ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ส่งผ่าน วิถีโค้ง
จาก สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
ถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ
หากมองจากมุมของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็คงไม่แตกต่างไปจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือแม้กระทั่ง ชลธิรา สัตยาวัฒนา มากนัก
นั่นคือ สนใจในเรื่อง งานด้าน “วิชาการ” อย่างเป็นด้านหลัก
แม้ สุจิตต์ วงษ์เทศ จะมีความต่างจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ต่างจาก ชลธิรา สัตยาวัฒนา และโน้มเอียงมาทาง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มากกว่า
ความที่เป็น “กวี” ความที่เป็น นักเขียน “เรื่องสั้น”
แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นนักเรียนโบราณคดี ตรงที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ เมื่อรากฐานคือความสนใจในการประพันธ์และกวีนิพนธ์จึงมีความสนใจวรรณคดีผนึกตัวผนวกเข้ามา
จึงมีความใกล้เคียงและละม้ายแม้นกับเส้นทางในทางวรรณกรรมกับ จิตร ภูมิศักดิ์ มากกว่าเพื่อนคนอื่น
กระนั้น ในความเป็นกวี สุจิตต์ วงษ์เทศ ยังเป็น “นักวิชาการ”
อาจเพราะใกล้ชิดกับ ศรีศักร วัลลิโภดม และโยงสายยาวไปยัง มานิต วัลลิโภดม ตลอดจนนักประวัติศาสตร์ “แหกคอก” จำนวนหนึ่งซึ่งฝังตัวอยู่ในกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร
ยิ่งทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ในลักษณะ “พงศาวดารกระซิบ” ซึมซ่านอย่างฝังลึกอยู่ในสายเลือด
จึงสนใจการขุดค้นในทาง “วรรณคดี” พอๆ กับการขุดค้น “โบราณสถาน”
ทะลุ สุนทรภู่
ถึง ทวาทศมาส
ใครที่ติดตามงานกวีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน ก็จะสัมผัสได้ว่าทั้งสองมิได้ติดอยู่กับกลอนของ “สุนทรภู่” หากแต่ไปไกลกว่านั้น
ขณะที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ชมชอบ “โคลง” สุจิตต์ วงษ์เทศ ดิ่งลึก “พื้นบ้าน”
จึงไม่เพียงแต่ป้วนเปี้ยนอยู่โดยรอบเมื่อมี “สังคีตศาลา” หากแต่ยังท่อง “พิพิธภัณฑ์” อย่างชนิดปรุโปร่ง
สุจิตต์ วงษ์เทศ ชื่นชมบทบาทของ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์
ไม่เพียงติดตามอ่าน “สามทหาร” หากแต่ยังลงลึกไปยัง “ปาริชาติ” เพื่อการระลึกชาติ
งานที่ชมชอบอย่างเป็นพิเศษ คือ ทวาทศมาส
ยิ่งเมื่อ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ทำงานใหญ่ด้วยการอ่านและตีความ “ทวาทศมาส” อย่างแพรวพราว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า พระวรเวทย์วิสิฐ นำเอา “ลิลิตพระลอ” มาอธิบายและทำเชิงอรรถ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ประเมินว่า หาก มานิต วัลลิโภดม ทำหน้าที่ขุดแต่งโบราณสถาน ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ก็ทำหน้าที่ขุดแต่งวรรณคดีโบราณ
เชื่อได้เลยว่าเขาต้องตื่นเต้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ต้องตะลึงกับ “โองการแช่งน้ำ”
น่ายินดีที่ มน เมืองดิน ค้นคว้าและเรียบเรียงบทความ “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ จิตร ภูมิศักดิ์” และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกผ่านหนังสือ “ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน” ของสำนักพิมพ์ปุยฝ้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2523
ทำให้ผลงานทางวิชาการของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับการประมวลเข้ามาอย่างเป็นระบบ
อ่านแล้วก็จะเข้าใจ สุจิตต์ วงษ์เทศ มากยิ่งขึ้น
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
โฉมหน้าศักดินาไทย
ผลงานเด่นที่ทำให้จิตรได้รับการกล่าวถึงในหมู่นักวิชาการคือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ระบุผ่าน “การตีความประวัติศาสตร์ไทยของจิตร ภูมิศักดิ์” ว่า
“เป็นการเปิดศักราชการมองและวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ไทยครั้งสำคัญที่สุด”
โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช ขยายผ่าน “ศักดินากับพัฒนาการของสังคมไทย”
“เป็นเอกสารที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เพราะนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีผู้นำทฤษฎีของมาร์กซ์มาใช้ในการวิเคราะห์ความเป็นมาของสังคมไทย ตลอดจนได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นไปของชนชั้นทาสและไพร่
ความสัมพันธ์ทางชนชั้นอย่างละเอียดที่ไม่เคยมีผู้ใดกระทำมาก่อน”
จากผลงานชิ้นนี้ทำให้นักวิชาการหลายสาขาหันมาศึกษาค้นคว้าชีวิตและผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์
ในด้านกลุ่มนักวิชาการ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมทางวิชาการสมาคมเดียวที่มีผลงานวิชาการสม่ำเสมอได้ให้ความสนใจผลงานของจิตรเป็นสมาคมแรก
โดยเริ่มจากการสัมมนาเรื่อง “แนวความคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับสังคมไทย” เมื่อเดือนกันยายน 2517 และสมาคมนี้ก็มีบทบาทในการเสนอผลงานและเรื่องราวชีวิตของจิตรตลอดมา
การเริ่มวิเคราะห์สังคมไทยของจิตรได้ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวศึกษาสังคมไทยในหมู่นักวิชาการทั้งหลาย ซึ่งก่อนหน้านั้นมักให้ความสำคัญกับการศึกษาทฤษฎีตะวันตกมากกว่า
จะนำมาประยุกต์หรือวิเคราะห์สังคมไทยอย่างจริงจัง
วีรพงษ์ รามางกูร
กับ ลัทธิมาร์กซิสม์
สืบเนื่องจากการใช้ทฤษฎีของมาร์กซ์มาวิเคราะห์สังคมไทยก็ได้ทำให้เกิดการถกเถียงและพิสูจน์ว่าการนำทฤษฎีมาร์กซ์มาใช้กับสังคมไทยจะเป็นไปได้หรือไม่
และการนำมาใช้ของจิตรถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
ในปี 2518 สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับ จิตร ภูมิศักดิ์ อีกครั้งหนึ่งในหัวข้อ “โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทย” เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
โดย ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้หยิบยก “โฉมหน้าศักดินาไทย” มาวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งในบางประเด็น พร้อมกันนั้นก็ได้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับสังคมพลังน้ำ (Hydraulic society) มาวิเคราะห์สังคมไทยด้วย
ประเด็นสำคัญๆ ที่ ดร.ชัยอนันต์เสนอ เช่น ความสับสนของจิตรในการนำเอาสังคมมีทาสกับสังคมไทยมาปะปนกัน และในการกล่าวถึงการเปลี่ยนจากสังคมทาสมาเป็นสังคมศักดินาจิตรไม่ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดความขัดแย้งของพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างไร
ซึ่งนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ก็ได้โต้แย้งว่า
จิตรไม่ได้ทึกทักว่าสังคมไทยผ่านสังคมทาสมาก่อนแต่จิตรต้องการโต้แย้งกับนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่เสนอว่าสังคมสุโขทัยไม่มีทาสเท่านั้น
ส่วนการเปลี่ยนจากสังคมทาสมาเป็นสังคมศักดินาก็ไม่จำเป็นต้องมีความขัดแย้งเกี่ยวกับพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต เพราะสังคมทาสและสังคมศักดินาเป็นสังคมเกษตรกรรม ต่างจากการเปลี่ยนจากสังคมศักดินามาเป็นสังคมทุนนิยมซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม
พื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคมทาสและสังคมศักดินายังคงเป็นเกษตรกรรม
ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากความอ่อนแอของโครงสร้างระดับบน (Super Structure) ก็ได้
กล่าวได้ว่า การสัมมนาครั้งนั้นได้นำไปสู่บรรยากาศการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์สังคมไทยในวงวิชาการ ทำให้เกิดความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น นับเป็นการแตกแขนงและลับคมในทางปัญญา
ระหว่างนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมกับนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยมด้วยกัน

สมสมัย ศรีศูทรพรรณ
สุจิตต์ วงษ์เทศ
จากการตีพิมพ์บทความขนาดยาว “โฉมหน้าศักดินาไทย” ผ่านนามปากกา สมสมัย ศรีศูทรพรรณ ในหนังสือ “นิติศาสตร์ 25 พุทธศตวรรษ” แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2500
ระยะแรกอาจเป็นเรื่องแอบอ่านกันในวงแคบๆ ของผู้ที่ให้ความสนใจเรื่องราวและการเคลื่อนไหวในขบวนการใต้ดินของไทย
แต่เมื่อผ่านสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ทุกอย่างก็เหมือนกับเขื่อนแตก
ชมรมหนังสือ “แสงตะวัน” ของ นิสิต จิรโสภณ เป็นสำนักพิมพ์แรกที่ตีพิมพ์ “โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นเล่มอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน
คิดหรือว่าจะรอดพ้นไปจากความรับรู้ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ
เพียงแต่ในตอนนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ จิตร ภูมิศักดิ์ อย่างแจ่มชัด
ต่อเมื่อ “อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย” เผยแสดง
จึงสัมผัสได้ใน “เบาะแส” และ “ร่องรอย” อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นระหว่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ กับ จิตร ภูมิศักดิ์
โดยเฉพาะ “โองการแช่งน้ำ” วรรณกรรมในยุคต้น “อยุธยา”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022