Golden Boy ‘พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ คือใคร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมานี้ The Metropolitan Museum of Art หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า The MET แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งคืนประติมากรรมสำริด 2 ชิ้น อันประกอบไปด้วย ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่า และประติมากรรมที่รู้จักกันในชื่อ “Golden Boy” ให้กับประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

และหลังจากที่ได้รับมอบแล้ว ทางกรมศิลปากรก็ได้นำประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้ ไปจัดแสดงไว้ที่ “ห้องศิลปะลพบุรี” ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ข้างท้องสนามหลวง) โดยได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชม มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือแม้กระทั่งชาวต่างประเทศเลยทีเดียว

ส่วนที่ทางกรมศิลปากรได้นำไปจัดแสดงที่ห้องศิลปะลพบุรีนั้น เป็นเพราะว่าประติมากรรมสำริดทั้ง 2 ชิ้นที่ว่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นประติมากรรมที่จัดอยู่ในศิลปะแบบเขมร ซึ่งถ้าพบภายในเขตประเทศไทยแล้ว ก็มักจะถูกนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลัก โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐอย่างกรมศิลปากร เรียกว่า “ศิลปะลพบุรี” หรือ “ศิลปะเขมรในประเทศไทย” อย่างมีนัยยะสำคัญทางลัทธิชาตินิยม, เชื้อชาตินิยม

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นัยยะทางการเมือง” นี่แหละครับ

 

คําจำกัดความของ “ยุคสมัย/ศิลปะลพบุรี” อย่างที่เป็นแม่แบบของแนวคิดดังกล่าวในปัจจุบันนั้น มีอิทธิพลสำคัญมาจากหนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510) ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่าง ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล โดยในหนังสือเล่มดังกล่าวได้นิยามความหมายศิลปะลพบุรีเอาไว้ว่า

“คำว่า ‘ศิลปะสมัยลพบุรี’ เท่าที่ใช้กันอยู่ในวงการโบราณคดีประเทศไทยปัจจุบัน หมายถึงโบราณวัตถุสถานขอมที่พบในประเทศไทย รวมทั้งโบราณวัตถุสถานขอมที่ทำขึ้นในประเทศไทย แต่ทำเลียนแบบศิลปะขอมในประเทศกัมพูชา ฉะนั้น ศิลปะสมัยลพบุรีในที่นี้จึงมีทั้งที่เป็นแบบขอมอย่างแท้จริง และที่ทำขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะผิดแปลกออกไปบ้าง”

คำอธิบายที่ว่า “ทำขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะผิดแปลกออกไปบ้าง” นั้น ย่อมหมายความว่า มีลักษณะเหมือนขอมมากกว่าที่จะไม่เหมือนนั่นแหละครับ

ที่สำคัญก็คือ กลุ่มชิ้นงานในศิลปะขอมที่สร้างขึ้นนอกเมืองพระนคร-นครธม อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เช่น กลุ่มงานที่ จ.พระตะบอง นั้น ก็มีลักษณะพื้นถิ่นที่ทำให้มีลักษณะผิดแปลกออกจากศิลปะขอมที่ศูนย์กลางใน จ.เสียมเรียบ ออกไปบ้าง ไม่ต่างไปจากที่พบในเขตประเทศไทย

และยังควรจะสังเกตด้วยว่า หนังสือ ศิลปะสมัยลพบุรี ของ ม.จ.สุภัทรดิศ นั้นตีพิมพ์ขึ้นหลังจากเกิดกรณีพิพาทเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2505 จนทำให้เกิดกระแสชาตินิยมในการเรียกร้องทวงคืนปราสาทพระวิหารต่อมาอย่างยาวนาน กระแสชาตินิยมดังกล่าวย่อมส่งผลต่อกระบวนการคิดของ ม.จ.สุภัทรดิศ ในการสร้างกฎเกณฑ์ความแตกต่างระหว่าง “ศิลปะขอม/เขมร” กับ “ศิลปะลพบุรี” ขึ้นมา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ทางกรมศิลปากร จะนำเอาประติมากรรมสำริดทั้ง 2 ชิ้น ที่ได้รับคืนมาจาก The MET ไปจัดแสดงไว้ที่ห้องศิลปะลพบุรี แม้ว่าประติมากรรมชิ้นหนึ่งในนั้นคือ Golden Boy ควรจะเป็นรูปสนองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” (ถึงแม้ว่าบางท่านจะเห็นต่างไป แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้) ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองพระนคร (จ.เสียมเรียบ กัมพูชา) แต่มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองมหิธรปุระ ที่ลุ่มน้ำมูล แถบ จ.นครราชสีมา-จ.บุรีรัมย์ ก็ตาม

 

กล่าวโดยสรุป พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีพระราชบิดาและพระราชมารดาคือ หิรัณยวรมัน และหิรัณยลักษมี ตามลำดับ

ข้อมูลในจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 7 ระบุว่า หิรัณยวรมัน มีถิ่นฐานอยู่ที่ “กษิตีนทรคราม” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะ และโบราณคดีเขมร ที่ติดตามทวงคืนประติมากรรมสำริดทั้ง 2 ชิ้นนี้ จาก The MET กลับคืนสู่ประเทศไทยตัวจริงอย่าง คุณทนงศักดิ์ หาญวงษ์ เสนอว่า อยู่ที่บ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เพราะเป็นสถานที่ค้นพบประติมากรรมรูป Golden Boy อันควรจะเป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หมายความว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของพระองค์ควรจะอยู่ที่บริเวณนั้นด้วย

ความเห็นดังกล่าวของคุณทนงศักดิ์น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะธรรมเนียมทำนองนี้เคยมีปรากฏให้เห็นอยู่แล้วในโลกยุครัฐจารีตของอุษาคเนย์ เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการสร้างรูปพระเจ้าอู่ทอง (ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ของอยุธยา ในทำนองเดียวกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์มหิธรปุระ ที่เมืองพระนคร) ไว้ที่วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเชื่อกันว่า เดิมคือเวียงเหล็ก อันเป็นเมืองของพระเจ้าอู่ทองมาก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมา เป็นต้น

แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดระบุเอาไว้ในจารึกหลักใดๆ ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สามารถผลัดราชวงศ์ที่เมืองพระนครได้อย่างไร?

แต่นักวิชาการก็สันนิษฐานกันว่า พระองค์คงจะเคยรับราชการอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1593-1609) และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1609-1623 เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2) อันเป็นช่วงที่เมืองพระนครไม่สงบ จากกบฏภายใน และสงครามกับจามปา จึงทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สามารถอาศัยสถานการณ์ดังกล่าวจนเสด็จครองราชย์ขึ้นมาได้เมื่อเรือน พ.ศ.1623

และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ 2 ปี ตรงกับ พ.ศ.1625 ได้รับสั่งให้ขุนนางดูแลปราสาทพนมวัน ในเขต อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระองค์ ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในบริเวณที่ราบลุ่มโตนเลสาบเขมร และที่ราบสูงโคราช

เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สามารถรับสั่งให้คนดูแลปราสาทพนมวันได้แล้ว แน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับฝีมือช่างต่างๆ ภายในปราสาทพนมวันได้ด้วย

ดังนั้น นี่จึงขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องศิลปะลพบุรี/ศิลปะเขมรในประเทศไทย ที่เน้นย้ำว่ากลุ่มงานศิลปะลพบุรีนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองจากเมืองพระนคร อย่างเห็นได้ชัด

 

ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือเป็นไปได้ด้วยว่า กษัตริย์พระองค์นี้จะเป็นผู้สร้างปราสาทพิมาย เพราะในจารึกกรอบประตูระเบียงคด ที่ปราสาทพิมาย ซึ่งระบุศักราช ตรงกับพุทธศักราชระหว่าง พ.ศ.1651-1655 มีข้อความแสดงให้เห็นว่าปราสาทพิมายสร้างเสร็จมาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งก็ควรจะตรงกับสมัยที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ครองราชย์อยู่ที่เมืองพระนคร

โดยคุณทนงศักดิ์ คนดี คนเดิม ถึงกับเสนอว่า ปราสาทพิมายนั้นเป็นปราสาทประจำรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เลยทีเดียว

ดังนั้น ไม่ว่านักชาตินิยมจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม แต่ฝีมือช่างในศิลปะที่ไทยเรียกว่าแบบลพบุรีนั้น จึงมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองการปกครองในเมืองพระนครแน่

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 มีพี่น้องรวมทั้งตัวพระองค์เองรวมทั้งหมด 4 องค์ โดยพระองค์เป็นผู้บุตรองค์ที่สาม พระพี่นางองค์โตมีชื่อว่า นเรนทรลักษมี เสกสมรสกับ กษิตีนทราทิตย์ (น่าเชื่อว่ามาจาก กษิตีนทรคราม เช่นกัน) มีพระราชโอรสองค์สำคัญคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1656-1693) ซึ่งเป็นผู้สร้างปราสาทนครวัด ขึ้นที่ในเขตปริมณฑลของเมืองพระนคร

พระเชษฐาองค์รองคือ พระเจ้าธรณีนทรวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1650-1656) ซึ่งครองราชย์ที่เมืองพระนครต่อหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สวรรคตแล้ว

ส่วนพระอนุชาองค์สุดท้อง ไม่มีร่องรอยหลักฐานมากนัก ทราบเพียงแต่ว่ามีพระนามว่า ยุวราชา เพียงเท่านั้น

พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1650 มีพระนามหลังสวรรคตว่า “ปรมไกวัลย์บท” โดยมีอะไรที่ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “Golden Boy” เป็นรูปสนองพระองค์ ที่สถิตของดวงพระวิญญาณของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และถือเป็น “พระเชษฐบิดร” คือ “ผีบรรพชน” ของราชวงศ์มหิธรปุระ ที่กำลังปกครองเมืองพระนครอยู่นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ