ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คลุกวงใน |
ผู้เขียน | พิศณุ นิลกลัด |
เผยแพร่ |
คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด
Facebook : @Pitsanuofficial
Euro 2024
กับการร้องเพลงชาติ
จากประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกไว้ การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศหรือระดับนานาชาติ ที่มีการร้องเพลงชาติ มีขึ้นในปี 1905 ในการแข่งขันรักบี้ระหว่างทีมชาติเวลส์ กับทีม All Blacks ทีมชาติของประเทศนิวซีแลนด์ ที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทีม All Blacks จะเต้นฮาก้า (Haka)
ซึ่งในอดีตเป็นการเต้นของนักรบชนเผ่าเมารี ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ก่อนนักรบจะออกสงคราม เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ
โดยก่อนการแข่งขันรักบี้จะเริ่ม นักรักบี้ทีม All Blacks ทั้งทีมจะหันหน้าเข้าหาทีมคู่แข่ง ร้องเพลงและเต้นขึงขัง แลบลิ้นปลิ้นตา ข่มขวัญคู่ต่อสู้ เป็นการเล่นสงครามจิตวิทยาข่มขวัญ
โดยทีมคู่แข่งก็ยืนมองตาปริบๆ
แต่ในวันนั้น ทีมชาติเวลส์ซึ่งเป็นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เกิดความคิดเฉียบแหลม โต้กลับด้วยการร้องเพลงชาติเวลส์ทันทีที่ทีม All Blacks เต้นฮาก้าเสร็จ
โดยนักรักบี้ในทีมเวลส์เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติ จากนั้นผู้ชมชาวเวลส์ในสนามกว่า 40,000 คนก็ร่วมกันร้องเพลงชาติเวลส์ กึกก้องไปทั้งอัฒจันทร์
จากบันทึกการแข่งขันครั้งนั้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน บรรยายว่า การร่วมร้องเพลงชาติของแฟนรักบี้ชาวเวลส์หลายหมื่นคน สร้างความฮึกเฮิมให้กับนักรักบี้ทีมเวลส์ ส่งผลให้ชนะทีม All Blacks
นับจากนั้น การร้องเพลงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ หรือนานาชาติก็เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบมาทั่วโลก
ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร หรือการแข่งขันฟุตบอลโลก ก่อนการแข่งขันเริ่มขึ้น จะมีการเปิดเพลงชาติของทั้งสองทีมที่จะแข่งขัน ทางฟีฟ่าได้ออกกฎเกี่ยวกับเพลงชาติที่ทุกทีมต้องปฏิบัติตาม คือเพลงชาติต้องมีความยาวไม่เกิน 90 วินาที หากยาวเกินกว่านี้ ก็ต้องตัดต่อเพลงชาติให้จบภายใน 90 วินาที
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Sport Science พบว่า เราอาจทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลแต่ละคู่ จากความตั้งใจของนักฟุตบอล ช่วงที่ยืนเรียงแถวร้องเพลงชาติ
โดยวิเคราะห์นักฟุตบอลช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส ว่าแต่ละทีมจริงจังและแสดงอารมณ์ร่วมออกมามากแค่ไหนเวลาร้องเพลงชาติก่อนเริ่มการแข่งขัน ทั้งพลังในการร้อง การแสดงสีหน้า และภาษากายที่ส่งไปยังเพื่อนร่วมทีม
เช่น ยืนกอดคอใกล้ชิดอย่างเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือแค่สัมผัสตัวพอเป็นพิธี
จากนั้น วิเคราะห์ว่าอารมณ์ร่วมระหว่างร้องเพลงชาติ ว่าส่งผลยังไงกับการแข่งขัน
ผลการศึกษาพบว่า ระดับความรักชาติที่แสดงออกมาระหว่างการร้องเพลงชาติของนักฟุตบอลในทีม คือตัวชี้วัดว่าทีมนั้นจะทำผลงานได้ดีหรือไม่ในการแข่งขันแมตช์นั้น
ทีมที่นักฟุตบอลแสดงพลังความรักชาติและเพื่อนร่วมทีมออกมาอย่างสุดหัวใจจะช่วยลดโอกาสที่ทีมจะเสียประตูให้กับทีมคู่แข่ง
แต่ว่าไม่ได้ช่วยให้ยิงประตูได้เยอะขึ้น
ที่สำคัญคือ ในรอบน็อกเอาต์ ทีมที่จริงจังกับการร้องเพลงชาติ มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ชนะเกมนัดนั้น
ในฟุตบอลยูโร 2016 ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์และทีมชาติสเปน เป็นสองทีมที่แสดงพลังความรักชาติออกมาน้อยที่สุดเวลายืนแถวร้องเพลงชาติก่อนแข่งขัน
ทั้งสองทีมจึงไปได้ไกลสุดเพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ทีมชาติเวลส์และทีมชาติอิตาลีเป็นสองทีมที่แสดงพลังออกมามากที่สุดในช่วงร้องเพลงชาติก่อนแข่งขัน
ทีมชาติอิตาลีเข้าไปได้ถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนจะแพ้จุดโทษเยอรมนี
ส่วนทีมชาติเวลส์แพ้ให้กับทีมชาติโปรตุเกสในรอบรองชนะเลิศ
ทีมชาติโปรตุเกสซึ่งชนะเจ้าภาพฝรั่งเศสในรอบชิงและได้แชมป์ยูโรเป็นสมัยแรก เป็นทีมที่แสดงพลังความรักชาติและมุ่งมั่นออกมาชัดเจนในช่วงร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขันทุกเกม
คณะผู้วิจัยบอกว่า การร้องเพลงของนักฟุตบอลในทีมชาติเป็นเครื่องบ่งบอกระดับความเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกคนในทีม เป็นการประกาศว่าพวกเราพร้อมต่อสู้เพื่อชาติ สร้างแรงกระตุ้นให้ทุกคนในทีมและข่มขวัญคู่แข่ง แบบเดียวกับที่ทีม All Blacks รักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ใช้การเต้นฮาก้า (Haka) ข่มขวัญคู่แข่งก่อนเริ่มเกม
เมื่อถึงรอบน็อกเอาต์ การเดิมพันก็สูงขึ้น นักฟุตบอลต้องเผชิญกับความเครียดในเกมและความคาดหวังจากทุกคนในชาติ
ดังนั้น นักฟุตบอลทุกคนในทีมต้องร่วมแรงร่วมใจ เพื่อพาทีมไปให้ไกลที่สุด ซึ่งการร้องเพลงชาติก่อนเกมก็ช่วยสร้างพลังสามัคคีให้นักฟุตบอล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022