ญี่ปุ่นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ(外国人観光客)

หลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวพากันหลั่งไหลมาเยือนญี่ปุ่น ประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนตัว ยิ่งจูงใจให้ทุกคนอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นให้ได้สักครั้งหนึ่ง

5 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาญี่ปุ่นแล้วกว่า 14.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากเอเชีย โดยมีเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน เป็นอันดับแรกๆ ส่วนชาวไทยรั้งอันดับ 6 เพียงช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มีสถิติไปเที่ยวญี่ปุ่นถึง 5.6 แสนคนแล้ว

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่บูมมากๆ แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นขณะนี้ ต่างก็รู้สึกว่านักท่องเที่ยวมากเกินไปเสียแล้ว กลายเป็น “over tourism” จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตัวเอง โดยเฉพาะแถบสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ เช่น เกียวโต นารา บริเวณใกล้ภูเขาฟูจิที่ชาวบ้านทนไม่ไหวต้องทำแผงรั้วกั้น เป็นต้น

นักท่องเที่ยวต่างชาติมุ่งหวังหาความสุขจากการกินอาหารญี่ปุ่น ชมวัด โบราณสถาน และการถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ อย่างเต็มที่ จนหลายครั้งเกินเลย ไม่สมควร ล่วงล้ำ ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว หรือก่อให้เกิดอันตราย จนคนญี่ปุ่นเอือมระอาและไม่พอใจ

ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้า จึงพยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหาและจัดระเบียบกันมากขึ้น

 

ร้านค้าแถบอาราชิยามา(嵐山)เกียวโต ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปชมป่าไผ่ และทิวทัศน์อันสวยงามไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดู ต้องติดป้ายคำเตือนห้ามทิ้งขยะและค่าปรับหากฝ่าฝืน เขียนเป็น 3 ภาษา คือ อังกฤษ จีน เกาหลี (ยังไม่มีภาษาไทยหรือว่ากำลังจะมี)

มีหลายร้านที่มีตะกร้าสานใบเล็กๆ ให้ทิ้งขยะที่เป็นของร้าน นักท่องเที่ยวเดินท่องเที่ยวไปด้วยกินอาหารไปด้วย น้ำซอสหกเรี่ยราด เลอะเทอะตามถนนก็มีให้เห็น

ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งชูป้ายไวนิลให้ลูกค้าต่างชาติ เขียนภาษาอังกฤษว่า “คุณพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไหม” “พนักงานของเราพูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น” อันนี้คือแฝงความหมายว่า เราคงให้บริการคุณไม่ได้ เพราะสื่อสารกันไม่เข้าใจ (กรุณาไปร้านอื่นเถอะ)

แต่…ก็มีบ้างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ พูดภาษาญี่ปุ่นได้พอเข้าใจ ก็จะมีป้ายไวนิลอีกแผ่นให้ดูว่า “กรุณาสั่งอาหารตามจำนวนคนที่มาด้วยกัน” เพราะบางกลุ่มสั่งเครื่องดื่ม 1 ขวด แบ่งกัน 4 คน สั่งอาหาร 1 จาน ตักกินกันคนละคำสองคำ มิหนำซ้ำยังนั่งคุยกันเสียงดังเป็นเวลานานๆ ด้วย ทำอย่างนี้ร้านค้าก็รับลูกค้าอื่นเพิ่มไม่ได้ หรือที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ทำให้เสียลูกค้าประจำคนญี่ปุ่นไม่อยากมาใช้บริการด้วย

ส่วนร้านที่อยากต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีวิธีการจัดโซนที่นั่งเฉพาะสำหรับชาวต่างชาติ และจัดพนักงานเสิร์ฟที่พูดภาษาอังกฤษได้ (ซึ่งก็คือชาวต่างชาติ) ไว้บริการ เจ้าของร้านบอกว่าส่วนนี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่อยากทำแต่ก็จำยอม

 

นอกจากนี้ ยังเริ่มมีวิธีปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกคือ มาตรการ “สองราคา”(二重価格)ร้านอาหารปิ้งย่าง กินดื่มไม่อั้นแห่งหนึ่ง ติดป้ายราคา 6,578 เยน อาหารกลางวัน วันธรรมดา และ 7,678 เยน อาหารเย็น วันธรรมดา สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่…ลดราคา 1,100 เยนให้ลูกค้าคนญี่ปุ่น และคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น

เจ้าของร้านให้เหตุผลว่า ต้องจ้างพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษได้มาอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ลูกค้าเข้าใจ

ส่วนลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับระเบียบการใช้บริการดีอยู่แล้ว เมื่อได้ส่วนลดถึง 1,100 เยน ก็ทำให้รู้สึกยินดีและคุ้มราคา ทางร้านจึงยังคงรักษาสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นไว้ได้ ขณะที่สามารถรับลูกค้าต่างชาติในราคาที่สูงขึ้นได้ ทั้งนี้ ไม่ถือว่าคิดราคาแพงกับลูกค้าต่างชาติ แต่มองว่าเป็นการลดราคาให้ลูกค้าญี่ปุ่นต่างหาก

วิธีแยกแยะลูกค้าต่างชาติที่อยู่ในญี่ปุ่นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ถามตรงๆ ว่า “พูดภาษาญี่ปุ่นได้หรือไม่” หรือหากพูดไม่ได้แต่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ก็ขอดู “ใบสำคัญการพำนักอาศัย”(在留カード)เพื่อรับส่วนลดได้

ยังมีอีก…วิธีคิดอันแยบยลของคนญี่ปุ่น

 

ร้านขายโอโคโนมิยาคิ(お好み焼き)หรือที่รู้จักกันคือ พิซซ่าญี่ปุ่น อาหารเลื่องชื่อของจังหวัดฮิโรชิมา ขณะนี้มีลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 80% เข้ามากินพิซซ่าญี่ปุ่น ทำให้ลูกค้าประจำชาวญี่ปุ่นแทบจะเข้ามาใช้บริการไม่ได้ ทางร้านจำเป็นต้องรักษาลูกค้าผู้มีพระคุณมายาวนานเอาไว้ เนื่องจากแต่เดิมมา เปิดร้านนี้เพื่อบริการคนญี่ปุ่น ไม่คิดว่าจะมีลูกค้าต่างชาติมากเพียงนี้

เดือนเมษายนที่ผ่านมาจึงเริ่มกำหนดให้ทุกวันศุกร์เป็น “วันลูกค้าชาวจังหวัด”(県民の日)รับเฉพาะลูกค้าชาวเมืองฮิโรชิมาหรือลูกค้าญี่ปุ่นจังหวัดอื่นๆ บ้างเท่านั้น ไม่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้เริ่มมีเสียงบ่นจากนักท่องเที่ยว แต่ก็จะใช้วิธีการนี้ต่อไป

ไม่เฉพาะร้านค้าเท่านั้น ที่แยกลูกค้าญี่ปุ่นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

กำลังมีมาตรการเช่นเดียวกันนี้ใช้กับค่าเข้าชมวัด และโบราณสถานต่างๆ เช่น

ปราสาทฮิเมจิ(姫路城)จังหวัดเฮียวโกะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ปราสาทสีขาว สวยงามเป็นที่เลื่องลือ ปีที่แล้วมีผู้เข้าเยี่ยมชมถึง 1.48 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 30% เป็นชาวต่างชาติ

ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ1,000 เยน กำลังมีการพิจารณาปรับราคาขึ้นเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ เหตุผลสำคัญคือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามรดกทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งนี้และเพิ่มอุปกรณ์เสริมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อใดก็ได้

 

อันที่จริงแล้ว หลายประเทศในโลกก็ใช้มาตรการ “สองราคา” ค่าเข้าชมโบราณสถานกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งไทยด้วย

ศาสตราจารย์ซาตากิ มหาวิทยาลัยนานาชาติโจไซ(城西国際大学)ให้ความเห็นว่า ค่าธรรมเนียมเข้าชม “สองราคา” หรือการเก็บภาษีนักท่องเที่ยว พบได้ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เพื่อเป็นรายได้เพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซีย อียิปต์ เปรู ภูฏาน เป็นต้น แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วยังไม่ค่อยเห็น ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายของญี่ปุ่นแล้ว สรุปได้ว่า “ไม่มีปัญหา” สามารถทำได้

จะทำเมื่อไร…

คนไทยเตรียมเที่ยวญี่ปุ่นด้วยราคาแพงขึ้น…