องค์กรสื่อฮือต้าน สภาวิชาชีพสื่อฯ และข่าวใหญ่ จำคุก “สนธิลิ้ม” 20 ปี

ข่าวคราวของวงการสื่อในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่อสื่อต่างๆ ไปตามๆ กันแล้ว

ยังมีปัญหาเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ร่างพระราชบัญญัติการปกป้องสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมคุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน ที่ร่างทิ้งไว้ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ก่อนโดนยุบเลิกไปเมื่อปี 2558 หลังโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

ร่าง พ.ร.บ. นี้ ยกร่างในบรรยากาศหลังการรัฐประหาร ที่มีการกล่าวหาสื่อในข้อหาต่างๆ นานา โดยอ้างเหตุผล “ครอบจักรวาล” เรื่องการปฏิรูปสื่อ

มีเนื้อหาที่องค์กรสื่อและนักวิชาชีพสื่อเห็นว่า จะนำไปสู่การแทรกแซงสื่อหลายประเด็น

โดยเฉพาะการให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้มี “ใบรับรองสมาชิก” หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยใด ใช้ระบบนี้

การให้อำนาจสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติในการลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. นี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จะมีออกกฎหมายให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจลงโทษตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การควบคุมสื่อ โดยภาครัฐเป็นผู้ร่างกฎหมายและมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง

แวดวงสื่อได้ติดตามมาระยะหนึ่ง ล่าสุด นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้มีมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาวิชาชีพสื่อตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

และจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้ สปท. พิจารณาแทนร่าง พ.ร.บ. นี้

โดยจะเชิญผู้แทนจากองค์กรสื่อทุกแขนงเข้าหารือในวันที่ 12 กันยายน อีกครั้งหนึ่ง

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ในสภาพการเมืองปัจจุบัน เสียงทักท้วงของสื่อจะมีผลอย่างไรหรือไม่

อีกข่าวใหญ่ได้แก่ กรณีศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี นายสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งเครือผู้จัดการ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้นายสนธิและพวก สิ้นอิสรภาพ ต้องเข้าเรือนจำทันที

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กันยายน ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก

จำเลยทั้ง 1-4 ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ.แมเนเจอร์ฯ และ น.ส.ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ

อัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3), 313

ฟ้องโจทก์สรุปว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 – 31 มีนาคม 2540 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ร่วมทำสำเนารายงานการประชุมของกรรมการบริษัทเป็นเท็จว่า มีมติให้บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายสนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท

โดยนายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท

ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2539 – 18 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทั้งสี่ ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ แสดงไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา

ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า นายสนธิ จำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307, 311, 312, 313 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 17 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 85 ปี

ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 และจำคุก น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 รวม 13 กระทง กระทงละ 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307, 311, 312, 313 รวมจำคุกจำเลยที่ 4 ทั้งสิ้น 65 ปี

จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกนายสนธิจำเลยที่ 1 และ น.ส.เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 รวม 42 ปี 6 เดือน

ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และ น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3, 4 สูงสุดตามกฎหมาย มาตรา 91(2) คนละ 20 ปี

นายสนธิ, น.ส.เสาวลักษณ์ และ น.ส.ยุพิน จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ส่วนนายสุรเดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดี คดีถึงที่สุด รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น นายสนธิและจำเลยอีก 2 คนยื่นฎีกา

ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และมีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีหลักธรรมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบและเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง ที่จำเลยอ้างคุณงามความดี ยังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

ภายหลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวทั้งสามมายังห้องควบคุมตัวเพื่อรอส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

นั่นคือ “ข่าวใหญ่” ของวงการ ในระยะที่ “สื่อ” กำลังตกเป็นข่าวเสียเอง