รถไฟ-ประชากร ของฝากจากเมืองจีน | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

“หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” คราวนี้เป็นข้อเขียนจากเมืองจีนครับ

นี่ผมเพิ่งกินข้าวเย็นมาสดๆ ร้อนๆ โรงแรมที่พักผมอยู่ที่เมืองไท่หนิง มณฑลฟูเจี้ยน

มณฑลนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คืออยู่ตรงกันข้ามกับเกาะไต้หวันนั่นเอง

ชีวิตของผมแม้จะเป็นนักเดินทางพอสมควร เฉพาะปีนี้ผ่านไปได้ครึ่งปี ผมก็เดินทางไปเสียในราวห้าหกประเทศแล้ว

กล่าวเฉพาะการเดินทางมาประเทศจีน แน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของผม และควรสันนิษฐานว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่ได้มาเมืองจีนบ่อยนัก เพราะเมื่อก่อน กว่าจะไปหาสู่กันก็ต้องทำวีซ่าให้เป็นที่เดือดร้อนตระเตรียมเอกสารมากมาย

แต่ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา พอฟรีวีซ่าแบบเสมอภาคกันแล้ว เมื่อเพื่อนฝูงชวนมาเที่ยวเมืองจีนก็ไม่ต้องคิดมากครับ ผมตอบตัดสินใจว่าจะร่วมคณะกับเขาไปได้ในทันที

 

มาเมืองจีนเที่ยวนี้ ชวนให้หวนคิดไม่ได้ว่าผมมาประเทศจีนครั้งแรกเมื่อไหร่ คำตอบคือเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2539 บวกลบคูณหารก็แปลว่าเกือบ 30 ปีมาแล้วสินะ

การมาท่องเที่ยวประเทศจีนคราวนั้นเป็นการมาเที่ยวกับครอบครัวและผู้คุ้นเคยคณะใหญ่

เรามาทัวร์ตามรูปแบบปกติเลยครับ เป็นการท่องเที่ยวที่กรุงปักกิ่งเป็นหลัก ไปดูพระราชวังต้องห้าม ไปปีนกำแพงเมืองจีน

จะเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งก็ต้องลุ้นกันว่าจะรอดชีวิตออกมาหรือไม่ เพราะกิตติศัพท์เรื่องห้องน้ำของเมืองจีนยุคนั้นเป็นที่ระบือลือลั่นจริงๆ

จำได้แม่นยำว่าเวลานั้นใกล้จะถึงช่วงเวลาสำคัญที่จะมีพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝากผมกับผู้ร่วมคณะอีกคนหนึ่ง ชื่อ อาจารย์จรรมนง แสงวิเชียร ให้ช่วยสอดส่องจัดหาหินควอตซ์ขนาดใหญ่ สำหรับไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อนในโอกาสสำคัญครั้งนั้น

ทัวร์ปักกิ่งคราวนั้น ผมกับอาจารย์จรรมนง หาก้อนหินเหมาะใจได้แล้วครับ แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ได้แต่เพียงถ่ายรูปและนำข้อมูลทั้งหมดกลับมาปรึกษากับท่านอธิการบดีเทียนฉาย

เมื่อได้คำตอบสุดท้ายแล้ว ผมกับอาจารย์จรรมนง ก็บินกลับไปปักกิ่งอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปอยู่เพียงแค่ 24 ชั่วโมง เพื่อไปนำก้อนหินดังกล่าวกลับมาเมืองไทย

จำได้ว่าไปปักกิ่งรอบสองนี้ ได้กินเป็ดปักกิ่งที่เมืองปักกิ่งเป็นคราวแรก เค็มปิ๊ดปี๋เชียวครับ

 

หลังจากนั้นผมก็ได้ไปเมืองจีนอีกสี่ห้าคราว เป็นการไปราชการที่กรุงปักกิ่งหนึ่งครั้ง ไปราชการที่เมืองหนานหนิง และเมืองเซี่ยงไฮ้อีกเมืองละหนึ่งครั้ง

นอกจากนั้น ก็เป็นการไปท่องเที่ยวกับเพื่อนฝูง รวมทั้งการมาเที่ยวเมืองจีนคราวนี้ด้วย

เห็นได้ชัดทีเดียวครับว่า เมืองจีนช่วงเวลาประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว

ขออนุญาตนำเรื่องราวเพียงแค่สองเรื่องที่ได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังมาเล่าไว้ในที่นี้ เพื่อให้เห็นว่าเมืองจีนก้าวไปถึงไหนแล้ว

ถือว่าเป็นของฝากจากผมในโอกาสที่มาเที่ยวต่างประเทศนะครับ

 

เรื่องแรกคือการนั่งรถไฟของเมืองจีน เนื่องจากประเทศจีนมีขนาดใหญ่โตมหึมา การเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และจำเป็นต้องมีการดูแลจากภาครัฐให้เป็นไปโดยสะดวก

มาจีนครั้งนี้ผมได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปแล้วหนึ่งครั้ง จากเมืองอะไรไปถึงเมืองอะไรก็ช่างเถิด เพราะชื่อจำยากทุกเมืองสำหรับสมองผม ฮา!

เอาแต่รถไฟของเขาใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ 200 กิโลเมตร บางช่วงเวลาก็สามารถเร่งความเร็วขึ้นไปได้ถึงชั่วโมงละ 240 กิโลเมตร การเดินทางซึ่งปกติถ้าใช้รถยนต์ใช้เวลาถึงเจ็ดหรือ 8 ชั่วโมง ก็ย่นระยะเวลาลงได้เหลือเพียงแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง

ผมถามคุณไกด์ที่ทำหน้าที่ประจำคณะของผมว่า ราคาค่าโดยสารเป็นอย่างไร ได้ความว่าอยู่ที่ประมาณ 200 หยวน คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยก็อยู่ที่ 1,000 บาท

ผมอดนึกในใจไม่ได้ว่าถูกดีจริง ส่วนจะเข้าเนื้อรัฐบาลบ้างหรือไม่ ผมไม่มีข้อมูลในส่วนนั้น หรือบางทีอาจจะเป็นไปได้ว่าคนจีนเขานั่งเต็มขบวนรถไฟทุกขบวน ถึงเก็บในราคาเท่านี้ การรถไฟแห่งประเทศจีนก็อยู่ได้

 

เปรียบกับการเดินทางด้วยรถไฟในยุโรป ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วผมเพิ่งไปนั่งรถไฟจากกรุงเวียนนาออกไปเมืองซาลสเบิร์ก ใช้เวลานั่งรถประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ค่ารถไฟเป็นเงินกว่า 100 ยูโร แปลเป็นไทยก็ในราว 5,000 บาท

ราคาอันไหนแพงเป็นจำได้แม่นทีเดียว

ผมไม่ได้มีความรู้หรือความสามารถในการที่จะคำนวณว่าการลงทุนทำรถไฟแบบนี้จะคุ้มทุนเมื่อใดและต้องบริหารจัดการอย่างไร ปล่อยให้เป็นเรื่องท่านที่มีอำนาจวาสนาและมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ว่ากันต่อไป

แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมอยากจะออกความเห็นว่าการขนส่งทางรางเป็นเรื่องที่หลายประเทศเห็นว่ามีราคาถูก อุบัติเหตุก็น้อย เขาจึงลงทุนในเรื่องนี้เป็นลำดับต้น และในหลายประเทศ เขาจัดลำดับการลงทุนเรื่องรถไฟมาก่อนการลงทุนทำถนนเสียด้วยซ้ำ

เรื่องการทำรถไฟประเภทนี้ พูดกันในบ้านเรามานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังก้าวหน้าไปไม่ถึงไหน นี่ได้ไปกี่กิโลเมตรแล้วก็ไม่แน่ใจนัก

อย่าไปรอให้ถนนลูกรังหมดจากเมืองไทยเลยครับ ถนนลูกรังกับรถไฟความเร็วสูงนั้นคนละเรื่องกัน แค่คิดเอาประเด็นมาผูกติดกันก็มหัศจรรย์เกินความเข้าใจได้แล้ว

คิดได้อย่างไรหนอ

 

เมืองไท่หนิงที่ผมพักโรงแรมคืนวันนี้ มีทะเลสาบขนาดใหญ่ที่เล่าลือกันว่าสวยงาม และผมจะได้ไปท่องเที่ยวในวันพรุ่งนี้

แต่เดิมมาอย่าได้นึกถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเลยครับ แม้กระทั่งชาวจีนเองก็ยังครั่นคร้ามที่จะเดินทางสมบุกสมบันมาเมืองนี้โดยทางถนน

แต่เวลานี้เมื่อมีรถไฟความเร็วสูงมาถึงเมืองไท่หนิง อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวมีเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีคนไปมาหาสู่อย่างนี้ การทำมาหากินอย่างอื่นก็ติดตามมา ตัวอย่างเช่น โรงแรมที่ผมพักนอนคืนนี้ ถึงแม้จะเป็นโรงแรมขนาดเล็กในเมืองที่มีประชากรเพียงแค่ 100,000 คน แต่โรงแรมของเขาก็ล้ำยุคและกล้าลงทุน เพราะเชื่อว่าจะมีคนมาพักแรมเป็นจำนวนมากพอที่กิจการจะอยู่ยั้งยืนยงได้

การลงทุนภาครัฐในกิจการบางอย่าง จึงคิดตัวเลขกำไรขาดทุนเฉพาะตัวเลขในกิจการนั้นโดยตรงไม่ได้ หากแต่ต้องคิดผลประโยชน์หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นติดตามมาในแง่มุมอื่นๆ ด้วย เรียกว่าคิดให้รอบด้าน อย่ามองอะไรให้ตื้นเขินเกินไป

 

ส่วนเรื่องที่สอง ขออนุญาตให้ผมแหกโค้งไปพูดเรื่องอื่นสักเรื่องนะครับ

เรื่องที่ผมจะพูดจากข้อสังเกตของตัวเอง คือจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาลของจีนนั้น มีทั้งความง่ายและความยาก มีทั้งคุณและโทษเจือกันอยู่

ตัวอย่างเช่น เมื่อเมื่อคืนก่อน ผมไปชมการแสดงแสงสีเสียงประกอบนาฏกรรมที่เมืองอู่อี๋ซาน การแสดงชุดนี้เป็นฝีมือกำกับการแสดงของคุณจาง อวี้โหมว ผู้กำกับฯ มือระดับเทพและเป็นผู้กำกับการแสดงในงานโอลิมปิกเมื่อคราวที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพมาแล้ว การแสดงตื่นเต้นอลังการมาก และรู้ได้ทีเดียวว่าต้องลงทุนไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

ท่ามกลางคนดูเต็มอัฒจันทร์จำนวน 3,000 คน ผมเหลียวซ้ายแลขวาแล้วเข้าใจว่าผมและเพื่อนจำนวนรวม 12 คนนี้ เป็นชาวต่างประเทศกลุ่มเดียวที่พลัดหลงเข้าไปดูการแสดงกับเขาด้วย

ส่วนผู้ชมคนอื่นอีก 3,982 คน เป็นคนจีนที่มาจากเมืองต่างๆ และเมืองอู่อี๋ซานนั้นเอง

แค่จีนแสดง จีนดูด้วยกันเองก็เหลือแหล่แล้ว ไม่ต้องง้อใครอีก

เรื่องนี้ก็เหมือนกันกับอีกหลายเรื่องที่เมื่อเห็นแล้วต้องออกปากว่า ลำพังประชากรจีนก็เป็นตลาดขนาดใหญ่มหึมาที่เขาค้าขายกันเองก็รวยไม่รู้เรื่องแล้ว

 

ก่อนโรคโควิดจะระบาด คนจีนนิยมมาเที่ยวเมืองไทยมาก การท่องเที่ยวของเราก็รุ่งเรืองขึ้นทันตาเห็น

แต่มาถึงวันนี้ พอกระแสคนจีนมาเที่ยวเมืองไทยลดลง การท่องเที่ยวของเราก็น่าเป็นห่วงทันตาเห็นเหมือนกัน

เห็นอย่างนี้แล้ว ทำให้อดนึกถึงจำนวนประชากรในบ้านเราต่อไปไม่ได้ว่า แนวโน้มที่คนเกิดมีลดลง แน่นอนว่าในระยะยาวประเทศไทยก็จะมีประชากรลดจำนวนลงมากกว่าที่มีอยู่ในวันนี้

ความหมายระหว่างบรรทัดมีอีกอย่างหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ที่ตลาดของบ้านเราเองจะเล็กลง

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมเห็นกระทรวงสาธารณสุขเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องนี้ และอยากจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มประชากรขึ้น

พอมาเห็นการตลาดที่ค้าขายกันเองของเมืองจีนพึ่บพั่บอย่างนี้แล้ว ก็ให้รู้สึกเห็นใจกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมาเลยทีเดียว

นี่จะทำอย่างไรกันดีครับ

“ปิดไฟใส่กลอน แล้วเข้ามุ้งนอน” กันดีไหม อิอิ