ภาพยนตร์ นพมาส แววหงส์ / DARKEST HOUR “จารึกในประวัติศาสตร์โลก”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

DARKEST HOUR “จารึกในประวัติศาสตร์โลก”

กำกับการแสดง “Joe Wright

นำแสดง Gary Oldman, Kristin Scott Thomas, Lily James, Ben Mendelsohn, Ronald Pickup, Stephen Dillane

ถ้าเผื่อไม่นึกอยากดูหนังเรื่องนี้เพราะฝีมือการแสดงอันเยี่ยมยอดตราตรึงของ แกรี่ โอลด์แมน ในบทบาทบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก หรือเพราะความสนุกในการติดตามพล็อตและแคแร็กเตอร์ ซึ่งมีอยู่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยศิลปะของภาพยนตร์ เรื่องราวและเนื้อหาของหนังก็สมควรจารึกไว้ให้ชาวโลกจดจำ ในฐานะที่เป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งอาจพลิกโฉมหน้าของประวัติศาสตร์โลกไปเป็นคนละด้านคนละขั้วจากโลกอย่างที่เรารู้จักทุกวันนี้

(ถ้าใครอยากเห็นโลกที่ถูกจินตนาการว่าจะอยู่ในสภาพอย่างไร ถ้าหากฝ่ายสัมพันธมิตรปราชัยและฝ่ายอักษะมีชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ขอให้หาหนังซีรี่ส์ชื่อ The Man in the High Castle มาดู หนังชุดนี้วาดภาพอเมริกาที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของนาซีเยอรมันและญี่ปุ่น…เป็นซีรี่ส์ที่สนุกมาก และเพิ่งได้ดูไปแค่ซีซั่นเดียว)

เมื่อปีที่แล้ว Dunkirk ฝีมือกำกับฯ ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน จำลองภาพฉากช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการอพยพทหารอังกฤษจำนวนสามแสนนายที่ร่วมรบในฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ในภาคพื้นทวีปยุโรปกลับคืนสู่สหราชอาณาจักร เนื่องจากพวกนาซีเยอรมันรุกรบจนถอยร่นไปจนจะตกทะเลที่เมืองดันเคิร์กของเบลเยียม ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปจากเมืองคาเลส์ของฝรั่งเศสเพียงนิดเดียว

เหตุการณ์ที่ดันเคิร์กเป็นชัยชนะในความพ่ายแพ้ของอังกฤษ ที่ยังไม่สยบราบคาบต่อแสนยานุภาพของเยอรมนีที่กำลังจะยึดครองยุโรปได้ทั้งทวีปและเป็นต่อ

และ Dunkirk เสนอเหตุการณ์ในสมรภูมิ จากฝ่ายของทหารที่ถูกรุกไล่จนไม่เหลือพื้นดินที่จะยืนหยัด และเต็มไปด้วยภยันตรายจากฝ่ายศัตรูที่กำลังบดขยี้ให้สิ้นซาก

ส่วน Darkest Hour (ผลงานของ โจ ไรต์ ผู้กำกับฯ Atonement, Pride and Prejudice, Hanna, Anna Karenina และ Pan) ที่ออกฉายอยู่ขณะนี้…และน่าจะเป็นเต็งหนึ่งสำหรับออสการ์ปีนี้ในหลายสาขา…เสนอภาพของการเมืองระดับนโยบายที่ส่งผลต่อสมรภูมิดันเคิร์ก และการยืนหยัดสู้รบด้วยเลือดรักชาติของคนอังกฤษ ที่ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

นี่เป็นเรื่องราวของบุคคลที่กำลังจะเป็นวีรบุรุษผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย…วินสตัน เชอร์ชิล

หนังเสนอเหตุการณ์ในช่วงชั่วโมงที่มืดมนที่สุดที่เชอร์ชิลต้องตัดสินใจชะตากรรมของชาติอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลต่อชะตากรรมของโลกทั้งโลกที่กำลังร้อนระอุแทบทุกหัวระแหงจากการแผ่อิทธิพลของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และมุสโสลินี

เหตุการณ์ในหนังเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1940 ท่ามกลางความคับขันของสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสถูกรุกไล่มาจนมุมอยู่ที่ดันเคิร์ก ไปไหนไม่ได้ นอกจากรอรับการช่วยเหลือให้อพยพจากชายฝั่งตรงนั้น

นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้นคือ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน (โรนัลด์ พิกอัพ) กำลังถูกฝ่ายค้านในรัฐสภาขับไล่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากความอ่อนแอในนโยบายและการบริหาร โดยเฉพาะเมื่อยุโรปแทบทั้งทวีปใกล้จะถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะ นอร์เวย์ สวีเดน โปแลนด์ ฯลฯ พ่ายแพ้ไปหมดแล้ว ที่มั่นสุดท้ายของยุโรปคือ ฝรั่งเศสและเบลเยียม กำลังจะราบคาบ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างถึงพริกถึงขิงของฝ่ายค้าน มีที่นั่งแถวหน้าในรัฐสภาที่หนึ่งซึ่งว่างอยู่อย่างน่าสังเกต และเราได้ข้อสรุปว่า วินสตัน เชอร์ชิล ไม่ต้องการทิ้งลายนิ้วมือไว้บนอาวุธสังหารในรัฐสภา…

นั่นคือ ไม่อยากมีส่วนร่วมในการอภิปรายขับไล่นายกฯ จากพรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นพรรคเดียวกับตัวเขาเอง

เมื่อ เนวิลล์ เชมเบอร์เลน ตัดสินใจลาออกด้วยความกดดัน คนในพรรคเห็นสมควรให้ วิสเคานต์ ฮาลิแฟกซ์ (สตีเฟน ดิลเลน) ก้าวขี้นแทน แต่เจ้าตัวบอกว่ายังไม่ถึงเวลาของเขา เนื่องจากเขาจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้าน บุคคลที่ฝ่ายค้านจะยอมรับได้มีเพียง วินสตัน เชอร์ชิลล์ (แกรี่ โอลด์แมน) เท่านั้น

เชอร์ชิลล์ไม่ได้รับความนิยมในพรรคเนื่องจากท่าทีอันแข็งกร้าวต่อฮิตเลอร์ และยุทธศาสตร์ของเขาในสมรภูมิกัลลิโปลีในตุรกีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสร้างความสูญเสียให้อังกฤษอย่างมาก ขณะที่เชมเบอร์เลนและฮาลิแฟกซ์มีนโยบายประนีประนอม

เมื่อพระเจ้าจอร์จที่หกทรงเชิญเชอร์ชิลล์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เชอร์ชิลล์รู้ตัวว่าเขาไม่ได้รับพระราชวินิจฉัยสนับสนุนจากพระองค์นัก

เชอร์ชิลล์เป็นผู้นำที่พูดเก่ง คำปราศรัยของเขาได้รับการอ้างอิงถึงอยู่เสมอ ขณะที่บุคลิกของเขาเป็นที่ชื่นชอบของสาธารณชน แต่คนในพรรคเดียวกันไม่ชอบหน้าเขานัก และหนังเสนอด้านนี้ของเชอร์ชิลล์ ซึ่งมีภริยาสุดที่รักชื่อเคลเมนไทน์ หรือที่วินสตันเรียกอย่างรักใคร่ตลอดเวลาว่า เคลมมี่ (คริสติน สก็อตต์ โธมัส) คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเขาอยู่เบื้องหลัง

เคลมมี่คอยเตือนให้เชอร์ชิลล์ทำตัวดีๆ ต่อคนรอบข้าง และไม่เอาแต่ใจตัวเอง หรือดุด่าคนอื่นอย่างไม่ไว้หน้า

ในขณะที่ลอร์ดฮาลิแฟกซ์และเชมเบอร์เลน ซึ่งร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี ต่อต้านนโยบายแข็งกร้าวและพยายามประสานให้เกิดการลงนามในสัญญาสันติภาพ โดยผ่านทางสัมพันธภาพกับมุสโสลินี แต่เชอร์ชิลล์ยืนกรานว่าจะไม่ยอมจำนน เนื่องจาก “เราใช้เหตุผลกับเสือไม่ได้หรอก ขณะที่หัวเราอยู่ในปากมัน”

และพระเจ้าจอร์จที่หกทรงยอมรับในที่สุดว่า บุคคลเดียวที่ฮิตเลอร์กลัวที่สุดคือเชอร์ชิลล์ ซึ่งนั่นเป็นจุดแข็งของอังกฤษในสงครามครั้งนี้

และเมื่อวินสตันเกิดความไม่แน่ใจกับท่าทีแข็งกร้าวของเขา ก็ทรงบอกให้เขา “ฟังเสียงประชาชน”

ซึ่งหนังก็นำเสนอ “การสำรวจประชามติ” ของเชอร์ชิลล์ให้เราดูในตอนที่วินสตันผลุนผลันลงจากรถส่วนตัว ไปนั่งรถใต้ดิน และเปิดการอภิปรายย่อยๆ ในหมู่คนอังกฤษที่มีเลือดรักชาติเต็มเปี่ยม

หนังมีอารมณ์ขันประปรายด้วยคารมคมกริบ อารมณ์แปรปรวนและบุคลิกอันแรงกล้าของเชอร์ชิลล์ รวมทั้งความไร้เดียงสาของเขาในหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น สัญลักษณ์ประจำตัวที่เขาชูสองนิ้วขึ้นเป็นตัววี สำหรับ “ชัยชนะ” หรือ Victory ครั้งแรกที่เชอร์ชิลล์ทำต่อหน้าสาธารณะ โดยมีช่างภาพจับภาพไว้นั้น เป็นตัววีที่หันหลังมือออก ซึ่งวินสตันผู้มาจากชนชั้นสูง ไม่รู้ว่าการชูสองนิ้วแบบนั้นเป็นคำด่าอย่างหยาบคายในหมู่ชนชั้นล่าง

หนังมีฉากหนึ่งที่เชอร์ชิลล์เข้าห้องน้ำเพื่อต่อสายไปหาประธานาธิบดีรูสเวลต์ของสหรัฐ เพื่อที่จะพบว่าอังกฤษแทบจะโดดเดี่ยวอยู่ในเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าครั้งนี้ เนื่องจากอเมริกาเพิ่งออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยการวางตัวเป็นกลาง และรูสเวลต์ถูกมัดมือไว้ไม่สามารถส่งกำลังมาช่วยอังกฤษได้เลย

หนังมีคำคมดีๆ หลายประโยค ทั้งจากปากเชอร์ชิลล์และจากคนอื่นๆ และทิ้งท้ายด้วยประโยคที่มีความหมายน่าจดจำเป็นความว่า

“ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นตาย สำคัญอยู่ที่ความกล้าหาญที่จะเดินหน้าต่อไป” (Success is not final; failure is not fatal. It is the courage to continue that counts.)

และความกล้าหาญที่จะเดินหน้าต่อไปนั้น คือมรดกที่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ให้ไว้แก่โลกอย่างที่เรารู้จักนี้