ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (21)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

“ความคิดเห็นที่แตกต่าง”
ของหลวงประดิษฐ์ฯ

“ความคิดเห็นที่แตกต่าง” อันนำไปสู่ “การปฏิบัติที่แตกต่าง” ซึ่งจะส่งผลต่อมิตรภาพระหว่างกันในอนาคตระหว่าง “แปลก-อดุล” มิได้เกิดขึ้นจากทัศนะในการปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองระหว่าง “แปลก-อดุล” เท่านั้น

แต่ต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็เกิด “ความคิดเห็นที่แตกต่าง” กันระหว่าง “ปรีดี-แปลก” ในเหตุการณ์สำคัญต่อมาหลังกรณีศาลพิเศษ พ.ศ.2482 คือกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.2483

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ได้บันทึกไว้ใน “อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนจดหมายถึงท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ขณะยังพำนักอยู่ในประเทศจีนภายหลังที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ถึงอสัญกรรมไปแล้ว มีข้อความบางตอนดังนี้

“เมื่อประเทศฝรั่งเศสได้ยอมแพ้แก่เยอรมนีแล้ว (ฝรั่งเศสทำสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2483 ภายหลังที่กองทัพนาซียาตราเข้ากรุงปารีสได้ 8 วัน) เวลานั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่ามีช่องทางที่ประเทศไทยจะได้ดินแดนที่เสียไปคืนมาเป็นของไทยโดยวิธีกฎหมายระหว่างประเทศ ผมจึงได้พบท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่วังสวนกุหลาบ แสดงทัศนะของผมว่าเป็นการสมควรที่รัฐบาลไทยจะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกในสมัยนั้นให้วินิจฉัยว่าดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ไปจากไทยตั้งแต่ ร.ศ.112 เป็นต้นมาต้องคืนมาเป็นของประเทศไทย เพราะประเทศไทยโอนดินแดนเหล่านั้นให้ฝรั่งเศสเพื่อให้อยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสยอมแพ้เยอรมนีและบ้านเมืองระส่ำระสาย ก็เป็นการแสดงว่าประเทศฝรั่งเศสไม่สามารถจะอารักขาดินแดนที่ประเทศไทยได้โอนไปให้นั้นอีกได้ ประเทศไทยจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะได้คืนดินแดนนั้น”

(ทั้งนี้ เป็นเหตุผลที่ฝ่ายไทยมีทางชนะได้ในสมัยที่ฝรั่งเศสยังเป็นรัฐอารักขาดินแดนเหล่านั้น ซึ่งต่างกับเหตุผลที่รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อ้างต่อศาลโลกในกรณีเขาพระวิหารภายหลังที่กัมพูชาเป็นเอกราชแล้ว)

“แต่ความคิดเห็นของผมมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล คือรัฐบาลได้ใช้วิธียื่นบันทึกให้รัฐบาลวิชี (รัฐบาลฝรั่งเศสที่ตั้งขึ้นภายหลังสงบศึกกับเยอรมนี) คืนดินแดนให้แก่ไทย เมื่อรัฐบาลวิชีไม่คืนให้ รัฐบาลไทยก็ได้ดำเนินการเอาดินแดนคืนโดยวิธีทางทหาร ในฐานะที่ผมเคารพเสียงข้างมากในรัฐบาลก็ได้ปฏิบัติตามนโยบายส่วนรวม คือในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้จัดหาเงินเพื่อค่าใช้จ่ายในการทหารเป็นจำนวนมากให้อย่างสมบูรณ์รวดเร็วโดยมิได้มีการขาดตกบกพร่องแต่อย่างใดในการทหาร”

“แต่ไม่กระทบถึงเสถียรภาพของเงินตราไทยในสมัยนั้น”

 

ลัทธิผู้นำ

หลังประสบความสำเร็จจากกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อต้นปี พ.ศ.2484 แนวความคิดและบทบาทที่แสดงออกของหลวงพิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะถือชัยชนะต่อฝรั่งเศสเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของตนซึ่ง “ได้ใจ” ชาวไทยที่สะสมความแค้นเคืองฝรั่งเศสมาตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ได้รับความชื่นชมในหมู่ประชาชนเป็นอันมาก หลวงพิบูลสงครามจึงเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากยิ่งขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกันสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2482 และกำลังมีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นต่อไปในเอเชีย หลวงพิบูลสงครามซึ่งกลายเป็น “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” จึงอาศัยสถานการณ์มุ่งสร้างความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของคนไทย โดยยึดถือแบบความสำเร็จของเยอรมนีและญี่ปุ่นที่ใช้ลัทธิ “ชาตินิยม” และ “อำนาจนิยม” เป็นหลักในการกำหนดทิศทางของสังคมและประเทศชาติตามคำขวัญ

 

“เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”
“ชาตินิยม” กับ “คลั่งชาติ”…

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อธิบายไว้ใน “คณะราษฎรผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญ” ว่า

“คำว่า ‘ชาตินิยม’ ในภาษาไทยมีความหมายได้หลายความหมาย ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในคำภาษาอังกฤษ สำหรับ ‘ชาตินิยม’ ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘patriotism’ นั้น สมาชิกของคณะราษฎรไม่มีความคิดเห็นที่ต่างกัน เพราะทุกคนต้องการที่จะเห็นชาติไทยมีความเจริญก้าวหน้า เข้มแข็งและมีเอกราชอธิปไตยอันสมบูรณ์ ไม่อยู่ใต้อำนาจของชาติใด แต่หาก ‘ชาตินิยม’ มีแนวโน้มไปทาง ‘เชื้อชาตินิยม’ (racialism) ความคิดเห็นก็จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก ‘ชาตินิยม’ ไปไกลถึงขั้น ‘ความคลั่งชาติ’ ( chauvinism) ที่มีความคิดว่าชาติไทยยิ่งใหญ่กว่าชาติอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกของคณะราษฎรที่มีความคิดเห็นเป็นกลางๆ ไม่สุดโต่ง ก็จะมีความเป็นชาตินิยมในลักษณะที่เป็น “ความรักชาติ” (patriotism) ที่มีความพร้อมจะสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ของชาติ

ปรากฏหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แนวทางของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยเฉพาะหลังความสำเร็จกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสนั้นได้ข้ามเส้นแบ่ง “ชาตินิยม” ไปสู่ “ความคลั่งชาติ” โดยเฉพาะ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” จนนำไปสู่ข้อกล่าวหา “เผด็จการ” อันยังคงเป็นที่ถกเกียงติดต่อกันมายาวนานจนแม้ปัจจุบันว่าขัดแย้งกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร

 

จอมพล ป.เปลี่ยนไป

ใน “อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต ได้บันทึกตามคำบอกเล่าของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถึงความเปลี่ยนแปลงของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ว่า

“ในระยะแรกที่หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้ดำเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎรที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นนายพลตรี

ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานก็มีบุคคลที่มีทัศนะสืบเนื่องจากระบบทาสสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส

คนสมัยนั้นได้กล่าวขวัญกันถึงว่า มีบางคนได้เข้าไปกราบไหว้ว่า ได้แลเห็นแสงรัศมีอันเป็นอภินิหารออกจากกายหลวงพิบูลฯ คำเล่าลือนั้นอาจขยายมากเกินไป ความจริงมีเพียงว่า ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบ (ขณะนั้นเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรี) ในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย

ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจำกันได้ว่าหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นำละครมาแสดง และในบางฉาก ท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบำฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบำฝูงนั้นแสดงว่าคนมีบุญได้จุติมาเกิดในปีระกาซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการแสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญแล้วได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป

หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้า แสดงอาการขวยเขินแล้วได้หันไปประนมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ ข้าพเจ้าเห็นว่าขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ”

 

“แต่ต่อมาเมื่อซากทัศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อยๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่าจตุสดมภ์ที่คอยยกยอปอปั้นก็ทำให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้

เมื่อได้มีการสงบศึกกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว มีผู้สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯขอพระราชทานยศสูงขึ้น หลวงพิบูลฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าและอีกหลายคนว่า จะคงมียศเพียงนายพลตรีเท่านั้น แต่คณะผู้สำเร็จราชการซึ่งเวลานั้นประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล โดยขอให้หลวงอดุลเดชจรัสช่วยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เรื่องนี้หลวงพิบูลฯ มิได้รู้ตัวมาก่อน แต่เมื่อได้ทราบจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังไม่สมัครใจที่จะรับยศจอมพลนั้น และไม่ยอมไปรับคทาจอมพลจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้นำคทาจอมพลไปมอบให้จอมพล ป.ที่ทำเนียบวังสวนกุหลาบ

ต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น”

 

พฤติการณ์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในความเห็นของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นี้สอดคล้องกับคำให้การของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ต่อศาลอาชญากรสงคราม ในเวลาต่อมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า

“เมื่อจอมพล ป.ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นนั้น ตามทางสังเกตและการสืบสวนของข้าฯ สังเกตได้ว่าในคณะผู้ก่อการและคณะรัฐมนตรีข้าราชการและประชาชนทั่วไปรู้สึกเลื่อมใสในนโยบายและการบริหารราชการ แต่ครั้นเมื่อมีกรณีพิพาทต่ออินโดจีนแล้ว หลวงพิบูลสงครามได้รับยศให้เป็นจอมพล ต่อแต่นั้นมาอีกประมาณสัก 6 เดือนตามความสังเกตและความรู้สึกของข้าฯ สังเกตว่า จอมพล ป.ได้ทนงในความคิดความเห็นความรู้ของตัวเป็นที่ตั้ง”

“ความคิดความเห็นของรัฐมนตรีที่ได้ให้ความคิดเห็นด้วยบริสุทธิ์ใจก็ดี การตักเตือนของบรรดาเพื่อนฝูงที่เห็นว่าการกระทำนั้นไม่ชอบก็ดี จอมพล ป.มักจะไม่ใคร่เอาใจใส่ ถือแต่อารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ก็ด้วยจอมพล ป.คิดทนงว่าตัวนั้นเป็นผู้มีความรู้ความคิดดียิ่งกว่าผู้อื่น”

“และนอกจากนี้แล้วอาจเป็นไปได้ด้วยเส้นประสาทของจอมพล ป.อาจพิการด้วยเหตุบางประการ เช่น จากการถูกยิง ถูกวางยาพิษหลายครั้ง จึงเกิดความระแวงสงสัยไม่เชื่อถือในบุคคลอื่นๆ แม้แต่คนที่เคยอยู่ใกล้ชิดและไว้วางใจกันมา”

“นอกจากเหตุนี้แล้วตามความสืบสวนและความสังเกตของข้าฯ ก็ยังปรากฏต่อไปว่า จอมพล ป.มักชอบคนประจบสอพลอ แต่ผู้ที่ไปประจบสอพลอนั้นมักเป็นผู้ที่โง่กว่าและมีชื่อเสียงไม่ดี ไม่เป็นที่เคารพของผู้อื่น บุคคลเหล่านี้ถือเอาจอมพล ป.เป็นที่พึ่ง”

“เพราะถ้าปราศจากจอมพล ป.แล้วตัวก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ไป แต่ถ้าบุคคลใดซึ่งเป็นคนหลักแหลมรู้เท่าถึงการณ์ของจอมพล ป.แล้ว จอมพล ป.ก็มักไม่ไว้วางใจ แม้ผู้นั้นจะมีความสามารถเป็นที่นิยมชมชอบของผู้อื่นก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสายตาและความสังเกตของจอมพล ป.”

“แล้วก็พยายามที่จะกระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้นั้นขาดความนิยมเลื่อมใสลงไป”