ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เทศมองไทย |
เผยแพร่ |
ทอมมี วอล์กเกอร์ เขียนบทความว่าด้วยความพยายามผลักดันเพื่อเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ซึ่งเป็นกลุ่มจัดตั้งของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีประเทศอย่าง บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เป็นผู้ก่อตั้ง เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของวีโอเอ เมื่อ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา
บริกส์ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2006 โดยทั้ง 4 ชาติ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ใช้อักษรแรกของชาติสมาชิกมาตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่ม “BRIC” ต่อมาแอฟริกาใต้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วยในปี 2010 จึงเปลี่ยนเป็น “BRICS” ในที่สุด
แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม กลุ่ม BRICS จะต้อนรับสมาชิกใหม่อีก 5 ชาติอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยจะใช้ชื่อแบบเดิม โดยอาจเพิ่มคำว่า “พลัส” เข้าไปเพื่อสะท้อนถึงจำนวนชาติสมาชิกที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มประเทศบริกส์ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นมูลค่ากว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ขนาดเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกมีมูลค่าราว 100 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนสูงไม่น้อย
ทำให้คาดหวังกันว่า บริกส์น่าจะมีอิทธิพลและมีปากมีเสียงต่อทิศทางของเศรษฐกิจและการเงินโลกมากขึ้นกว่าเคยเป็นมา
เมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกับร่าง “แอพพลิเคชั่น เลตเตอร์” ที่จะเป็นสารแสดงเจตจำนงเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์นี้
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เป็นสมาชิกแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการนี้ นอกเหนือจากการที่ได้ชื่อว่าเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นสมาชิกบริกส์อย่างเป็นทางการ
ฐิตินันท์ พงษ์สุทธรักษ์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ ทอมมี วอล์กเกอร์ ว่า บริกส์นั้นเดิมทีเริ่มต้นเป็นเหมือนแพลตฟอร์มอย่างหนึ่งสำหรับการรวมตัวกันในเชิงภูมิเศรษฐกิจของหลายชาติ
แต่ตนคิดว่าในระยะหลัง การรวมตัวที่ว่านี้ยิ่งนับวันยิ่งกลายเป็นการรวมตัวกันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแนวร่วมในเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำหรับต่อต้านตะวันตกไป
ฐิตินันท์เชื่อว่า การดำเนินความพยายามเพื่อเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์นี้ เป็นการ “ไปผิดทาง”
“บริกส์ในทัศนะของผมเป็นการถูกนำไปในทางที่ผิด หวังแค่ให้เกิดผล การเป็นสมาชิกบริกส์จะทำให้ไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาระสำหรับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ไทยต้องการที่จะรักษาดุลยภาพและความเป็นกลางเอาไว้”
ข้อที่น่าสนใจก็คือ อินโดนีเซีย ชาติที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มบริกส์ในปี 2023 ในเวลานั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายชี้ว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการจาการ์ตาปฏิเสธก็เพราะต้องการให้นโยบายต่างประเทศของตนยังคง “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”
ฐิตินันท์เสริมเอาไว้ว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอินโดนีเซียไม่แน่ใจในทิศทางของบริกส์ว่าจะไปทางไหน เขาตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไทยเองก็ไม่ต้องการเป็นชาติที่ได้ชื่อว่าต่อต้านตะวันตก แต่บริกส์ยิ่งมายิ่งกลายเป็นต่อต้านตะวันตกมากขึ้นทุกที
วอล์กเกอร์ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า ความพยายามเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ของไทยเป็นไปในเชิง “สัญลักษณ์” มากกว่าอย่างอื่น ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะจีนชาติผู้ก่อตั้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย เป็นทั้งคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนก็ “มีนัยสำคัญ” ยิ่งต่อการท่องเที่ยวไทย
เบนจามิน ซาแวคกี ชี้ว่า เมื่อมองจากมุมของจีน ก็คงอยากให้ชาติสมาชิกบริกส์ทุกชาติมองโลกไปในทิศทางเดียวกันกับที่จีนมอง มีจุดยืนทางการเงินเดียวกัน และถือว่าไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มสมาชิกที่ว่านั้นด้วยเช่นกัน
ในขณะที่ เอียน ชอง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ บอกกับวีโอเอว่า เชื่อว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือสิ่งที่โน้มน้าวไทยให้เข้าเป็นสมาชิกได้มากกว่าอย่างอื่น
เขาชี้ว่า รัฐบาลไทยในเวลานี้เชื่อว่าการเป็นสมาชิกบริกส์จะทำให้มี “ทางเลือกทางเศรษฐกิจ” มากหรือหลากหลายขึ้น สามารถกระจายความสัมพันธ์ทางการเงิน และห่วงโซ่ซัพพลาย แลอาจได้รับการสนับสนุนทางการเงินในกรณีที่เกิดวิกฤตขึ้นอีกด้วย อาจเป็นเพราะรัฐบาลไทยเชื่อว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงอยู่กับจีน
แต่ข้อกังขาของ เอียน ชอง ก็คือ บริกส์จะให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อไทยอย่างที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ ยังไม่แน่นัก และต้องรอดูกันต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022