ทราย เจริญปุระ : อำนาจ #Metoo

นึกอยู่นานว่าควรจะขึ้นหัวบทความนี้ว่าอย่างไร จะสวัสดีปีใหม่ก็ช้าเกินไปสักหน่อย เพราะเดือนมกราคมก็ล่วงเข้าสัปดาห์ที่สอง เป็นวันเด็กแห่งชาติไทยให้น้องๆ หนูๆ ได้กิ๊วก๊าวกันแล้ว

แต่ถ้าจะพูดเรื่องสแตนดี้ รถถัง เครื่องบินไอพ่นในวันเด็กก็น่าเบื่อจัง

ไหนลองดูเรื่องอื่นซิ

 

เหลือบมองไปยังวงการบันเทิงต่างประเทศ ที่เพิ่งจัดการประกวดรางวัลลูกโลกทองคำกันไปไม่นาน ปีนี้ก็มาในโทนดำมืดมิดไปหมดถ้วนทั่ว จนถ้าใครเผอเรอแต่งสี แต่งขาวมาคงกลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง

เพราะที่เขาพร้อมใจกันดำทะมึนไปทั้งงานนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเพราะมีเดรสโค้ดกำหนดแต่อย่างใด

แต่ถือเป็นการขับเคลื่อนทางสังคม ที่สอดคล้องกับการติดแฮชแท็ก #MeToo

ใครที่ตามข่าวฝั่งฮอลลีวู้ดอยู่บ้าง แม้จะไม่ใกล้ชิดมากนักคงผ่านตาที่มาที่ไปของแฮชแท็กนี้ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

สืบเนื่องจากความอื้อฉาวของข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ ของผู้มีอิทธิพลยักษ์ใหญ่คนหนึ่งในวงการ ที่มีดารานักแสดงหลายคนออกมาเปิดเผยว่าเคยโดนชะตากรรมแบบนี้ จากผู้มีอิทธิพลคนนี้เช่นกัน จนเป็นเหตุให้มีการสืบสวนกันอย่างเข้มข้น ภรรยาขอหย่าขาด และถูกปลดจากการเป็นผู้บริหารของบริษัทตัวเอง

และขณะที่เรื่องนี้กำลังดำเนินไป ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ (ไม่เฉพาะในวงการบันเทิง) ก็ออกมาเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเมื่อแบ่งปันประสบการณ์แล้วก็จะติดแฮชแท็กนี้ลงไป เพื่อสื่อให้เข้าใจ ว่าฉันก็ผ่านเรื่องแบบนี้มาเช่นกัน

ฝั่งฮอลลีวู้ดก็ไล่เปิดเผยกันเป็นรายตัว ไม่เฉพาะผู้มีอิทธิพลคนเดียวเท่านั้น ทางสังคมก็ขานรับ จนจุดติด ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อเป็นตัวแทนเป็นปากเสียงของเหยื่อ และผู้ถูกรังแกต่างๆ ในสังคม

 

เรื่องก็ดูเหมือนจะดำเนินไปเช่นนี้ จนกระทั่งเมื่อสักสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวิดีโอคลิปสั้นๆ ที่บันทึกภาพชายคนหนึ่งเดินเข้าไปทำร้ายผู้มีอิทธิพลรายนี้ที่กำลังนั่งกินข้าวอยู่ในโรงแรม ซึ่งเขาเก็บตัวใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

ชายคนดังกล่าวเริ่มด้วยการเดินเข้าไปขอถ่ายรูปคล้ายจะเป็นธรรมเนียมปกติที่จะขอบันทึกภาพร่วมกับคนดัง แต่แล้วก็กลับตบหน้าอีกฝ่ายเข้าอย่างจังถึงสองครั้ง ก่อนจะออกปากไล่อย่างหยาบคาย

ฉันว่านี่มันไปไกลเกินไปมากแล้วนะ

แน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิด และกระบวนการสืบหาเพื่อลงโทษตามความผิดก็ดำเนินอยู่

แต่ความผิดของเขาไม่ได้อนุญาตให้เราหรือใคร ตั้งตนเป็นตำรวจศีลธรรม ตามล่าตามล้าง หรือพิพากษาโทษเขาเอาแค่ไหนตามใจเราได้

เราไม่ชอบสิ่งที่เขาทำได้

แต่เราทำแบบเอาแต่ใจไม่ได้

นี่มันไม่ใช่วิธีไปสู่หนทางของการแก้ปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่ถูกต้อง

นี่มันไม่ใช่วิธีการโต้ตอบและหาทางออกของอุตสาหกรรมที่ชายเป็นใหญ่

แต่นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจนิยม”

 

ผู้มีอิทธิพลรายนั้นคงเต็มไปด้วยความรู้สึกมีอำนาจเหนือร่างกายหรือเพศหรืออะไรใดๆ ก็ตาม ตอนที่เขาล่วงละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจของเหยื่อที่โดน และชายที่เข้าไปตบหน้าพร้อมไล่ตะเพิดเขาก็คงรู้สึกตนเองกุมอำนาจเหนือกว่าทางศีลธรรม จึงสามารถทำร้ายร่างกายคนที่ไม่รู้จักกันเลยได้แบบนั้น

มันมีอยู่จริง, คนบางคนที่ทำอะไรบางอย่างเพื่อพิสูจน์อำนาจที่ตนเองมีอยู่ ว่ามันจริงแค่ไหน มากแค่ไหน เข้มข้นแค่ไหน ล้อหลอก ดูแคลน และปั่นหัวผู้คนใต้อำนาจสารพัดรูปแบบที่เขาถือครองอยู่ได้มากขนาดไหน

จริงๆ การให้คุยกับสแตนดี้นี่ก็เข้าประเภทอำนาจนิยมมากกว่ามีอารมณ์ขันสำหรับฉันเหมือนกัน

 

“Powerism” ของ โตมร ศุขปรีชา เล่าถึงอำนาจที่มาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่โลกยุคเก่าจนถึงโลกยุคปัจจุบัน ความเลื่อนไหลของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจที่มาไม่ได้มาในรูปแบบของแสนยานุภาพทางทหารหรืออาวุธสงครามเท่านั้น แต่เราสู้กันทั้งอำนาจทางเพศกำเนิด เชื้อชาติ ความเชื่อ หรือความถูกต้องทางสังคม

ฉันจะขอจบบทความนี้ด้วยความเคลื่อนไหวจากวงการบันเทิงเช่นกัน แต่มาจากฝั่งยุโรป ไม่ใช่ฮอลลีวู้ด

ที่ฝรั่งเศสก็มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับ #Metoo

ที่แม้ด้านหนึ่งจะส่งเสริมผู้หญิงและผู้ถูกกระทำ แต่ในอีกด้านมันก็นำไปสู่การล่าแม่มดในที่สุด

โดย แคเธอรีน เดอเนิฟ นักแสดงชาวฝรั่งเศสจาก Belle de Jour (1967, หลุยส์ บุนเญล) เองร่วมลงชื่อในจดหมายฉบับนี้ร่วมกับเหล่านักเขียน, นักแสดง, ศิลปินและนักวิชาการชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

“แน่ล่ะว่าการข่มขืนนั้นคืออาชญากรรม แต่การพยายามโน้มน้าวเกลี้ยกล่อม แม้กระทั่งอ้อนวอนใครสักคนนั้น มันไม่ใช่ เช่นเดียวกันกับการที่ผู้ชายที่ไม่ได้ (แสดงตัวว่า) เป็นสุภาพบุรุษจะเป็นชายผู้ก้าวร้าว ผู้ชายถูกตัดสินลงโทษอย่างรวดเร็ว ทั้งการถูกไล่ออกจากงานจากการที่พวกเขาเอื้อมมือแตะหัวเข่าบางคนหรือพยายามลอบจูบสักครั้ง”

 

แถลงการณ์ยังแสดงความเห็นว่า #Metoo นั้นด้านหนึ่งแล้วก็เป็นกระแสคลื่นของลัทธิพิวริตัน (puritanical) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนที่เน้นและเคร่งครัดเรื่องพิธีกรรมที่บริสุทธิ์ และทำให้การประท้วงอย่างถูกกฎหมายในประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศนั้น ขยับไปสู่จุดที่เรียกว่าการ “ล่าแม่มด” ในที่สุด “และกลายเป็นการข่มขู่คุกคามคนที่ไม่เห็นด้วยและตัดสินว่าผู้หญิงคนไหนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เข้ากันกับตัวเองนั้นกลายเป็นหญิงที่ขบถต่อเพศเดียวกัน”

ทั้งนี้ แถลงการณ์ยังระบุอีกด้วยว่า พวกเขานั้นต้องการสนับสนุนเสรีภาพทางเพศ ด้วยเหตุผลว่า “การโน้มน้าวหรือเกลี้ยกล่อม (อีกฝ่าย) นั้นนับเป็นสิทธิที่ทำได้” และ “รับรู้ดีว่าแรงขับกระตุ้นทางเพศนั้นมีความดุดันและรุนแรงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราต่างก็ตระหนักกันได้ดีพอจะไม่สับสนไปปรักปรำ ชี้หน้าใครว่าเป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศ”

ตัวเดอเนิฟ-ซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตกจากบทแม่บ้านผู้เหนื่อยหน่ายในชีวิตและใช้เวลาช่วงบ่ายทำหน้าที่เป็นโสเภณีแก้เซ็งจาก Belle de Jour-เองเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าโดยส่วนตัวแล้ว เธอออกจะรำคาญแคมเปญดังกล่าวทางอินเตอร์เน็ตอยู่ไม่น้อย และบอกอีกว่า เธอไม่คิดว่านี่เป็นวิธีที่เหมาะสมเท่าไรนักในการจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม

นอกจากเดอเนิฟแล้ว ในแถลงการณ์ยังมี อิงกริด คาเวน นักแสดงชาวเยอรมัน, บริกิตต์ เลอไฮ อดีตนักแสดงหนังโป๊, โจเอลล์ โลสฟีลด์ นักเขียน ฯลฯ ร่วมลงชื่อด้วยเช่นกัน*

 

นี่ก็คืออีกหนทางหนึ่งของการทำให้เสียงของตัวเองดังขึ้น การแสดงความเห็นในอีกด้าน เสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น อำนาจที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน

ซึ่งหลายคนก็ไม่ชอบให้เรามีอำนาจแบบนี้

และบางทีเราก็เอาอำนาจของเราไปให้เขาเสียเอง

“Powerism” เขียนโดย โตมร ศุขปรีชา ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 1 กันยายน, 2560 โดยสำนักพิมพ์แซลมอน
————————————————————————————
*เนื้อหาจากเพจ Bioscope