มุมมอง “โภคิน พลกุล” จาก เนติบริกร ถึงนิติสงคราม กฎหมาย คือทางออกหรือทางตันสังคมไทย

“กฎหมาย คือ สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อมากำหนดกิจกรรมของมนุษย์ของพวกเราด้วยกัน เพื่อให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม เป็นธรรม คำว่า เป็นธรรมที่ว่าก็คือไม่ไช่ให้ใครเอารัดเอาเปรียบได้หรือไม่ใช่ให้มีการเลือกปฏิบัติ เรื่องเดียวกันต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ถ้าไม่ใช่อย่างนั้นคนก็จะรังเกียจกฎหมายแล้วไม่อยากเคารพกฎหมาย เขาก็จะไปหาคนที่ทำบิดเบือนแล้วได้ผลมากกว่าจะหาคนที่บอกว่ากฎหมายคืออย่างนี้นะ

แล้วประเทศไทยไม่กี่ปีที่ผ่านมาไปหาคนบิดเบือนแล้วได้ผล เราก็เลยมีวัฒนธรรมใครสามารถบิดเบือนแล้วได้ผล ฉันจะพึ่งคนนั้น สิ่งเหล่านี้จะต้องเลิก”

นั่นคือความเห็นอดีตประธานรัฐสภา โภคิน พลกุล (ปัจจุบันประธานยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย) เกี่ยวกับสถานการณ์ทางกฎหมายในประเทศ

ดร.โภคินระบุว่า ถ้าเราเป็นระบอบประชาธิปไตยปกติ พรรคการเมืองจะต้องมีคนที่มีความชำนาญกฎหมาย มาช่วยในการทำนโยบายหรือในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

รัฐบาลก็มีที่ปรึกษาสำคัญที่สุดคือกฤษฎีกา ทั้งตัวสำนักงานและตัวคณะกรรมการ ซึ่งสามารถที่จะสอบถามความเห็นต่างๆ ได้อยู่แล้ว

แต่บ้านเราให้ความสำคัญกับ “มือกฎหมาย” เพราะว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นชัดเจนว่า “กฎหมายถูกบิดเบือนตลอด” คือ มันควรจะเป็นแบบ ก. ก็ทำให้เป็นแบบ ข. แบบ A แบบ B ก็ได้หมด เมื่อเป็นอย่างนี้ทำให้คนไม่รู้แล้วว่า “หลักที่ถูกต้อง” คืออะไร

แต่ถ้าถามผม ผมก็จะอธิบายตามหลักที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร ตัวกฎหมายมันไม่ได้ชั่วร้าย ส่วนใหญ่ดี แต่การไปบิดเบือนมันทำให้ได้ผลประหลาด เพื่อตอบโจทย์คนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น

สังคมก็เลยไปฝังใจว่าถ้ามือกฎหมายไหนก็ตามมาทำให้เกิดผลประหลาดที่เป็นผลดีกับคนบางคนแบบอย่างนี้ดี แล้วเราก็ยกว่าคนเหล่านี้ว่าเป็นเนติบริกร เป็นศรีธนญชัย สารพัดประโยชน์ตลอด

เราต้องไม่ยืนในหลักแบบนี้ ถ้าผมเป็นพรรคการเมืองไม่ว่าแบบไหนผมจะยืนในสิ่งที่ถูกต้องผมจะไม่พึ่งอะไรที่มาบิดเบือนโดยอาศัยความเชี่ยวชาญหรือจะอาศัยแวดวง อาศัยเครือข่ายต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ดังนั้น ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยเองมีคนเก่งๆ อยู่มากมายต้องมั่นใจตัวเองว่าเราจะยืนในสิ่งที่ถูกต้อง

บางครั้งอาจจะไปคิดว่าบางคนมีประสบการณ์สูงทั้งแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ ถ้าเขาสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางกฎหมายในระบอบเผด็จการได้เขาก็น่าจะมาสร้างในระบอบประชาธิปไตยได้?

รัฐธรรมนูญ-การยุบพรรคกับสังคมไทย

ดร.โภคินมองว่า การยุบพรรคเป็นสิ่งที่เลอะเทอะมาตั้งแต่ต้นแล้ว เดิมทีเดียว พอเราเริ่มมีพรรคการเมืองใหม่ๆ แล้วก็มีกฎหมายพรรคการเมืองแต่ไม่ได้ไปคุมเข้มอะไรมากมาย คือเหมือนจะตั้งบริษัทตั้งสมาคมในต่างประเทศยุคแรกๆ ของเราไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง

มีขึ้นสมัยจอมพล ป. ก็เพราะว่าพรรคการเมืองเปรียบเหมือนเป็นสมาคมอย่างหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองต้องมากำหนดก็เริ่มยุ่ง แล้วคนยึดอำนาจก็พยายามจะคุมพรรคการเมือง

ทุกวันนี้ กกต.ใหญ่มากเลยเป็นใครมาจากไหน อันนี้ผิด-ถูกอันนี้ชี้อย่างนี้อย่างนั้น ก็ทำให้วุ่นวายไปหมด

พอมีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งแต่ก่อนก็เป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาของ 3 องค์กรหลักๆ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการเพื่อจะเอาปัญหามาชี้แล้วก็ตีความแล้วก็ดำเนินการไปตามที่ตีความกัน พอมีศาลรัฐธรรมนูญก็ให้มาชี้ขาดเหมือนเดิมก็คือกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กับอำนาจขององค์กรต่างๆ วุ่นวายไปหมด

แล้วพอไม่ได้ทำอะไรกันอย่างตรงไปตรงมา ทำกันแบบเรียกว่าบริการบิดเบือนกฎหมายพอสมควรก็เลยไม่มีใครเชื่อถืออะไรอีก

ผมยังคิดว่าอะไรที่ทำไปแล้วมันวุ่นวาย เยิ่นเย้อ ซับซ้อนก็ทำให้ง่ายแบบเดิมดีกว่า ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาอยู่มา 200 กว่าปี เขาก็อยู่ของเขาได้ แล้วก็เป็นชาติมหาอำนาจได้ อีกหลายประเทศก็เป็นแบบเดียวกัน

แต่บ้านเราแก้แล้วแก้อีก ฉีกแล้วฉีกอีก นับวันก็ยิ่งเจ๊ง ยิ่งจมลงไป ยิ่งพยายามจะไปเขียน ฉบับนี้ (2560) ก็เขียนเพื่อกันพรรคเพื่อไทยวันนั้นทุกอย่างหมด แล้ววันนี้เพื่อไทยก็มาเป็นรัฐบาล ถามว่าสามารถกันได้จริงไหม

แต่ที่กันแน่ๆ คือกันประเทศจากการก้าวไปข้างหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ฉุดประเทศให้ถอยหลังต่างหากและทำให้มายด์เซ็ตคนเปลี่ยนไป

แทนที่จะยืนอย่างสมาร์ต อธิบายกฎหมายอย่างสมาร์ต ก็พลอยอยากเป็นศรีธนญชัยกับเขาบ้างเพื่อตอบโจทย์ตัวเองบ้าง บ้านเมืองก็พังหมด

 

กระบวนการยุติธรรม
จะเป็นอย่างไร
ในวันที่ผู้คนหมดศรัทธา

ว่าไปแล้วก็ตั้งแต่การยึดอำนาจ คนที่ทำให้การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องคือ องค์กรตุลาการ ทั้งที่การยึดอำนาจคือการกระทำผิดที่ร้ายแรง คือกบฏ แต่ไปบอกว่าถ้าทำกบฏสำเร็จคุณเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือพูดง่ายๆ ทำชั่วแล้วสำเร็จ กลายเป็นคนดี มันเพี้ยนมาตั้งแต่ต้น แล้วก็เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด

ดังนั้น พอถูกบิดเบือนอันนี้ได้ แต่ก่อนก็ไม่หนักหนาพอมาทีหลังมีรายละเอียดซับซ้อนมากขึ้นก็บิดเบือนไปเรื่อยเปื่อย แล้วการบิดเบือนมันไม่ได้เกิดเฉพาะคนมาตีความ ไม่ว่าจะเป็นเนติบริกร แต่กลายเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ชี้ขาดก็ยังบิดเบือน พูดง่ายๆ ว่าไม่ตีความกฎหมายอย่างที่มันควรจะเป็น

ดังนั้น เราถึงบอกว่าเราล่มสลายเรื่องความยุติธรรม เมื่อล่มสลายหมดทุกคนก็จะพึ่งอะไรก็ได้ที่ฉันคิดว่าฉันได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นแล้วก็ไม่แคร์ว่าไม่ใช่ความยุติธรรม ไม่ใช่หลักที่ถูกต้องอีกต่อไปแล้วนะ เราถึงต้องสถาปนาสิ่งนี้ขึ้นมาให้ได้

ถ้าบ้านเมืองยังเดินอย่างนี้ตลอดเวลานักกฎหมายที่กะล่อนที่พูดจาเรื่อยเปื่อย เพ้อเจ้อ พูดกันคนละทีสองที แบบนู้นทีแบบนั้นที คนก็จะสับสนมากไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

อยากเรียกร้องนักกฎหมายที่มีจิตวิญญาณพูดว่าสิ่งที่ถูกต้อง คืออย่างนี้ นี้เป็นสิ่งที่เขาบิดเบือนมันไม่ใช่

ให้ประชาชนได้เรียนได้รับทราบว่าอย่างนี้พวกเขาจะไม่เอา แล้วผมก็คิดว่าการยึดอำนาจถ้ายังยึดแล้วสำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์กลายเป็นคนดีไม่มีทางที่ระบบกฎหมายจะไม่ถูกบิดเบือน

 

วิธีป้องกันรัฐประหารในอนาคต

หากย้อนไปดูรัฐธรรมนูญปี 2517 บอกว่าการนิรโทษกรรมการรัฐประหารจะกระทำไม่ได้

แต่พอมีการฉีกรัฐธรรมนูญเสร็จก็ไม่มีอะไรห้ามแล้วใช่ไหม เพราะตัวห้ามถูกฉีกไปแล้ว

การนิรโทษกรรม การรัฐประหารหนักหนาสาหัสขึ้นทุกทีโดย เนติบริกร ทำตัวเป็นศรีธนญชัย สารพัดประโยชน์ บางคนมีประสบการณ์สูงทั้งแบบประชาธิปไตยและแบบเผด็จการ ถ้าเขาสามารถสร้างปาฏิหาริย์ทางกฎหมายในระบอบเผด็จการได้เขาจะมาสร้างในระบอบประชาธิปไตยได้หรือ

จากเดิมนิรโทษกรรมโดยออกกกฎหมาย หรือบ่อยครั้งแรกๆ ออกโดยสภา คือจริงๆ ในเมื่อเราทำผิด คนที่จะนิรโทษกรรมต้องให้สภาไปออกกฎหมาย ไม่ใช่เราออกกฎหมายเอง โดยบอกว่าที่ฉันทำผิดให้ถือว่าถูก ซึ่งทีหลังเนติบริกรก็รับใช้บรรดาผู้ยึดอำนาจทั้งหลาย ยึดอำนาจเสร็จแล้วก็บอกสิ่งที่ฉันทำผิดทั้งหมดให้ถือว่าชอบ

ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย คือสรุปแล้วชอบหมด เหมือนกับโจรไปปล้นบ้านเขาแล้วต่อมาเขียนบอกทั้งหมู่บ้าน ว่าที่ฉันไปปล้นบ้านให้ทั้งหมู่บ้านถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบ ฉันไม่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้นเป็นสิ่งเพี้ยนใหญ่ไปแล้ว

วิธีแก้มีอย่างเดียว เราต้องสร้างเครื่องมือให้ศาลมีความกล้าหาญในวันข้างหน้า คือ เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญเลยว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่นิรโทษกรรมไม่ได้ และบทบัญญัติมาตรานี้ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่คงอยู่ตลอดไปไม่ว่ารัฐธรรมนูญถูกฉีกหรือไม่บทบัญญัตินี้ยังอยู่

เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับ แม้ปัจจุบันบอกว่าถ้าไม่มีในรัฐธรรมนูญให้ใช้ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้วเราถือว่าสิ่งที่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แล้วเขียนว่าเป็นการละเมิดทั้งต่อประชาชนและต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะถ้าหากคุณฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับพระองค์พระมหากษัตริย์ก็ไม่มีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญอีก ต้องบอกอย่างนี้และศาลในวันข้างหน้าท่านต้องกล้าหาญ

หากวันนี้คุณยึดอำนาจสำเร็จข่มขู่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่วันใดไม่มีอำนาจก็ติดคุกนะ ต้องถูกลงโทษเกิดสัก 1 ครั้งเท่านั้นรับรองจบ

บางคนบอกจะไปออกกฎหมายจะต่อต้านรัฐประหาร กฎหมายธรรมดายิ่งไม่มีความหมายเลย ทำยังไงให้การรัฐประหารที่เกิดขึ้นและนิรโทษกรรมตัวเองไม่มีผล เพราะขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จบ แต่ขออย่างเดียวขอศาลกล้าหน่อย ขอสัก 1 ครั้ง ผมคิดว่าทุกอย่างจะไปได้

ชมคลิป