ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “พิพิธภัณฑ์” เดิมหมายถึง “exhibition” ไม่ใช่ “museum”?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อเรือน พ.ศ.2405 พระเจ้าแผ่นดินปรัสเซีย (ส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน) ได้ส่งราชทูตชื่อ ฟรีดริช ออยเลนบูร์ก (Friedrich Eulenburg) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำสนธิสัญญากับสยาม โดยออยเลนบูร์กได้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่างนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจด้วย

ตอนหนึ่งในบันทึกของออยเลนบูร์ก ได้อ้างเอาไว้ว่า ก่อนจะได้รับพระราชทานเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ ท่านได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นการส่วนพระองค์มาก่อน

การเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ของออยเลนบูร์กในครั้งนั้น เป็นการเข้าเฝ้าฯ ในสถานที่ที่มีป้ายแปะเอาไว้หราเลยว่า “museum” นะครับ ดังที่มีข้อความระบุอยู่ในบันทึกของออยเลนบูร์กว่า

“…ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect this Museum และ Respect this Ordinance…”

ใช่ครับใช่ ที่ไทยเราได้ควงศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” มาเพื่อแปลคำว่า “museum” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำว่าพิพิธภัณฑ์ในภาษาไทยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่ museum ซึ่งออยเลนบูร์กได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการส่วนพระองค์แห่งนี้นี่เอง เพราะสถานที่แห่งนั้นมีชื่อทางการในภาษาไทยว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

แต่ถึงแม้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะมีใช้ในภาษาไทยอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว แต่ก็เป็นเพียงสถานที่สำหรับจัดแสดงข้าวของมีค่า และเครื่องราชบรรณาการจากชาติต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลก

 

คําว่า “พิพิธ” แปลว่า “แปลก” ในขณะที่ “ภัณฑ์” คือ “ข้าวของ” คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงแปลตรงตัวได้ความว่า “ของแปลก” (ส่วนจะหมายถึง ของแปลก ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึง วัตถุที่วิเศษ มีคุณค่าทางด้านใดด้านหนึ่ง จริงหรือไม่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ส่วนคำว่า “ประพาส” แปลว่า “เที่ยว” รวมความแล้ว พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ จึงหมายถึง พระที่นั่งที่ใช้เที่ยวชมของแปลก คือข้าวของที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจและบารมีของเจ้าของเครื่องสะสมเหล่านั้น

โดยรากศัพท์ที่แท้จริงแล้ว คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงไม่ได้หมายถึงอาคาร หรือสถานที่ แต่หมายถึงตัววัตถุที่ถูกนำมาจัดแสดง ดังนั้น คำถามที่สำคัญก็คือคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในชื่อ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” นั้น มีความหมายต้องตรงกันกับคำ “Royal Museum” บนแผ่นป้าย ที่ติดระบุหน้าที่การใช้งานของพระที่นั่งองค์นี้จริงหรือเปล่า?

เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระชนมายุครบ 21 พรรษา ด้วยการโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่เก็บไว้ใน “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” มาจัดแสดงไว้ที่หอคองคอเดีย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2417

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกการจัดแสดงครั้งนั้นด้วยคำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” (exhibition) ซึ่งตรงกับคำไทยในปัจจุบันว่า “นิทรรศการ”

และทรงเรียกห้องที่จัดแสดงเอกษบิชั่น ในหอคองคอเดียนั้นว่า “ห้องมิวเซียม” หรือ “หอมิวเซียม”

 

แน่นอนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงคุ้นเคยกับพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระราชบิดาของพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น (และน่าจะทรงเป็นผู้พระราชทานชื่อของพระที่นั่งแห่งนี้ รวมถึงผูกศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นด้วยพระองค์เอง) เนื่องเพราะทรงเจริญพระชันษาขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ดังนั้น พระองค์จึงน่าจะทรงเข้าใจถึงความหมายของคำว่า พิพิธภัณฑ์ ณ ช่วงขณะจิตนั้นอย่างดีเยี่ยม

การที่รัชกาลที่ 5 ทรง “เลือก” ที่จะไม่ใช้คำไทยผูกใหม่ว่า “พิพิธภัณฑ์” ในการเรียกหอคองคอเดีย แต่ทรงเรียกด้วยคำทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” นั้น ส่วนหนึ่งน่าจะมีเหตุผลมาจากการที่คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ไม่ได้มีหมายความเดียวกันกับคำว่า “museum” ในภาษาอังกฤษ

พูดง่ายๆ ก็ได้ว่า สยามประเทศในช่วงสมัยนั้น ยังไม่มีศัพท์คำที่ใช้แปลความหมายคำว่า “museum” ของฝรั่งเป็นการจำเพาะเจาะจงนั่นเอง

 

อันที่จริงแล้ว หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในช่วงสมัยดังกล่าวนั้น ปรากฏอยู่ในกลุ่มเอกสารราชการที่ว่าด้วยการติดต่อต่างประเทศเกี่ยวกับ “มหกรรมนานาชาติ” (international exhibitions หรือ World”s Fairs) ฉบับต่างๆ

มหกรรมนานาชาติที่ว่าก็คือ การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน

หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ซึ่งในเอกสารส่วนใหญ่ของไทยก็จะเรียกมหกรรมเหล่านี้ด้วยคำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” (บ้างก็เขียนแตกต่างกันไปว่า เอกซิบิเชอน, เอกซหิบิเชน, เอกซฮบิชัน ตามแต่ผู้ถอดเสียงออกมาจะได้ยินอย่างไหน)

สยามเองก็เคยมีการจัดมหกรรมทำนองนี้นะครับ แต่เน้นจัดแสดงเรื่องราวในประเทศสยามเองเสียมากกว่า

ครั้งที่สำคัญที่สุดจัดขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2425 ภายใต้ชื่องาน “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน”

และก็เป็นในบรรดาเอกสารเหล่านี้นี่เอง ที่นอกเหนือจากเราจะพบการใช้คำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” แล้ว ก็ยังพบการใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แทนคำว่า “exhibition” อยู่ด้วย เช่นในเอกสาร กต.54/12 ว่าด้วย World Columbian Expositions 1893 (ตรงกับ พ.ศ.2436) เป็นต้น

พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ตรงกับคำว่า “exhibition” ในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คำว่า “museum” เหมือนกันทุกวันนี้นั่นเองนะครับ

 

แต่การใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” สำหรับหมายถึง “exhibition” ก็ดูจะยังไม่กินความหมายต้องตรงกันนัก เพราะจากรากคำที่ผูกขึ้นมานั้น พิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีนัยยะถึงการจัดแสดง นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ต่อมาจึงมีการเริ่มใช้คำว่า “นิทรรศการ” ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเพิ่มเติมคำว่า “สถาน” เชื่อมเข้ากับคำว่าพิพิธภัณฑ์ กลายเป็น “สถานพิพิธภัณฑ์” ซึ่งหมายถึง “สถานที่เก็บของแปลก”

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในความหมายของ “exhibition” มาจนกระทั่งถึงปีสุดท้ายในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 คือในเรือน พ.ศ.2468 ดังปรากฏว่ามีโครงการจัดแสดงมหกรรมระดับชาติ ที่เรียกว่า “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นที่สวนลุมพินี แต่พระองค์เสด็จสวรรคตไปก่อนหน้าหมายกำหนดการเปิดงานเพียงไม่กี่วัน การจัดแสดงทั้งหมดจึงได้ถูกยกเลิกไป

เราต้องรอมาจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เลยนะครับ ที่ค่อยมีการบัญญัติคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ขึ้นใช้แทนคำว่า “museum” เหมือนอย่างทุกวันนี้

เอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ของไทย แต่เดิมจึงไม่เคยมีความหมายตรงกับคำว่า museum ของพวกฝรั่งเลยเสียหน่อย