มองไทยใหม่ : สื่อกระดาษ กับ รถไฟ

สื่อกระดาษ กับ รถไฟ มีความเหมือนและต่างกันอย่างไร

สื่อกระดาษคือ พาหนะที่ “ขนส่ง” เนื้อหาที่เป็นภาษาและภาพ ส่วนรถไฟคือ “พาหนะ” ที่ขนส่งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

ในขณะนี้กำลังมีความวิตกกังวลกันว่า สื่อกระดาษอาจจะต้องสูญสิ้นไป โดยมีสื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่ ดุจดังโทรเลขที่จากไปแล้วและโทรศัพท์บ้านที่กำลังจะจากไป เพราะมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาแทนที่

หลายคนเชื่อว่าที่สื่อกระดาษยังคงอยู่ได้ก็เพราะคนรุ่นเก่ายังมีความเคยชินอยู่กับสื่อชนิดนี้ เมื่อสิ้นคนรุ่นนี้ลงไปแล้ว ก็จะไม่มีใครอ่านหนังสือกันอีกต่อไป แต่จะไปอ่านผ่านหน้าจอในระบบออนไลน์แทน

แต่บางคนก็เถียงว่า การอ่านสื่อกระดาษกับการอ่านหน้าจอให้ประสบการณ์ที่ต่างกัน

เหตุแห่งความแตกต่างประการหนึ่งก็คือ สื่อกระดาษนั้น “จับต้องได้” ส่วนสื่อออนไลน์นั้น “จับต้องไม่ได้”

ในที่นี้จะไม่พิจารณาเรื่องที่ว่า ข้อมูลที่ได้นั้นมีความน่าเชื่อถือได้ต่างกันอย่างไร

คราวนี้หันมามองดูรถไฟบ้าง รถไฟเป็นพาหนะที่เลื่อนไปบนราง (ยกเว้นรถไฟที่ใช้เทคโนโลยีบางชนิดที่ทำให้ลอยอยู่เหนือรางได้ในบางขณะ แต่ก็ยังถือว่าใช้รางเหมือนกัน) ถือว่า “จับต้องได้” เช่นเดียวกับสื่อกระดาษ เปรียบเทียบกับเครื่องบินซึ่งเป็นพาหนะที่ลอยไปในอากาศ จะถือว่า “จับต้องไม่ได้” ก็ได้ รถไฟกับเครื่องบินเป็นพาหนะ ๒ ชนิดที่ถือว่าแข่งขันกันอยู่ แม้โดยทั่วไปเครื่องบินจะเร็วกว่า แต่ก็ยังมีคนนิยมใช้รถไฟอยู่โดยไม่หายไปไหน เพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน

ทำไมรถไฟยังอยู่ได้โดยไม่ถูกเครื่องบินเข้ามาแทนที่ เหมือนอย่างที่เรากำลังวิตกกันว่า สื่อออนไลน์จะเข้ามาแทนที่สื่อกระดาษ

ตอบได้ว่า เพราะรถไฟปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่มีทางเดียว ต้องรอหลีกกัน จนเปลี่ยนมาเป็นทางคู่ ให้ต่างคนต่างวิ่งสวนทางกันได้ โดยไม่ต้องรอหลีก

แล้วรถไฟก็พัฒนาต่อไปไม่ให้มีทางตัดที่ต้องจอดรอกัน จะใช้วิธีมุดดินหรือลอยฟ้าก็แล้วแต่เงินทุนและสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องลงทุนอย่างมากมายมหาศาล

ถ้ารถไฟมีรายได้ทางเดียวจากการขายบัตรโดยสาร ค่าโดยสารคงจะต้องแพงมาก จนไม่สามารถให้บริการคนทั่วไปได้ ต้องหารายได้อื่นมาเสริมจึงจะอยู่รอดได้

ขอยกกรณีของรถไฟญี่ปุ่น รายได้หลักของรถไฟญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่ค่าโดยสาร แต่เป็นรายได้ที่ได้จากร้านค้าและบริการในบริเวณสถานีรถไฟ

สถานีรถไฟภายในตัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกันนักจะมีทางเดินระหว่างสถานีที่เต็มไปด้วยร้านค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งห้องน้ำที่สะอาด ปลอดภัย

บางแห่งมีการจัดสวนและน้ำพุตามทางเดินจนผู้สัญจรไปมาแทบจะลืมไปว่ากำลังเดินอยู่ชั้นใต้ดินระหว่างสถานีรถไฟ ร้านอาหารและร้านกาแฟบางแห่งก็จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้หน้าร้าน ให้บรรยากาศเหมือนกับเดินอยู่ริมถนนในปารีส สถานีรถไฟญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นสถานที่อันปลอดภัยและสะดวกสบาย

นี่คือรายได้หลักของผู้ให้บริการรถไฟ จึงทำให้คิดค่าโดยสารราคาถูกพอให้คนทุกคนสามารถใช้ได้

ผลพลอยได้ก็คือ กระแสเงินหมุนเวียนอันเกิดจากธุรกิจในสถานีรถไฟ และยังสร้างงานให้แก่คนอย่างมากมายด้วย

 

สื่อกระดาษจะอยู่ได้ก็ต้องทำตามแบบรถไฟญี่ปุ่น

ถึงอย่างไรเนื้อหาก็ยังอยู่บนกระดาษ แต่ต้องสร้างรายได้เสริมจากสิ่งอื่นๆ ที่หลายเจ้าก็ทำกันอยู่แล้ว โดยที่สื่อกระดาษก็ยังอยู่ คนไทยก็ยังได้อ่านหนังสือไทยต่อไป

คนผลิตสื่อก็อยู่ได้ด้วยกิจกรรมเสริม เหมือนที่รถไฟญี่ปุ่นอยู่ได้ด้วยธุรกิจเสริมที่กลายมาเป็นรายได้หลักนั่นเอง

ไม่รู้ว่าเอามะพร้าวมาขายสวนหรือเปล่า