ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท ที่โหวตผ่านสภาผู้แทนฯ ในวาระแรกมี ส.ส.ให้ความสนใจกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและเจาะลึกอนาคตของประเทศในการยกระดับพลังงานสะอาดได้อย่างน่าชมเชย
แต่ในอีกมุมชี้ให้เห็นว่า การจัดงบฯ ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เพื่อสอดรับกับทิศทางสีเขียวซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกมีสัดส่วนจิ๊บจ๊อยมาก
คุณศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็น 1 ในผู้อภิปรายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทยที่น่าชมเชยมาก
คุณศุภโชติบอกว่า รัฐบาลควรเร่งผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวเพราะจะเป็นทางรอดและเป็นโอกาสในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
จากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไหร่ ไทยยิ่งเสียหายมากเท่านั้น
ในรายงานของสวิสฟรีเป็นสถาบันของสวิตเซอร์แลนด์บอกว่าไทยมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ส่งผลกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ถ้าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส จีดีพีไทยจะลดลง 4.9% แต่ถ้าในกรณีเลวร้าย อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส จีดีพีจะหายไป 40% หรือคิดตัวเลขกลมๆ 8 ล้านล้านบาท
นี่เป็นเหตุผลที่คุณศุภโชติบอกว่ารัฐบาลต้องเติมเต็มกับการเติบโตเศรษฐกิจสีเขียวเพราะเป็นทางรอด
ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน ดูจากตัวเลขการลงทุนต่างชาติมีมากถึง 79% และอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี 70%
นักลงทุนที่ต้องการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% ตลอด 24 ชั่วโมง
คุณศุภโชติตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดเช่นนี้หรือไม่?
ทิศทางอนาคต 2 ปีข้างหน้าสหภาพยุโรปหรืออียูจะเก็บภาษีสินค้าที่ผลิตโดยใช้กระบวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าสินค้าที่ผลิตด้วยกระบวนการพลังงานสะอาด วันนี้โรงงานในไทยพยายามควานหาแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ถ้ารัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดอย่างเพียงพอจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
แต่วันนี้เมื่อเอาเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ประเทศไทยกำหนดปี 2608 ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม หรืออังกฤษ ตั้งเป้า Net Zero ไว้ที่ปี 2593 เร็วกว่าไทยถึง 15 ปี
การตั้งเป้าหมาย Net Zero ก็แพ้เพื่อนบ้าน
เมื่อหันไปดูการผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม บ้านเราผลิตได้ 5% สูงกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ต่ำกว่าเวียดนาม และเทียบกับอังกฤษ ห่างกันลิบลิ่วเพราะอังกฤษผลิตได้ปีละ 40%
หรือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ ไทยวางเป้าหมายว่า ในระยะเวลา 17 ปีจะติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ทั่วประเทศให้ได้ 48% หรือ 12 ล้านราย
แต่ขณะนี้อังกฤษติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ทั่วเกาะได้แล้วเกือบ 75%
อีกปัจจัยที่นักลงทุนจะดูว่าควรไปลงทุนในประเทศนั้นๆ หรือไม่ นั่นคือการเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากน้อยแค่ไหน
ประเทศอื่นๆ มีทางเลือกให้โรงงานสามารถเลือกซื้อแพ็กเกจพลังงานสะอาดในหลายทาง เช่น ติดต่อกับโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงแล้วจ่ายค่าเช่าสายส่งให้กับภาครัฐเพื่อลำเลียงไฟฟ้าเข้าสู่โรงงานผลิตสินค้า หรือติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในบริเวณโรงงานของตัวเองก็ทำได้
แต่ไทยมีทางเลือกเดียวคือติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในโรงงานเท่านั้น
ปัจจัยเหล่านี้ จะเห็นว่าประเทศไทยตกรถไฟขบวนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
สิ่งที่ประเทศไทยทำได้ในขณะนี้คือการทุ่มงบประมาณเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีพลังงานสะอาดมากขึ้นรองรับกับความต้องการในอนาคต
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานนั้นต้องใช้เวลานาน นานกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าและต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัย
ยกตัวอย่าง แผนการยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ในระยะสั้น ตั้งเป้าว่าจะยกระดับ Smart Grid ใช้งบฯ 1,700 ล้านบาท แผนเสร็จตั้งแต่ปี 2564 แต่เบิกจ่ายใช้จริงแค่ 200 ล้านบาท โครงการที่ทำสำเร็จมี 6 โครงการจากทั้งหมด 16 โครงการ และเป็นเพียงโครงการวิจัยนำร่อง ไม่มีโครงการใดเลยที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการยกระดับโครงสร้างพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
ระยะกลาง เริ่มปี 2565 ทำได้แค่ 24 โครงการจากทั้งหมด 53 โครงการ เช่นเดียวกับการติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ปีละ 1.2 ล้านอัน แต่ติดตั้งจริงเพียง 4 หมื่นอัน ไม่ถึง 1% ของเป้าหมายทั้งหมดที่ตั้งไว้
ต่างกับอังกฤษ สามารถติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ได้สัปดาห์ละ 8 หมื่นอัน
ดูแค่เป้าหมายทั้งระยะสั้นระยะกลางของการยกระดับ Smart Grid ก็เละเทะมากพอแล้ว ไม่ต้องไปดูระยะยาว จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า รัฐบาลใส่ใจกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานสะอาดจริงหรือ
เมื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ของกระทรวงพลังงาน ได้รับทั้งสิ้น 2,890 ล้านบาท แบ่งไปเป็นงบฯ บุคลากร 892 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.9% งบฯ สมาร์ตกริด 39 ล้านบาท หรือ 1.3% อีก 1,959 ล้านบาท หรือ 67.8% นำไปใช้เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
คุณศุภโชติจึงไม่แน่ใจว่าประเทศไทยต้องการความมั่นคงด้านพลังงานแค่ไหน เพราะปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเกินต่อความต้องการมากพออยู่แล้ว
คุณศนิวาร บัวบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นอีกคนที่อภิปรายเรื่องภาวะโลกเดือดได้ดีทีเดียว
เริ่มต้น คุณศนิวารยกตัวอย่างสภาอันทรงเกียรติว่ากำลังทรุดตัวปีละ 1 เซนติเมตร
และฉายภาพภาวะโลกร้อนและผลกระทบให้เห็นว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคนไทยเผชิญกับคลื่นความร้อน จังหวัดสุโขทัยอุณหภูมิพุ่งขึ้นเกือบ 45 องศาเซลเซียส บางพื้นที่ในประเทศ ผลไม้ไม่ออกผลจากภัยแล้ง บางพื้นที่มีพายุฤดูแล้งถล่ม ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหลายราย
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท
คุณศนิวารชี้ว่าวิกฤตโลกร้อนมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบและควรที่รัฐบาลจะต้องตระหนักและทำเป็นวาระเร่งด่วนอย่างจริงจัง
แต่จากการดูร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 พบว่าในด้านยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับงบประมาณเพียง 2,127 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.24% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น
ด้วยงบประมาณที่จะได้รับซึ่งถือว่าน้อยมากทำให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ภาคสาธารณสุขเสี่ยงเกิดโรคอุบัติใหม่ ภาคการเกษตรเสี่ยงต่อผลผลิตทางการเกษตรหดตัว
รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ เริ่มจากจัดสรรงบประมาณไปยังโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงแต่ยืดหยุ่นเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่จะเกิดจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว เขตชายฝั่งทะเลจากภัยพิบัติ
ในด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยลดโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตข้าวที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะมูลฝอย และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนนั้น คุณศนิวารบอกว่ารัฐบาลควรจะจัดงบประมาณเป็นสัดส่วน 20%
เรื่องของการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ พัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองและการป้องกันหน้าดินซึ่งควรได้รับงบประมาณเป็นสัดส่วน 10%
การจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนการจัดการโลกร้อนส่วนใหญ่จัดสรรให้กับกรมอุตินิยมวิทยาเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อคาดการณ์ลมฟ้าอากาศ แต่โครงการเพื่อป้องกันภัยพิบัติกลับกระจายไปอยู่ที่แผนงานอื่นที่ไม่ใช่แผนงานโลกร้อนและกระจายตัวไปยังกรมต่างๆ ซึ่งโครงการป้องกันภัยพิบัติที่มีนั้นก็เป็นการจัดการไม่ตรงจุด
การพิจารณางบประมาณปี 2568 พบว่าโครงการที่มีก็ยังไม่ใช่ โครงการที่ใช่ก็ดันไม่มี
เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลจัดงบฯ ในลักษณะนี้อย่าว่าแต่เป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 เพียงแค่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังไม่เห็นทางเลยว่าจะทำได้สำเร็จ
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก
แต่จะได้รับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของประชาชนและการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
“ถึงเวลาแล้วที่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรเป็นแผนบูรณาการเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และปัจจุบันกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมก็มีแล้ว ร่าง พ.ร.บ.โลกร้อนก็กำลังจะมีแล้ว” คุณศนิวารกล่าวสรุปอภิปราย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอภิปรายงบฯ ปี 2568 ที่เกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อมและการรับมือกับภาวะโลกเดือด นอกจากคุณศุภโชคและคุณศนิวารแล้วยังมี ส.ส.อีกหลายคนนำประเด็นเหล่านี้มาตีแผ่กลางสภาผู้แทนฯ
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญและจัดงบประมาณในสัดส่วนที่ต่ำมาก •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022