ศาสนา ความเชื่อ : เสถียร โพธินันทะ

เป็นที่รับรู้กันว่า เสถียร โพธินันทะ มีความสนใจใน 2 เรื่องอย่างจริงจัง 1 คือเรื่องในทางพระพุทธศาสนา และ 1 คือเรื่องในทางประวัติศาสตร์

ปรากฏว่า 2 เรื่องนี้ดำเนินไปอย่างเกื้อกูลต่อกันและกัน

ความสนใจในประวัติศาสตร์ทำให้มีความเข้าใจในกระบวนการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดำเนินไปของพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกัน ความสนใจในพระพุทธศาสนาทำให้เข้าใจในกระบวนการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดำเนินไปของประวัติศาสตร์

ตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นได้จากเมื่อศึกษาและเรียบเรียงเรื่องราวของจีนมาเป็นหนังสือชื่อ “เมธีตะวันออก”

เบื้องต้นตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร “ศุภมิตร” ต่อมาได้พิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี 2506

ในปี 2508 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้รางวัลแก่หนังสือ “เมธีตะวันออก”

นี่คือรูปธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์กับศาสนา

แม้จะเป็นการศึกษาและทำความเข้าใจต่อการก่อรูปของ “ศาสนา” ในสังคมจีน แต่ก็เป็นเงาสะท้อนไปยังสังคมอื่นได้โดยอนุโลม

โปรดอ่าน

จากข้อความจารึกบนกระดูกมังกรและจารึกบนกระดองเต่า เราทราบว่าชาวจีนในยุคแห่งราชวงศ์เซียงนับถือบูชาพระเจ้าอันเป็นเทวะประจำชาติหลายองค์ พระเจ้าเหล่านี้เป็นผู้ดลบันดาลให้ฝนตก ฟ้าร้องและพืชผลอุดม

หรือในยามกริ้วก็อาจลงโทษให้มีภัยพิบัติต่างๆ

เป็นความเชื่ออย่างเดียวกับมนุษย์โบราณทั้งหลายที่ยังหาเหตุผลจากความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไม่ได้จึงสร้างพระเจ้าขึ้นมาจากความไม่เข้าใจของตนและก็บูชาสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมานั่นเอง

พระเจ้าเหล่านี้ก็เหมือนมนุษย์ คือต้องมีหัวหน้าอันเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเทวาดิเทพ

จีนมีคำเรียกพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ว่า “เทียน” ซึ่งแปลตามตัวว่าฟ้าหรือสวรรค์ แต่คำนี้เป็นคำดิ้นมีความหมายได้หลายอย่าง คือในสมัยเมธีแปลว่าธรรมชาติก็ได้ หมายถึงกฎก็ได้ หมายถึงผืนฟ้าที่แลเห็นกันอยู่นี้ก็ได้ และเล็งถึงความสมบูรณ์แห่งจักรภพก็ได้

ในยุคก่อนเมธีคงหมายถึงพระเจ้าอันเป็นบุคลาธิษฐานเป็นส่วนใหญ่

ตำนานเทพนิยายปกรณัมจีนเล่าถึงพระเจ้าสร้างสรรค์โลกเหมือนกัน แต่เรื่องนี้จีนไม่เอาใจใส่ ถือเป็นสำคัญอย่างศาสนาเทวนิยมทั่วไป จีนไม่สนใจว่าโลกนี้จะมีผู้สร้างหรือไม่ แต่จีนนับถือพระเจ้าเพราะเชื่อว่าสามารถให้พรและลงโทษได้เท่านั้น

แต่ฐานะการเคารพนับถือในพระเจ้าของจีนก็ผิดกับศาสนาเทวนิยมอื่นเขา

คือประชาชนจะไม่มีสิทธิบูชาเซ่นสรวงพระเจ้าโดยตรง ผู้มีสิทธิจะบวงสรวงพระเจ้าได้มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น คือพระมหากษัตริย์ ประชาชนมีความทุกข์ยากอย่างไรที่จะต้องเรียนร้องกับพระเจ้าก็ต้องกราบทูลให้กษัตริย์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้

ทั้งนี้ เพราะจีนถือว่าพระเจ้าปกครองโลกโดยผ่านผู้แทนของพระองค์ คือกษัตริย์ ซึ่งพระเจ้าได้เลือกสรรไว้แล้ว

พระเจ้าแผ่นดินจีนจึงมีหน้าที่เป็นศาสนาจารย์โดยปริยายอีกตำแหน่งหนึ่ง

นี่ก็เป็นสาเหตุ 1 ที่ศาสนาของจีนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการเมือง ศาสนาไม่สามารถตั้งเป็นสถาบันอิสระได้ และก็ไม่มีคณะศาสนาจารย์ที่ทรงอิทธิพลอย่างพราหมณ์ในอินเดีย มีแต่เจ้าหน้าที่พิธีการและดูแลเทวาลัย

เจ้าหน้าที่เหล่านี้บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นนักพยากรณ์ นักดาราศาสตร์ นักเล่นแร่แปรธาตุและเป็นแพทย์

จีนเพิ่งจะมีคณะนักบวชขึ้นต่างหากในสมัยหลัง

ตรงนี้เองที่มีการเรียกขาน “ฮ่องเต้” ว่าเป็น “โอรสแห่งสวรรค์” กระนั้น สถานะอันไม่แน่นอนของโอรสแห่งสวรรค์ก็สะท้อนความเป็นอนิจจังอย่างเด่นชัด

การเกิดขึ้นของ “เล่าปัง” กระทั่งสถาปนาราชวงศ์ “ฮั่น” คือตัวอย่าง 1

การต่อสู้กับราชวงศ์ฉิน การสามารถโค่นล้มอำนาจของฌ้อปาอ๋อง ทำให้เล่าปังปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าฮั่นโกโจ ทุกอย่างเป็นไปตามโองการแห่งสวรรค์ พระเจ้าฮั่นโกโจดำรงอยู่ในสถานะของ “โอรสแห่งสวรรค์”

สวรรค์จึงแปรเปลี่ยนไปตามการยอมรับของประชาชน