มวลชนปฏิวัติ : ถอดประสบการณ์จากบอร์ดเกม สู่ขบวนการเรียกร้องรัฐสวัสดิการร่วมสมัย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ในปีที่ผ่านมาผมได้ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารประเด็นการผลักดันรัฐสวัสดิการชื่อว่า เกม “มวลชนปฏิวัติ”

โดยในปีที่ผ่านมาผมพยายามอุดช่องโหว่ของเกมมากขึ้นๆ จนใช้สำหรับการสื่อสารกับผู้คนได้ในหลากหลายกลุ่ม

ในบทความนี้ ผมขอใช้พื้นที่ถอดบทเรียนจากการเล่นเกมนี้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย

ตั้งแต่นักศึกษาถึงภาคประชาชน

รวมถึงกลุ่มทางการเมือง

 

ในเกมนี้ผมกำหนดผู้เล่นออกเป็น 7 คน ประกอบด้วย ประชาชน 3 คน นักการเมือง ข้าราชการ รัฐบาล นายทุนอย่างละหนึ่งรวมเป็น 7 คน

โดยผู้เล่นแต่ละคนมีเป้าหมายที่ต่างกัน

ประชาชนต้องการ “มวลชนปฏิวัติ”

ข้าราชาการต้องการ “อำมาตยาธิปไตย”

นักการเมืองต้องการเป็นรัฐบาล

รัฐบาลต้องการเป็นรัฐบุรุษ

และนายทุนต้องการซื้อประเทศ

แต่ละผู้เล่นจะมีเหรียญสามสีประกอบด้วย ความนิยม เงิน และอำนาจ เพื่อใช้ในการผลักดันประเด็นต่างๆ

ผู้เล่นทั้ง 7 จะผ่านฉากที่ต้องต่อรองอำนาจระหว่างกันเพื่อเลือกจะผลักดันประเด็นต่างๆ หรือไม่ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรที่ต่างกัน

ประกอบด้วย เงิน อำนาจ ความนิยม ที่ต้องระดมจากผู้เล่นคนอื่น เพื่อผลักดันประเด็นที่เราต้องการ

ไม่ว่าจะเป็น ลาคลอด 180 วัน บำนาญถ้วนหน้า ประกันสังคมถ้วนหน้า เรียนมหาวิทยาลัยฟรี เก็บภาษีทรัพย์สิน การเลือกตั้ง รัฐประหาร ลดหย่อนภาษีให้กลุ่มทุน ไล่มาจนกระทั่งถึง การนัดหยุดงานทั่วประเทศ

ผู้เล่นแต่ละคนไม่สามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ หรือกีดขวางเรื่องเหล่านี้ได้ตามลำพัง ต้องอาศัยผู้เล่นคนอื่นช่วยด้วย

แน่นอนสำหรับประชาชนที่วางไว้ หากสามารถเก็บเกี่ยวนโยบายสวัสดิการที่ก้าวหน้าและกีดขวางนโยบายที่ไม่ก้าวหน้า จนได้การเปลี่ยนแปลง 10 หน่วยก็จะได้มวลชนปฏิวัติ ถือว่าประชาชนชนะ

แต่จะทำบรรลุได้ต้องมีพันธมิตร เพราะเกมสามารถออกแบบให้มีผู้ชนะได้หลายคน

พร้อมกันผมขอยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่มีผู้ชนะหลายคน

 

1.มวลชนปฏิวัติ นักการเมืองได้เป็นรัฐบาล รัฐบาลได้เป็นรัฐบุรุษ

เมื่อประชาชนสามารถสร้างพันธมิตรกับนักการเมืองที่พวกเขาไว้ใจได้ จริงอยู่ว่านักการเมืองผลประโยชน์ของพวกเขาแกว่งไปมา ระหว่างกลุ่มก้าวหน้า กับกลุ่มอนุรักษนิยม เพราะพวกเขามีโอกาสที่จะสะสมความนิยมได้จากทุกฝ่าย

ถ้าประชาชนสามารถดึงนักการเมืองให้เข้าใจว่าผลประโยชน์ของนักการเมือง กับผลประโยชน์ประชาชนเป็นเรื่องเดียวกันก็สามารถผลักดันประเด็นต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

แม้รัฐบาลต้องระวังว่านักการเมืองจะมีความนิยมมากกว่าตนเองเสมอ แต่หากตอนจบเป้าหมายของรัฐบาลคือการได้เป็นรัฐบุรุษคือการสะสมอำนาจให้ได้มากที่สุดในเกม

หากรัฐบาลยอมหลีกทางให้นักการเมืองสะสมความนิยม และตนสะสมอำนาจ ก็จะทำให้เป้าหมายของตัวเองลุล่วงไปได้

 

2.ไม่เกิดมวลชนปฏิวัติ นายทุนซื้อประเทศ รัฐบาลเผด็จการได้เป็นรัฐบุรุษ ใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

ในทางตรงข้ามเกมก็ไม่ได้ออกมาแค่ทางเดียว จริงๆ แล้วโอกาสการเกิดมวลชนปฏิวัติก็ยากไม่แพ้โลกจริง เพราะจุดเริ่มต้นตัวแสดงต่างๆ มีทรัพยากรไม่เท่ากัน

หากกลุ่มชนชั้นนำสามารถคุยกันได้ในช่วงเริ่มแรก พวกเขาก็จะขยายพันธมิตรในการกีดขวางนโยบายต่างๆ ไปเรื่อยๆ สนับสนุนการลดหย่อนภาษีกลุ่มทุน สนับสนุนรัฐประหาร ล้มการเลือกตั้ง ขวางการขึ้นภาษีอำนาจของรัฐบาลก็จะมากขึ้นๆ

ข้าราชการก็จะเริ่มแสดงตัวอยู่ข้างผู้มีอำนาจ นโยบายต่างๆ เพิ่มอำนาจนายทุนมากขึ้นๆ

สุดท้ายประชาชนก็ไม่สามารถทำอะไรได้ นักการเมืองหวือหวาขึ้นมาบางจังหวะ แต่ก็ถูกซื้อตัวโดยกลุ่มทุน

 

3.ไม่เกิดมวลชนปฏิวัติ นักการเมืองได้เป็นรัฐบาล นายทุนซื้อประเทศได้

ฉากนี้เป็นฉากที่มีนักการเมืองขึ้นมาให้ความหวังแก่ประชาชน ในนโยบายแรกๆ แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาเลือกที่จะใช้ความหวังหลอกประชาชน

แม้พวกเขาจะสามารถเข้ามาแทนที่รัฐบาลชุดก่อนได้ แต่การที่พวกเขาดีลอะไรต่างๆ ไว้กับกลุ่มชนชั้นนำอย่างมากมายละเทะ สุดท้ายแล้วประชาชนก็ได้เพียงแค่เศษเนื้อข้างเขียง

และนายทุนก็รวยและมีอำนาจมากขึ้นจนเข้ามาเทกโอเวอร์ทุกอย่างในประเทศ

จนประชาชนเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกัน

 

ทุกท่านคิดว่าสำหรับประเทศไทย เราใกล้เคียงกับสถานการณ์ใดมากกว่ากัน?

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมถอดบทเรียนสำคัญ คือบางเกมเราได้นักการเมืองดี ทุกอย่างก็ดีไป ได้นายทุนใจกว้างรักรัฐสวัสดิการ ก็ดีไป

แต่มันไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเราอยากให้รัฐสวัสดิการอยู่ในสถานการณ์ที่มั่นคงและเห็นอนาคต เราจำเป็นต้องรวมตัวและหนักแน่น

และยิ่งในโลกจริงประชาชนแทบไม่อยู่ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย

และเรื่องสำคัญที่สุด เราต้องไม่ปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนคิดแทนเรา มิเช่นนั้นเราจะไม่มีวันได้อะไรเลย

เป็นบทเรียนสำคัญที่ผมสามารถสรุปได้จากเกม “มวลชนปฏิวัติ” ซึ่งจำลองสถานการณ์การการต่อสู้ทางการเมืองในประเด็นรัฐสวัสดิการร่วมสมัยออกมา