ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
เช้าของวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 ขณะผมอยู่ที่ห้องพนักงานสอบสวนชั้นบนของโรงพัก ได้ยินเสียงดังมาจากชั้นล่างว่า ผู้ต้องหาหนี ผู้ต้องหาหนี เป็นผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับชาวพม่า ชื่อ นายเต็งยา ขณะนั้นถูกกักขังแทนค่าปรับในความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองแล้ว ยังถูกอายัดตัวไว้ดำเนินคดีในความผิดฐาน พ.ร.บ.อาวุธปืน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ซึ่งเป็นคดีของ ร.ต.ต.นริศ สุนทรโรจน์ อีกคดีหนึ่ง
นายเต็งยาได้หลบหนีไปทางช่องหน้าต่างห้องน้ำชั้นล่าง แล้ววิ่งหนีหายไป จ.ส.ต.อำนาจ คำจันทร์ สิบเวร ได้วิ่งไล่ติดตาม แต่ก็หาไม่พบ
เมื่อผมเป็นร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา จึงต้องรับผิดชอบตามระเบียบ ผมมีความไม่สบายใจที่จะถูกลงโทษทางวินัยและได้ปรึกษา ร.ต.อ.โพธิ์ รุ่งเรือง ที่เป็นพี่เลี้ยงของผมมาก่อน ได้รายงานให้ สวป. และ สวญ.ทราบ และ ร.ต.อ.ชม หนูแป้นน้อย แนะนำให้ลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
หลังจากออกเวรตอนเที่ยงวัน เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง ผมได้ร่วมกับ พ.ต.ท.วีระ ปานจันทร์ สวญ. เดินทางไปโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร เพื่อร่วมกันเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่องการศึกษาต่อ
โดยร่วมกับวิทยากรท่านอื่นคือ คุณอรุณี เกียรติเวคิน นักธุรกิจ นายสันโดษ เต็มแสวงเลิศ จัดหางานจังหวัดระนอง เป็นการให้ความรู้แก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย
ความกังวลของผมต่อกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนี สิบเวรนำตัวนายเต็งยาออกมาจากห้องขัง มาทำความสะอาดโรงพัก โดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่า ยังมีคดีอายัดไว้ดำเนินคดีอยู่อีก 1 คดี ซึ่งจะต้องถูกจำคุกนานเป็นปี หากเอาผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับเพียงอย่างเดียวและไม่มีการอายัดตัว ออกมาทำความสะอาด พวกนี้จะไม่หลบหนีเพราะไม่กี่วันก็จะพ้นโทษ แต่พอมีคดีอายัดด้วย เมื่อมีช่องโอกาสจะวิ่งหลบหนีทันที
สิบเวรไม่ระวัง จนเกิดความบกพร่องเช่นในครั้งนี้ ผมและสิบเวรจึงถูกตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาความบกพร่องทางวินัย
ผมได้รับคำแนะนำให้ไปวิ่งเต้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวินัยเพื่อขอความเป็นธรรมให้ว่ากล่าวตักเตือน ลงทุนถึงขนาดนั่งรถแท็กซี่จากระนองไปสุราษฎร์ธานี จากสุราษฎร์ธานีไปนครศรีธรรมราช แล้วไปต่อถึงกองบัญชาการตำรวจภูธร 4 ซึ่งตั้งอยู่ที่แหลมสนอ่อน อ.เมืองสงขลา และได้พบ ร.ต.ท.วิวิว สุนทรนนท์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคดีวินัยของ บช.ภ.4
ผมไม่ได้เดินทางมามือเปล่า มีเหล้าฝรั่ง 1 ขวด พร้อมกับปลาเค็มม่องช็อกของอร่อยเมืองระนอง ติดมือมาฝากด้วย และเป็นการย้อนกลับมาสงขลาเป็นครั้งที่ 2 ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
เนื่องจากผมเพิ่งปฏิบัติราชการได้นานเพียง 2 เดือน จึงถูกภาคทัณฑ์ ส่วนสิบเวรถูกขัง 30 วัน ผมรู้สึกเสียใจและเห็นใจสิบเวร ปีนั้นจะถูกงดขั้นเงินเดือน
การถูกภาคทัณฑ์ ทำให้ภายหลังผมหมดสิทธิ์ที่จะขอเหรียญจักรมาลา เมื่อรับราชการครบ 15 ปี หรือเหรียญจักรพรรดิมาลา เมื่อรับราชการครบ 25 ปี เหมือนข้าราชการอื่นๆ ทั่วไป เพราะเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง ตามระเบียบที่เขียนเอาไว้
ผมไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือผิดหวังที่ไม่ได้เหรียญดังกล่าว แต่บันทึกไว้เพื่อให้รู้ว่า ในระบบราชการ มีระเบียบหยุมหยิม ผูกปมไว้เต็มไปหมด แล้วแต่ใครจะหยิบมาเล่นงานใคร
วันที่ 19 กรกฎาคม 2525
พล.ต.ท.ประสงค์ ศักดิ์สุภา ผู้ช่วย อ.ตร. พล.ต.ต.ปรีชา พรรคพิบูลย์ ผู้ช่วย ผบช.ภ.4 และ พล.ต.ต.วุธร์ จันทรพิทักษ์ ผบก.ภ.10 ได้เดินทางมาจังหวัดระนอง และประชุมตำรวจ
มีข้อสั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งปราบปรามโจรสลัดที่ยังคงออกอาละวาดในท้องทะเลอันดามัน น่านน้ำไทยเขตจังหวัดระนอง โดยเฉพาะบริเวณเกาะสินไห เกาะพยาม เกิดถี่และบ่อยมาก ทั้งปล้นทรัพย์ชิงทรัพย์เรือสินค้า เรือประมง การขนแร่เถื่อน ให้ลดคดีอุกฉกรรจ์ที่เกิดขึ้นสูงลงมาให้ได้ เร่งจับกุมคดียาเสพติด อาวุธปืน อาวุธสงคราม สินค้าหนีภาษี และจับสัตว์น้ำโดยใช้วัตถุระเบิด
เป็นเรื่องที่ตำรวจระดับสูงวิตกกันในสมัยนั้น ประชุมทุกครั้งก็กำชับอย่างนี้ สมุดบันทึกเก่าเมื่อเปิดออกมาดู จะได้ความเช่นนี้
วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2525 เป็นวันที่ผมเข้าพบร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา อีกชั่วโมงจะถึงเที่ยงคืน ร.ต.ต.สำอางค์ มีจิตร รอง สวป.ได้จับชาวพม่ามา 4 คน จากในสวนที่หมู่ 1 ต.ทรายแดง อ.เมือง จ.ระนอง ให้ผมดำเนินคดีในความผิดฐานหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมี นายจอมิ นายบาบู นายดาสาม และนายชาลี เป็นเรื่องปกติที่จับชาวพม่าดำเนินคดีในลักษณะนี้
ร.ต.ต.สำอางค์ยังตรวจพบบัตรประจำตัวประชาชนของคนไทยจากนายชาลี ในเวลาแรกที่ผมรับตัวนายชาลีพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ในบัตรนั้นระบุว่า ชื่อนายชาลี นาทอง มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 1 ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ร.ต.ต.สำอางค์ มีจิตร ได้จัดทำบันทึกการตรวจยึดบัตรประจำตัวประชาชนจากนายชาลี แล้วส่งมอบให้กับผม
เพื่อทำการตรวจสอบต่อไปว่า นายชาลีได้บัตรนี้มาได้อย่างไร
ผมเพิ่งเป็นพนักงานสอบสวนได้ไม่นานนัก และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จึงได้ปรึกษาสารวัตรสืบสอบสวน กับสารวัตรใหญ่ ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร
เมื่อแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานหลบหนีเข้าเมือง นายชาลีรับสารภาพผ่านล่ามแปล จึงได้สั่งฟ้องไปตามปกติ ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท และโทษจำรอลงอาญา 1 ปี แล้วศาลจังหวัดระนอง ได้ส่งตัวนายชาลีมายังห้องควบคุม สภ.อ.เมืองระนอง เพื่อกักขังแทนค่าปรับ
เวลาต่อมา พ.ต.อ.สมศักดิ์ อภิจารี ผู้กำกับการ ได้สั่งการให้ผมเดินทางไปราชการ เพื่อทำการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบการมีบัตรประจำตัวประชาชนของนายชาลี ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
เป็นครั้งแรกของผมที่ออกไปสืบสวนสอบสวนต่างพื้นที่ ผมมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการจับคนผิดหรือไม่ หรือจับคนไทยมาดำเนินคดีอาญา เพราะยังมีคนไทยอีกหลายคนที่เกิดในประเทศไทย แล้วไปโตที่ฝั่งพม่า จนพูดไทยไม่ได้ก็มี
ผมกังวลจนนอนไม่หลับเพราะกลัวสอบสวนอาจจะผิดพลาดขึ้นมาได้ หรืออาจจะไปทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเสียประวัติ ผมไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้เกิดกับใครทั้งสิ้น
ยิ่งผมเพิ่งเริ่มสอบสวนใหม่ๆ ยังไม่สันทัดในการสอบสวน ไม่มีความชำนาญมากมายอะไรนัก ความกังวลจึงทับทวีขึ้นไปอีก
ผมได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หลังจากไปทำงานที่ สภ.อ.เมืองระนอง นานถึง 4 เดือนเต็ม และวางแผนการสอบสวนไว้ว่า เบื้องต้นจะไปปรึกษากับพี่เลี้ยงเก่าของผมที่ สน.ชนะสงคราม คือ ร.ต.ต.ธเนตร์ พิณเมืองงาม
ผมได้เดินทางจากจังหวัดระนองด้วยรถทัวร์ของบริษัททัวร์ทอง ราคาค่าตั๋ว 198 บาท มาถึงกรุงเทพฯ ที่บริเวณโรงแรมพาเลียเมนต์ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ ผมได้พบพี่ธเนตร์และได้รับคำแนะนำ จึงไป กองบัตรประจำตัวประชาชน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามสนามม้านางเลิ้ง
ผมได้พบเจ้าหน้าที่กองบัตรประจำตัวประชาชน และได้นำบันทึกรายละเอียดการตรวจพบนายชาลี นาทอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ดังกล่าว แสดงให้ดูและได้มีคำถามว่า บัตรดังกล่าวเป็นบัตรที่กรมการปกครองออกให้ถูกต้อง ใช่หรือไม่
ทางกองบัตรยืนยันในชั้นแรกว่า บัตรของนายชาลี นาทอง น่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงและออกให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่จะขอตรวจสอบไมโครฟิล์มที่กองบัตรก่อน และนัดให้มารับหนังสือตอบกลับจากกองบัตรประจำตัวประชาชน ในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2525
คำตอบเหล่านี้ทำเอาผมยิ่งวิตกกังวลมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นการย้ำให้ลึกลงไปอีกว่าตำรวจน่าจะดำเนินคดีกับนายชาลี นาทอง ผิดพลาดหรือเปล่า ไปจับคนไทยหรือเปล่า
เมื่อเสร็จภารกิจที่กองบัตร นางเลิ้ง ผมจึงถือโอกาสกลับไปเยี่ยมพ่อและแม่ผม ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ผมดีใจมากที่ได้กลับมาเยี่ยมพร้อมกับเยี่ยมญาติพี่น้องของผมอีกครั้ง และได้ค้างคืนที่บ้าน 1 คืน มันเป็นเวลาที่นานถึง 4 เดือนเต็มที่ไม่ได้กลับบ้านเลย
เมื่อถึงกำหนดนัดในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2525 ผมได้เดินทางกลับมาที่กองบัตรประจำตัวประชาชน ที่นางเลิ้งอีกครั้ง เพื่อรับหนังสือตอบ
คราวนี้กลับหนักใจและยิ่งทำให้ผมกังวลใจมากขึ้นไปอีก เพราะคำตอบที่ได้รับ คือ ทางกองบัตรยืนยันว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงที่ออกให้กับนายชาลี นาทอง
และเมื่อตรวจไมโครฟิล์ม ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กองบัตร ภาพถ่ายในบัตรก็ตรงกับไมโครฟิล์มทุกประการ
บันทึกคำตอบฉบับนี้จากกองบัตรประจำตัวประชาชน สร้างอาการงวยงง ความสงสัย ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการอย่างไร จะกลับไปแล้วสั่งไม่ฟ้องนายชาลี นาทอง ในความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองดีหรือไม่
แต่ศาลก็มีคำพิพากษาตัดสินไปแล้ว
ผมได้เก็บความวิตกกังวลเอาไว้ และได้ศึกษาระเบียบขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวประชาชนจนเข้าใจดีแล้ว จึงซื้อของไปเยี่ยม ร.ต.ต.ธเนตร์ พิณเมืองงาม ที่ สน.ชนะสงครามอีกครั้ง และปรึกษาขั้นตอนการสอบสวน คืนนี้ผมจะพักที่แฟลตของโรงพักชนะสงคราม และจะเดินทางไปจังหวัดกำแพงเพชรในวันรุ่งขึ้น
ผมได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังเพื่อนๆ ของผม ที่ประจำอยู่ที่ สภ.อ.เมืองกำแพงเพชร ว่าผมจะเดินทางไปตรวจสอบเรื่องนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022