สุรชาติ บำรุงสุข : วิกฤตเรือแป๊ะ 2561 ! เกยตื้น ลอยลำนิ่ง หรืออับปาง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้าประชาชนกลัวรัฐบาล เมื่อนั้นเรามีทรราช

ถ้ารัฐบาลกลัวประชาชน เมื่อนั้นเรามีเสรีภาพ”

John Basil Barnhill

ปี2561 ที่เริ่มขึ้นนี้น่าจะเป็นเวลาของความเข้มข้นและความน่าตื่นเต้นในการเมืองไทย

ยิ่งย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในปี 2560 ที่ผ่านมา และมองไปสู่อนาคตแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปีปัจจุบันจะเป็นดังหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้งของการเมืองไทย เพราะจะเป็นดังช่วงปลายของรัฐบาลทหารก่อนที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเกิดขึ้น ในช่วงปลายของรัฐบาลทหารนั้นจะเห็นได้ชัดเจนเสมอว่า “ความหวาน” ของน้ำผึ้งพระจันทร์ค่อยๆ หมดลง และระบบทหารที่เปรียบตัวเองเป็นเสมือน “เรือแป๊ะ” ก็ถูกคลื่นลูกเล็กลูกใหญ่กระแทกซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเห็นชัดเจนว่า “รัฐนาวาทหาร” กำลังเผชิญวิกฤตเป็นชุดๆ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว “เรือแป๊ะ” ในปี 2561 จะฝ่าคลื่นลมแรงในทะเลการเมืองไปได้หรือไม่…

เรือจะล่มอับปาง เกยตื้น หรือเพียงแค่ลอยลำนิ่งไม่สามารถไปไหนได้

จึงเป็นอนาคตที่สำคัญของการเมืองไทยอันจะมีผลอย่างมีนัยต่อการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาข้างหน้าเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น หากทดลองสำรวจอนาคตแล้ว ก็พอจะมองเห็นถึงคลื่นลูกต่างๆ ที่ถาโถมเข้าหา “เรือแป๊ะ” ดังนี้

1)ศรัทธาตก เชื่อมั่นต่ำ

รัฐบาลทหารปัจจุบันจะรู้สึกหรือไม่ก็ตาม แต่ผลจากภาพถ่ายผู้นำทหารสวมนาฬิกาหรูที่เกิดขึ้นกำลังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนมากว่า รัฐบาลทหารมีปัญหา “วิกฤตธรรมาภิบาล” ในตัวเองอย่างมาก

ผลที่เกิดขึ้นจากเรื่องที่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่การฝืนกระแสของผู้นำทหารที่มีอำนาจจาก “ปัญหานาฬิกาหรู” และ “กรณีแหวนเพชร” ได้กลายเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาอำนาจของรัฐบาลทหารที่ “การตรวจสอบ” ในกระบวนการทางการเมือง กลายเป็นประเด็นที่ไม่เพียงแต่จะไม่มีประสิทธิภาพเท่านั้น หากแต่ยังบอกถึงการไม่อาจตรวจสอบได้อีกด้วย

ระบบตรวจสอบในกลไกการเมืองภายใต้ระบบทหารจึงกลายเป็นเรื่องที่รับรู้กันว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติ

ดังจะเห็นได้จากบทบาทของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไล่ล่านักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

แต่เมื่อจะต้องตรวจสอบผู้นำทหารแล้ว กลไกเช่นนี้กลับดูจะ “ไร้พลัง” เป็นอย่างยิ่ง

หรือกลไกทางสังคมในรูปแบบของ “กลุ่มต่อต้านคอร์รัปชั่น” ที่เคยออกมาโจมตีบรรดานักการเมืองที่ฝ่ายตนไม่ชอบ ก็ดูจะตกอยู่ในความเงียบและหายหน้าไปจากการเคลื่อนไหวสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้นำทหาร

ปัญหาเช่นนี้ถูกปล่อยปละละเลยด้วยความหวังว่าในที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้ก็คงจะหายเงียบไปดังเช่นความไม่โปร่งใสในกรณีการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่ผ่านๆ มา

แต่ความหวังเริ่มไม่เป็นจริงเพราะ “วิกฤตนาฬิกา” กลายเป็นคลื่นที่กระแทกรัฐนาวาทหารมากกว่าจะเป็น “คลื่นกระทบฝั่ง”

จนต้องยอมรับว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ “วิกฤตความเชื่อถือ” เท่านั้น

หากแต่กำลังกลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ต่อรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

2)หมดเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์

ในท่ามกลางปัญหาที่กระแทกรัฐนาวาทหารครั้งแล้วครั้งเล่านั้น ผู้นำรัฐบาลดูจะไม่สามารถสร้างศรัทธาและฟื้นความน่าเชื่อถือของรัฐบาลให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ในด้านหนึ่งผู้นำรัฐบาลพยายามเดินสายและระดมโฆษณาทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งเสียงสนับสนุนต่อรัฐบาลทหาร

แต่คงต้องยอมรับว่ายิ่งเวลาผ่านเลยมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าความสำเร็จของรัฐบาลไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก

วาทกรรมเก่าที่เคยขายได้ง่าย เช่น รัฐบาลทหารทำให้เกิดความสงบและปราศจากการชุมนุม ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ขายไม่ออก เพราะสังคมต้องการมากกว่านั้น คือประสิทธิภาพของรัฐบาล

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลอาจจะแก้ด้วยการพยายามสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ด้วยการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์ถึงขีดความสามารถของรัฐบาลทหาร จนจำเป็นต้องยอมจัดคณะรัฐมนตรีใหม่

แต่ก็ดูเหมือนว่าเมื่อระยะเวลาน้ำผึ้งพระจันทร์ “หมดหวาน” แล้ว

การปรับเช่นนี้ก็ดูจะไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้มากนัก หรือไม่อาจดึงเสียงของรัฐบาลให้กระเตื้องได้มากเท่าที่ควร

สภาพเช่นนี้กำลังบ่งชี้ว่า รัฐบาลกำลังประสบกับวิกฤตในตัวเอง

ซึ่งหากเป็นในระบบปกติแล้ว ก็คงถึงจุดของการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตด้วยการเลือกตั้ง

3)รัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ

การดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำลังดำรงอยู่ด้วยความ “แปลกแยก” เป็นอย่างยิ่ง

เพราะรัฐธรรมนูญได้ร่างเสร็จและผ่านการรับรองเรียบร้อยแล้ว แต่สภาวะที่เกิดขึ้นเป็นดังการ “จองจำรัฐธรรมนูญ” โดยรัฐบาลยังคงใช้รัฐธรรมนูญจากการรัฐประหารเป็นกฎหมายหลัก

จนอาจเรียกตามข้อสังเกตของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าการเมืองไทยกำลังเกิดภาวะ “รัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ”

และดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นและควรจะต้องถูกนำออกใช้นั้น กลายเป็น “สิ่งของในตู้โชว์”

โดยในด้านหนึ่งเพื่อลดแรงกดดันทั้งจากการเมืองภายในและภายนอกว่ารัฐบาลทหารได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว (จริงๆ!)

แต่การบังคับใช้ก็มีขั้นตอนและกติกาดูราวกับเป็นความจงใจที่สร้างอุปสรรคขวางกั้นไว้

สภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความยุ่งยากในตัวเองอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับขั้นตอนและกรอบเวลาที่ถูกกำหนดไว้สำหรับพรรคการเมือง

อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นช่องทางในการลดแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร

ซึ่งหากทำเช่นนั้นแล้ว จะกลายเป็น “แรงปะทะ” ต่อระบบทหาร เพราะฝ่ายพรรคการเมืองคงจะยอมรับต่อสภาวะดังกล่าวได้ยาก

ฉะนั้น เกมรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นเช่นนี้ย่อมจะกลายเป็นคลื่นที่โถมกระแทกรัฐนาวาทหารอย่างแน่นอน

4)รัฐซ้อนรัฐหรือรัฐประหารเงียบ

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในการเมืองไทยนั้น ผู้นำรัฐบาลรัฐประหารตระหนักว่าในที่สุดแล้ว การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” เพราะรัฐบาลทหารไม่สามารถจะหยุดยั้งให้การเมืองหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ตลอดไป

ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นความกลัวอย่างสำคัญสำหรับอนาคตก็คือ หากการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลหลังการเปลี่ยนผ่านจะยังเป็นกลุ่มการเมืองที่อยู่กับฝ่ายรัฐบาลทหารปัจจุบันหรือไม่

ผลของความกลัวเช่นนี้ทำให้เกิดการออกแบบการเมืองเพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้นำกองทัพที่มีอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันจะต้องสามารถควบคุมผลของการเปลี่ยนผ่านได้

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดในเงื่อนไขและกรอบเวลาใด

แต่การเลือกตั้งจะต้องไม่มีรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งเพื่อไม่ให้นักการเมืองสามารถกลับมามีบทบาทได้มากโดยมีวิธีการสำคัญดังนี้คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญ (วุฒิสมาชิกแต่งตั้ง 250 คน) การสร้างยุทธศาสตร์ 20 ปี การจัดทำกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน

และทั้งยังจัดสร้างภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ด้วยการเพิ่มอำนาจให้แก่ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) อย่างไม่เคยมีมาก่อน

จนมีลักษณะเป็น “ซูเปอร์กระทรวง” ในระบบบริหารราชการแผ่นดินไทย การออกแบบโครงสร้างการเมืองเช่นนี้จึงเป็นดัง “รัฐประหารเงียบ” โดยมีความหวังว่าการเลือกตั้งจะไม่มีผลที่ทำให้เกิดผลที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น หรือเป็นกระบวนการสร้างให้เกิดผลทางการเมืองที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารต่อไป

วิกฤตของความกลัวเช่นนี้ไม่ชัดเจนว่า ในปี 2561 ซึ่งเป็นดังช่วงสุดท้ายก่อนที่การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นจริงนั้น ผู้นำทหารจะผลักดันอุปสรรคการเมืองเรื่องใดออกมาอีก

5)โตยอดหญ้า-ตายรากหญ้า

รัฐบาลทหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 นั้น ถูกวิจารณ์อย่างมากกับปัญหาของการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย

เพราะเศรษฐกิจหลังรัฐประหารประสบปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะในภาคเกษตร จนกลายเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อรัฐบาล อันนำไปสู่การจัดทำโครงการ “เสนาประชานิยม” ในรูปแบบของ “ประชารัฐ” ซึ่งก็คือโครงการประชานิยมของรัฐบาลทหาร และหวังว่าจะเป็นปัจจัยที่ดึงความสนับสนุนของประชาชนออกจากพรรคการเมือง

ในอีกด้านหนึ่งเพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลทหารจึงยอมตัวเป็น “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์” กับกลุ่มทุนใหญ่ของไทย โดยหวังอีกส่วนว่าทุนใหญ่จะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ในสภาวะเช่นนี้ รัฐบาลทหารจึงต้องเผชิญกับเสียงวิจารณ์ต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ “โตยอดหญ้า ตายรากหญ้า” ซึ่งบ่งบอกว่าแม้รัฐบาลจะโฆษณาอย่างมากถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในทางตัวเลข

แต่เศรษฐกิจในภาคประชาชนกลับสวนทางกับตัวเลขของรัฐบาล เพราะการบริโภคในภาคประชาชนนั้น ไม่ได้เติบโตไปกับตัวเลขของรัฐบาล

เศรษฐกิจแบบ “ตัวเลขโต” สะท้อนให้เห็นมากขึ้นถึงการเติบโตแบบกระจุกตัว

ดังจะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จนพอจะยอมรับได้ว่าการส่งออกของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

แต่อาการเช่นนี้กลับบอกแก่เราว่า เศรษฐกิจไทยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยการส่งออกแต่เพียงประการเดียว การพึ่งพาเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีในทางเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

และทั้งยังเห็นถึงการลดกำลังการผลิตของภาคเอกชน ซึ่งเท่ากับตอกย้ำถึงการเติบโตแบบกระจุกตัว

อีกทั้งสภาวะเช่นนี้เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาปัจจัยอย่างสำคัญอีกประการ คือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจีน

ฉะนั้น แม้จะมีการโหมโฆษณาถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สูงถึงร้อยละ 3.6-3.7 และขณะเดียวกันการส่งออกก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่กำลังซื้อของผู้คนในสังคมไทยไม่ได้ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจซบเซาในระดับของผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

หรือกล่าวโดยรวมก็คือ กำลังซื้อของภาคครัวเรือนไทยยังชะลอตัว ไม่ได้ดีเหมือนกับคำโฆษณาของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

สภาวะ “โตยอดหญ้า ตายรากหญ้า” จะมีผลต่อความเชื่อถือต่อรัฐบาลในปี 2561 อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรที่รัฐบาลทหารจะล้างภาพของความเป็น “รัฐบาลของทุนใหญ่” ออกให้ได้

มิฉะนั้นแล้วประชารัฐของทหารจะกลายเป็นเพียง “ประชานิยมเพื่อทุนใหญ่”

6)ไม่มีคำสัญญาที่สี่

ข้อถกเถียงในการเมืองไทยประการสำคัญก็คือ รัฐบาลทหารจะยอมเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 หรือไม่ ในท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงกรณีการพบอาวุธปืนที่จังหวัดฉะเชิงเทราในปี 2560

และตามมาด้วยคำกล่าวของผู้นำทหารว่าสถานการณ์ยัง “ไม่นิ่ง” ก็อาจจะยังไม่มีการเลือกตั้ง

ผลจากคำกล่าวเช่นนี้ผสมกับท่าทีของผู้นำทหารต่อการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว การเลือกตั้งดูจะเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก สภาพเช่นนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านของไทยอยู่ในสภาวะที่คลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง

แต่ก็คงจะต้องไม่ลืมว่า ผู้นำทหารได้เอ่ยคำสัญญาในเรื่องนี้มาแล้วถึง 3 วาระ

คำสัญญาแรกที่โตเกียวว่าการเลือกตั้งในไทยจะเกิดขึ้นในปี 2559

คำสัญญาสองในการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กว่าจะมีในปี 2560

และคำสัญญาสามในการเดินทางเยือนวอชิงตันว่าจะมีในปี 2561

รัฐบาลทหารอาจจะต้องตระหนักว่าคำสัญญาในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นดัง “พันธสัญญา” และถ้ารัฐบาลไม่ทำ ก็จะส่งผลต่อสถานะของรัฐบาลและความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสภาพเช่นนี้จึงมีความหวังอย่างมากว่า รัฐบาลทหารคงจะต้องประกาศถึงความชัดเจนของตารางเวลาทางการเมืองในการพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติ และ “คำสัญญาที่สี่” ของรัฐบาลทหารน่าจะเป็นสิ่งที่เวทีสากลไม่อาจยอมรับได้

คลื่นหกลูกเช่นนี้จะโหมกระแทก “รัฐนาวาทหาร” ในปี 2561 อย่างแน่นอน สิ่งที่ตอบไม่ได้ก็คือ แล้ว “เรือแป๊ะ คสช.” จะเกยตื้นขับเคลื่อนไม่ได้ หรือจะลอยลำนิ่งไปไหนไม่ได้ หรือจะเดินหน้าชนหินโสโครกอับปางลงกลางสายน้ำเชี่ยว…

ชะตากรรมของเรือลำนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!