เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (15) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่า และความทรงจำ (4)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คุณค่าและความทรงจำอีกสองประการของโคลงนิราศหริภุญไชย จากการศึกษาค้นคว้าวิจัยของ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ นายเมธี ใจศรี ได้แก่

1. การได้ค้นพบร่องรอยวัดร้าง ผ่านชื่อบ้านนามเมืองตามรายทางที่กวีได้พานพบแล้วพรรณนาถึง

2. การเข้าใจถึงสภาพภูมิศาสตร์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่น้ำปิง

และภัยแล้งในแผ่นดินล้านนา

 

วัดร้างชื่อแปลกที่แทบไม่มีใครรู้จัก

ในเชียงใหม่มีวัดร้างกระจายอยู่หลายแห่ง ทว่าครั้งหนึ่งยุคที่กวีรจนาโคลงนิราศหริภุญไชย วัดเหล่านั้นมีสภาพเป็นวัดอันรุ่งเรือง ประกอบด้วย

๏ วัดเชียงสง ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ความหมายของชื่อวัดควรเป็น “เชียงสงฆ์” มากกว่าหรือไม่ วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดฟ่อนสร้อย ติดกับตลาดประตูเชียงใหม่ ปัจจุบันเหลือแค่ซากเจดีย์หนึ่งองค์ โคลงพรรณนาว่า

จงใจปราสาทสร้อย   สวัสดา

บุญจิ่งจักขูณา    รอดเรื้อง

เชียงสงพี่สงหา    เยาวยอด ยิงเอ่

ชอมช่อตาทุกเบื้อง    บ่ได้ยลพะงา

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความหมายว่า ตั้งใจมั่นขอให้ปราสาทช่วย ถ้ามีบุญก็คงจะกรุณาให้บรรลุถึงความรุ่งเรือง ถึงวัดเชียงสงพี่ประสงค์ ที่จะพบยอดหญิง ให้หดหู่เพราะตาทั้งสองข้างมิได้เห็นนางเลย

๏ วัดศรีมหาทวาร ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชื่อวัดหมายถึง เป็นสิริมงคลแก่ประตู วัดนี้ตั้งอยู่นอกประตูเมือง ทิศใต้คือประตูเชียงใหม่

เดิม ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ อธิบายความว่า ศรีมหาทวาร เป็นชื่อประตูเมืองอีกชื่อหนึ่ง เพราะคำว่า “ทวาร” หมายถึงประตู เมื่อศาสตราจารย์อรุณรัตน์ได้ศึกษาบัญชีวัดร้างของเมืองเชียงใหม่ จึงพบว่า ศรีมหาทวารคือชื่อวัด ไม่ใช่ชื่อประตูเมือง

ปัจจุบันชุมชนเละแวกนั้นเรียกเจดีย์ร้างว่า วัดเชียงของ เหตุเพราะชาวเมืองเชียงของ (จังหวัดเชียงราย) ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่แถบนั้นตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ

บุรีทวารต่อตั้ง     สมสถาน

นามชื่อศรีมหาทวาร    รอดเรื้อง

ทนทุกข์ทินานาน บ่น่อย     ทรวงเอ่

ขวัญขอดยังข้อนเบื้อง     บ่ายห้อยหนอร

หมายความว่า ประตูเมืองติดต่อกับสถานที่หนึ่ง ชื่อว่า วัดศรีมหาทวาร ทนทุกข์(ใจ)อยู่นานไม่ใช่น้อย เพราะขวัญของพี่ไปอยู่กับนาง

๏ วัดพันงอม ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชื่อวัดคงได้มาจากผู้สร้างที่เป็นขุนนางระดับนายพัน ชื่อตัวว่า งอม วัดนี้ระบุว่าตั้งอยู่ในกำแพงเมืองชั้นนอก โคลงพรรณนาว่า อยู่ใกล้กับสุสาน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

พันงอมงามเงื่อนใกล้    สุสาน

เรียมบังคมชินมาร    เจื่องเจ้า

หุรังสิ่งสินบาน    บ่ใคร่ รักเอ่

ก็ใช่จงจักเฝ้า    เทพท้าวเองอวร

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐให้ความหมายว่า ถึงวัดพันงอมซึ่งสวยงามตั้งอยู่ใกล้กับป่าช้า พี่ไหว้พระพุทธไม่หวังได้ทรัพย์สมบัติเครื่องบริโภคในภพหน้า นอกจากจะตั้งปณิธานขอพบกับนาง

๏ วัดเถียงเส่า เป็นวัดที่ตั้งในบริเวณเพิงของเส่า (คำว่า เส่า หมายถึง เครื่องเร่งไฟของช่างเหล็ก, คำว่า เถียง หมายถึง เพิง หรือ กระท่อม หรือ สิ่งปลูกสร้างชั่วคราว) ไม่ทราบว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นนอก วัดเถียงเส่า อาจจะสร้างโดยกลุ่มช่างที่มีหน้าที่หลอมโลหะ ในเชียงใหม่มีหลายวัดที่มีชื่อ “เส่า” เช่น วัดแสนเส่า (ร้างแล้วเช่นกัน) วัดพันเส่า วัดเถียงเส่าคงร้างไปนานแล้ว

ลุเถิงเถียงเส่าสร้อย    ศรีเสถียร

อัสตำเรียรถเกวียน   คลื่นเคล้า

ไทเห็นจุฬาเจียน    ฉันแม่ มาเอ่

ยลใช่ชีพิตเจ้า    ที่ห้อยหฤทัย

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐให้ความหมายว่า มาถึงวัดเถียงเส่า ช้างม้าเกวียนเต็มไปหมด ใจคิดเห็นเหมือนนางมาหา เพ่งดูแล้วไม่ใช่นางที่ติดตรึงใจพี่

๏ วัดน่างรั้ว ปรากฏชื่อวัดนี้ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า พระญามังรายเสด็จจากเวียงกุมกามมาประทับบริเวณนี้ มีพรานเอานัง หรือ น่าง (อวน) มาล้อมเป็นรั้วรอบค่ายประทับ ต่อมาสร้างเมืองชื่อ เวียงรั้วนัง หรือ รั้วน่าง บริเวณนี้ จึงได้ชื่อว่า รั้วน่าง และสร้างวัดชื่อวัดน่างรั้ว

เมื่อพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ได้อพยพชาวไทขึนจากเชียงตุงมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ จึงนำชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตนจากเชียงตุงมาใช้แทนว่า “วัดยางควง” วัดนี้ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ตั้งอยู่ริมถนนสุริวงศ์ ใกล้ประตูขัวก้อม ซึ่งเป็นประตูเมืองของกำแพงเมืองชั้นนอก

อย่างน้อยโคลงนิราศหริภุญไชย ทำให้เราทราบว่าวัดน่างรั้วไม่ใช่วัดร้าง แต่เป็นวัดเดียวกันกับวัดยางควง

อารามเรืองรุ่งหั้น    เงางาม

เป็นปิ่นบุรีนาม    น่างรั้ว

บ่หันนาฏนงราม    รไทยสวาสดิ์ สยบเอ่

ทังชื่นชีพิตกั้ว    โลกนี้นานนิพาน

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ความหมายว่า ต่อไปเป็นวัดอันรุ่งเรืองสว่างงามเป็นยอดแห่งเมือง ชื่อวัดน่างรั้ว ไม่เห็นนางทำให้จิตใจห่อเหี่ยว จนกว่าจะได้ใกล้ชิดกับนาง เพราะโลกนี้กว่าจะถึงนิพพานยังอีกนานนัก

ผู้แต่งโคลงนิราศหริภุญไชยเดินทางมาตามถนนด้วยเท้า นับแต่หน้าวัดพระสิงห์ ผ่านวัดต่างๆ ทั้งหมดรวม 16 วัด จนผ่านออกมาสู่กำแพงเมืองชั้นนอกที่ประตูขัวก้อม ต่อจากนั้นจะเป็นเส้นทางถนนไปสู่เวียงกุมกาม ผู้แต่งได้เดินทางด้วยขบวนเกวียนจำนวนมากจนถึงเมืองลำพูน

 

แม่น้ำปิงเปลี่ยนสาย
พระนอนป้านปิง

แม่น้ำปิง มีกำเนิดมาจากภูเขาที่ชาวบ้านเรียกว่า ดอยหลวงเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ชาวเชียงใหม่-ลำพูน ในอดีตเชื่อกันว่า แม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากต้นน้ำไหลออกมาจากดอยอ่างสรงซึ่งอยู่บนยอดดอยหลวงเชียงดาว

ตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาสรงน้ำอ่างสรงแห่งนี้ และมีเทวดาอารักษ์เมืองเชียงใหม่ชื่อว่า เจ้าหลวงคำแดง สถิตดูแลรักษาอยู่

นอกจากนี้ แม่น้ำปิง ยังได้ชื่อตามตำนานแม่ระมิงค์ กล่าวว่า มีชาวลัวะ (ละว้า) นำปลาปิ้งมาทูลถวายพระพุทธเจ้า พระองค์เสวยไม่หมด พระพุทธองค์ทรงโยนปลาที่เหลือลงแม่น้ำ ปลากลับฟื้นคืนชีวิต

ด้วยเหตุนี้แม่น้ำจึงมีชื่อว่า แม่น้ำปลาปิ้ง

ต่อมาผู้คนจะเรียกว่า แม่น้ำพิงหรือปิง

แม่น้ำปิงสายโบราณนั้น ไหลจากเมืองเชียงใหม่เข้าสู่เวียงกุมกาม โดยไหลเลียบตามถนนที่ปัจจุบันคือถนนเชียงใหม่-ลำพูน ไหลลงไปพบกับแม่น้ำกวงและไหลผ่านทิศตะวันออกของกำแพงเมืองลำพูน

ต่อมาด้วยเหตุผลใดยังไม่แน่ชัด ทำให้แม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน โดยไหลอ้อมเวียงกุมกามและเปลี่ยนทิศทางไหลออกห่างจากเมืองลำพูนไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร

มีผลทำให้แม่น้ำปิงสายโบราณห่างร้างไป

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐเรียกว่า ปิงเก่า ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า ปิงห่าง (ห่าง-ร้าง) เหลือเพียงร่องรอยแม่น้ำปิงเก่าเท่านั้น

จึงสันนิษฐานว่า แม่น้ำปิงเริ่มเปลี่ยนทางเดินตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2060 ซึ่งเป็นปีที่แต่งโคลงนิราศหริภุญไชย เท่าที่อ่านเอกสารโบราณของล้านนามีเพียงโคลงนิราศหริภุญไชยเท่านั้นที่กล่าวถึงน้ำปิงห่าง ซึ่งผู้แต่งพรรณนาว่า น้ำปิงสายนี้เริ่มแห้งขอดและได้เปลี่ยนทางเดินแล้ว

นทีหันแห้งไป่    พอเรือ

เกวียนกว่าชุมชนเฝือ    วิ่งหว้าย

สารถีสั่นสายเยือ    ยังเชือก ชักเอ่

ดัดด่วนคุงค้ำท้าย    ทืบพ้นปานเลิม

วานน้ำขุงน่านน้ำ    เขินขุน คอบเอ่

อกทะเลวังวุน   เล่าแล้ง

อังเกินทังอาดุล    แดเดือด ทรวงเอ่

เห็นหาดหนหั้นแห้ง    เยียะแห้งแถมถนอม

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐให้ความหมายว่า แม่น้ำที่นั่นแห้งไม่พอให้เรือแล่นไปได้ เกวียนและฝูงคนมากหลายวิ่งและว่ายอยู่ในน้ำ สารถีชักเชือกกระตุก พอเกวียนตกหล่มดิ่งลงไปก็รีบลงช่วยดันท้ายรวดเร็วประหนึ่งปลาเลิม (ปลาไม่มีเกล็ดอยู่ในแม่น้ำโขง ตัวโตมากขนาดหนัก 200 กิโลกรัมขึ้นไป) วานน้ำ ลำน้ำ เกาะแก่งกลับไป (บอกข่าวนาง) ท้องน้ำและวังวนยังแห้งไปเล่า คับแค้นเหลือเกินทั้งทุกข์ทนและเดือดเนื้อร้อนใจ เห็นหาด ณ ที่นั้นแห้ง ทำให้อกพี่แห้งเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น ผู้แต่งยังได้กล่าวถึงพระนอน ที่สร้างขวางแม่น้ำปิงสายเก่านี้ไว้ด้วย

พระนอนองค์นี้ ชาวบ้านในอำเภอสารภีหรือเวียงกุมกามเรียกว่า “พระนอนป้านปิง” เชื่อกันมาแต่เดิมตามมุขปาฐะว่า เกิดจากความแค้นของขุนหลวงวิลังคะที่มีต่อพระนางจามเทวี ต้องการกั้นไม่ให้น้ำปิงไหลไปทางเดิมคือไปถึงเมืองลำพูน จึงแยกแม่น้ำปิงออกมา เมื่อต้องการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำ จึงสร้างพระนอนขวางไว้ น้ำปิงจึงเปลี่ยนทางเดินอย่างแท้จริง

แม่น้ำปิงเก่าปัจจุบันคือ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ต่อมาได้ปลูกต้นยางไว้ทั้งสองฝั่งแม่น้ำหรือถนน สาเหตุแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินและเวียงกุมกามถูกน้ำปิงท่วมจมอยู่ใต้พื้นดินเป็นเวลานานหลายร้อยปี ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป ส่วนชาวบ้านบริเวณนั้นได้เล่าเรื่องดังกล่าวเป็นตำนานปรัมปรามาจนถึงปัจจุบัน

อรรณพพระขวางขั้นขอบ    พิงเพิง รอดเอ่

ผืนแผ่นสุยลงเลิง    ลวดยั้ง

คองเห็นที่รักเพิง    ใจเช่น ครานี

ยลอื่นสักเสี้ยนตั้ง    ตอกไว้วักษณ์เรียม

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐให้ความหมายว่า พระนอนขวางตลอดแม่น้ำปิง พระอาทิตย์ส่องพื้นดินนานนักแล้ว เลยหยุดพัก คอยมองดูนาง วุ่นวายใจเหลือเกิน มองเห็นหญิงอื่นเหมือนกับมีเสี้ยนตอกเข้าไว้ในอก

สัปดาห์หน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของหัวข้อโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งจะได้เวลาเฉลยให้ทราบเสียทีว่าใครคือกวีผู้รจนา และใครคือนางศรีทิพ ที่กวีรำพึงรำพันหา