไทยปัจจุบัน แล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก
ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยสำนวนนี้มีปัญหา ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วกัน ดังนี้
(1.) ประวัติศาสตร์ฯ สำนวนนี้ ชนชั้นนำสยามได้ข้อมูลจากนักค้นคว้าชาวยุโรปเจ้าอาณานิคม เมื่อเรือน พ.ศ.2400 (ราว 150 ปีมาแล้ว)
สยามไม่ได้ค้นคว้าด้วยตนเอง และไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหลักฐาน
(2.) ประวัติศาสตร์ฯ สำนวนนี้เป็นที่เชื่อถืออย่างยิ่งของชนชั้นนำสยามสมัยนั้น
ยกเว้น ร.5 ทรงมีข้อมูลแตกต่าง ดังพบในพระราชดำรัสเปิดโบราณคดีสโมสร พ.ศ.2450 (117 ปีมาแล้ว)
(3.) ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยสำนวนนี้ถูกใช้งานทางการโดยไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีรองรับสนับสนุน เพื่อสนองการเมืองชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติไทยหลังเปลี่ยนชื่อจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย พ.ศ.2482 (85 ปีที่แล้ว) ด้วยการยกเชื้อชาติไทยเหนือชาติพันธุ์อื่นที่มีมากกว่าในสยาม
(4.) ประวัติศาสตร์ไทยสำนวนนี้ถูกรัฐบาลไทยใช้งานปลุกความรักชาติ รักความเป็นไทย (ไม่เหมือนใครในโลก) และคลั่งเชื้อชาติไทย ขณะเดียวกันก็ใช้ต่อต้านจีนด้วยการเข้าร่วมเป็นฝ่ายสหรัฐในสงครามเย็น
(5.) ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยสำนวนนี้เป็นแนวคิดหลักของการศึกษาไทยทั้งประเทศ
[ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ตลอดช่วงที่เป็นคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้ประวัติศาสตร์ไทยสำนวนนี้เป็นหลักการเรียนการสอน แล้วปรับประวัติศาสตร์ศิลปะเข้ากับประวัติศาสตร์ไทยสำนวนนี้]
ปลายปี 2507 อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดสัมมนาวิชาการหัวข้อ “บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร” มีนักค้นคว้าชาวตะวันตกแสดงหลักฐานวิชาการว่า น่านเจ้าไม่ใช่ของไทย และ ไม่มีคนไทยในน่านเจ้า แต่ประเด็นนี้ไม่ถูกยกมาศึกษาจริงจังทางวิชาการ ส่วนประวัติศาสตร์โบราณคดียังยืนยันน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของไทย
ต่อมาราว 40 ปีมานี้ รัฐบาลจีนหนุนหลังนักวิชาการจีนเผยแพร่งานค้นคว้าวิจัย โดยสรุปว่าน่านเจ้าไม่มีคนไทย ดังนั้นจีนไม่เคยรุกรานขับไล่คนไทย
หลังจากนั้นเรื่องน่านเจ้าถูกยกออกจากประวัติศาสตร์ไทย (ตามหลังอัลไตที่ถูกยกออกนานแล้ว) แต่การเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัย (ในขณะนี้) ยังคงไว้เรื่องชนชาติไทย เชื้อชาติไทย มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน โดยไม่มีข้อทักท้วงจากนักโบราณคดี •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022