ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | แพทริก เฮมเมอร์
เรื่องราวของการเคารพซึ่งกันและกัน
ความมุ่งมั่นร่วมกันและความสามารถด้านใหม่…มวยไทย (จบ)
ลักเซมเบิร์ก ในฐานะผู้บุกเบิกด้านการเงินและการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อความยั่งยืน เอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย กล่าวว่า
“หลังการยอมรับข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลักเซมเบิร์กได้ริเริ่มแพลตฟอร์มตราสารด้านสิ่งแวดล้อม (Green Exchange) เพื่อปลดล็อกการเงินที่ยั่งยืน วันนี้ Luxembourg Green Exchange (LGX) ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มแรกของโลกที่อุทิศให้กับหลักทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นบ้านของตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครึ่งหนึ่งของโลก”
“เรารู้สึกตื้นตันใจเมื่อประเทศไทยเลือกตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์กเพื่อจดทะเบียนพัธบัตรรัฐบาลที่ยั่งยืนชุดแรก ซึ่งมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนารถไฟฟ้ากรุงเทพฯ แพลตฟอร์มฟินเทคและอีคอมเมิร์ซอื่นๆ ในเอเชีย ก็ได้เลือกลักเซมเบิร์กเป็นประตูสู่ตลาดยุโรป”
“แต่เราไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น จากตัวอย่างล่าสุดของการมีส่วนร่วมทางเทคโนโลยีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสำเร็จ เป็นความต้องการด้านการสื่อสารและการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นล่วงหน้า คือบริการการสื่อสารผ่านดาวเทียมและอวกาศของลักเซมเบิร์กซึ่งเข้าถึง 99% ของประชากรโลก”

ส่วนโอกาสที่เพิ่มขึ้นทางธุรกิจ
“ผมในฐานะเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำกรุงเทพฯ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับประเทศไทยต่อไป ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีพลวัต ที่ครอบคลุม และยั่งยืนระหว่างประเทศของเรา”
“ความสัมพันธ์ของเรานั้นขยายความครอบคลุมไปหลายภาคส่วน ตั้งแต่การเงิน ไปจนถึงการเงินที่ยั่งยืน เทคโนโลยีทางการเงิน (fintech) การขนส่ง และจัดส่งสินค้า (logistics) รวมทั้งการเชื่อมต่อ และผมก็มองเห็นศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้อีกมากมาย”
“เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมอยู่ที่ลักเซมเบิร์กเนื่องในวันอาเซียน (ASEAN Day) ซึ่งเป็นงานพิเศษที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ในลักเซมเบิร์กได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและสำรวจโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ”
“ขณะนี้ธุรกิจต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงสองแบบ คือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ลักเซมเบิร์กได้สร้างภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพใหม่ในความร่วมมือกับประเทศไทย เราเป็นเจ้าภาพหนึ่งในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในยุโรป และผมเห็นโอกาสมากมายในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมโดยให้การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการดังกล่าวแก่ชุมชนการวิจัยและอุตสาหกรรมของไทย”

ด้านการเชื่อมโยงที่ยิ่งใหญ่ทางด้านความคิดนั้น
“ผมเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อโครงการต่างๆ ของยุโรปที่ส่งเสริมความสามารถของนักศึกษาและนักวิจัยไปพร้อมๆ กับการดูแลรักษานวัตกรรม ทั้งนี้ เรามีความร่วมมือกันหลายอย่างระหว่างมหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์กและผู้มีบทบาทด้านวิชาการและการวิจัยของประเทศไทย และในทุกปี รัฐบาลของผมจะมอบทุนการศึกษาหลายสิบทุนให้กับนักศึกษาต่างชาติที่มีผลการเรียนดี รวมถึงนักศึกษาไทยที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก ซึ่งผมอยากเห็นการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า”
“สำหรับผม การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นสิ่งสำคัญและเช่นเดียวกับระหว่างเพื่อนบ้านด้วย ตัวอย่างเช่น ลักเซมเบิร์กร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) โดยมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างขีดความสามารถในภาคการดูแลสุขภาพในประเทศลาว ซึ่งเราพยายามที่จะขยายพื้นที่สำหรับการเสวนาระหว่างอัยการสูงสุดของไทยและลาว อันเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการกับกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ”

“แม้เราจะห่างกันทางภูมิศาสตร์ แต่ทั้งลักเซมเบิร์กและไทย ต่างก็มีค่านิยมด้านสันติภาพ เสถียรภาพ และเสรีภาพเหมือนกัน”
“หลังเหตุโจมตีอันโหดร้ายของผู้ก่อการร้ายในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สิ่งสำคัญคือต้องหยุดยิงในฉนวนกาซาทันทีเพื่อยุติสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด ขยายการเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ บนพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองรัฐ (Two-State Solution)”
“นอกจากนี้ เรายังอยากเห็นการเคารพอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และในเมียนมา เราสนับสนุนความพยายามของอาเซียนและไทยในการรักษาเสถียรภาพของสถานการณ์”

“ลักเซมเบิร์กและไทยส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและการให้บริการความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองของตนทุกคน สำหรับเรื่องที่ประเทศไทยจะทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายในไม่ช้านี้ จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเอเชียเพื่อสังคมที่ครอบคลุมและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น”
“ผมรอคอยวันที่จะเดินทางเพื่อสำรวจอาณาจักรที่สวยงามแห่งนี้ต่อไป ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ร่วมกันของเรา และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ผมขอเชิญชาวไทยมีช่วงเวลาที่ดีด้วยการไปเยือนลักเซมเบิร์กและดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมหัวใจสีเขียวของยุโรป (Green Heart of Europe) เรายินดีต้อนรับทุกท่านครับ” •

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022