จากไสยเวทวิทยาสู่มหากรุณาวิถี : เส้นทางโพธิสัตวมรรคผ่านขนบประเพณีจีน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สมัยที่พวกเราเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปลาย ยังจำกันได้ไหมว่าเรามีความสนใจอะไรกันบ้าง ผมจำได้ว่าเริ่มสนใจเรื่องศาสนาบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ในชีวิตก็ยังเป็นการเล่นสนุกตามประสาเด็ก

ในวัยเดียวกันนี้ เด็กวัยรุ่นอีกคนบนเกาะภูเก็ตกลับใช้ชีวิตเริ่มฝึกฝนบนเส้นทางไสยเวทจีน แม้ที่บ้านจะไม่เห็นด้วยก็ต้องแอบเรียนแอบฝึก เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านจับได้ถึงกับเอาตำราไปโยนทิ้ง ทั้งโดนผู้ใหญ่ที่ตนต้องการเรียนรู้ด้วยไล่ให้กลับไปเรียนหนังสือตามปกติ แต่ด้วยความตั้งใจ ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ยอมสอนวิชาให้จนได้

วันเวลาล้วนมอบให้กับการเรียนรู้ ที่ไหนมีเบาะแสว่ามีครูอาจารย์มีวิชาดี ก็เอาตัวเองไปให้ถึงที่นั่นโดยไม่ย่อท้อ จนแทบจะไม่มีชีวิตวัยรุ่นสนุกสนานอย่างคนอื่นเขา และได้กลายเป็นครูบาอาจารย์ของผู้อื่นได้ในวัยที่ยังไม่ถึงสามสิบปี กระนั้นก็มองตนเองว่าเส้นทางยังอีกยาวไกล มีความท้าทายอื่นๆ อีกมาก

นอกจากวิชาด้านไสยเวทจีนซึ่งมีให้เห็นดกดื่นจนเป็นเรื่องปกติในชุมชนของเด็กหนุ่มคนนั้นแล้ว ความสนใจใคร่รู้ของเขายังมุ่งไปยังความหมายที่จริงแท้ของบรรดาพิธีกรรม และแก่นแท้ของ “พุทธธรรม” ที่อยู่เบื้องหลังรูปแบบเหล่านั้น พาให้เขาไปพบอีกเส้นทางหนึ่ง

คือเส้นทางแห่งโพธิสัตวมรรค ผ่านวิถีขนบจีน

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา “อวโลกิตะ” สถานภาวนากลางกรุงเทพฯ ที่เปิดให้ผู้คนสามารถ “วอล์กอิน” เข้าไปนั่งภาวนาได้ทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้มีโอกาสต้อนรับเด็กหนุ่มคนนั้น คือ อาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง หรือ เทียนเต็กซือหู ผู้ที่ผมมักกล่าวถึงบ่อยๆ ในบทความและเป็นผู้มอบความรู้ด้านจีนวิทยาอันมากมายแก่ผม

อันที่จริงผมก็พอทราบอยู่แล้วว่า ท่านค่อนข้างขัดเขินเมื่อถูกผมกล่าวถึงในทำนองยกย่องบนพื้นที่สาธารณะ ก็เช่นต้นไม้ในป่าที่พยายามซ่อนตน แต่ไม้สูงย่อมโผล่พ้นยอดต้นไม้อื่นๆ โดยธรรมชาติไปเอง ในฐานะคนแก่กว่าและก็พอจะมีความเป็นครูอยู่บ้าง ก็คิดว่าเมื่อเราได้พบแก้วมณีสีสวยสด ก็ควรยกชูแก้วมณีนั้นให้ทอแสงประกายให้ผู้อื่นชื่นชมด้วย

และพูดอย่างไม่เกรงใจ ผมคิดว่าตัวเอง “ตาถึง” พอ

 

งานในวันนั้น เราตั้งใจจะขอจัดพิธีกรรมเล็กๆ และให้เต็กซือหูได้บรรยาย รวมทั้งพูดคุยกับผู้มาร่วมภาวนา ท่านจึงให้มี “มนต์พิธีมหากรุณาธารณี” อย่างจีนแก่ผู้มาร่วมงาน ซึ่งโดยมากคนที่แวะเวียนมายังสถานที่แห่งนี้มักไม่ค่อยคุ้นเคยกับพิธีกรรมตามขนบ เพราะพวกเรามักพยายามประยุกต์ให้ง่ายลงเสียมากกว่า เพราะที่อวโลกิตะเราเน้นการนั่งภาวนาเงียบๆ เป็นหลัก จะมีมนตราภาวนาประจำวันบ้างก็แค่มนต์มณี “โอม มณี ปัทเม หูม” สั้นๆ เพียงเท่านั้น

บางโอกาสถ้ามีการสวดมนต์ยาวๆ ก็จะใช้บทสวดที่แปลไทยแล้วเช่นหทัยสูตร หรือมีบทสันสกฤตแทรกเล็กน้อย ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่มีสวดมนต์ยาวๆ ในภาษาจีน

มหากรุณาธารณี เป็นมนต์ที่มีชื่อเสียงมาในทางมหายาน ภาษาจีน (ฮกเกี้ยน) เรียกว่า “เชี้ยนชิ้วเชี้ยนง่านบู่ไงไต่ปีซิมตอลอนี” หรือ “สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรมหากรุณาธารณี” เรียกง่ายๆ ว่า มนต์พระกวนอิมพันมือพันตา ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรที่ปรากฏมีมือและตาตั้งพันเพื่อจะฉุดช่วยสรรพสัตว์ให้ได้มาก บางทีก็เรียกง่ายๆ ว่า “มหากรุณาธารณี” (ไต่ปีจิ่ว) ก็ได้

พระธารณีนี้แปลเข้าในจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง นับถือกันมากในทุกฝ่ายที่รับเอาพุทธศาสนาแบบจีนไป ไม่ว่าจะเกาหลีหรือญี่ปุ่น บางทีก็เรียกพระธารณีใหญ่ เชื่อกันว่าเป็นมหามนต์แห่งพระอวโลกิเตศวรที่เปล่งออกมาช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์จึงมีคุณานุคุณมากมายเกินกว่าจะพรรณาได้ ดังผมเคยกล่าวว่า ชาวมหายานมีความเชื่อใน “ธารณี” ว่าเป็นมนต์ที่พระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์ได้เปล่งออกมาในภาวะพิเศษเป็นเครื่องปกป้องรักษาใจดังนาม “ธารณี” นั่นเอง

มหากรุณาธารณีจึงถูกสาธยายในการทำวัตรสวดมนต์ของชาวมหายานและปรากฏในแทบทุกพิธีกรรม

 

ก่อนเริ่มภาวนาพระธารณีก็ต้องมีลำดับขั้นตอนต่างๆ เป็นต้นว่า การถวายสุคนธบูชา การตั้งปณิธาน โศลกสรรเสริญ ฯลฯ เมื่อจบการภาวนาก็ลงท้ายด้วยการอุทิศกุศล

หลังจากผมได้เรียนรู้เรื่องมนต์พิธีจีนมาสักพักก็อยากเสนอว่า เราอย่าเพิ่งพากันคิดไปว่านี่เป็นวิถีปฏิบัติง่ายๆ ที่ไร้สติปัญญาหรือเป็นแค่พิธีกรรม ก็แค่อาม่าสวดมนต์หรือเจ๊กตีเกราะเคาะไม้ฮัมเพลง ดังที่ชอบพูดกันว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน” อะไรแบบนั้น

ที่จริงหากเข้าใจความหมายและนัยยะต่างๆ ทางพิธีกรรมได้แล้ว จะพบว่านี่เป็นวิถีปฏิบัติที่น่าสนใจและลึกซึ้งมากทีเดียว เป็นอุปายะของการภาวนาแบบหนึ่ง ซึ่งคงจะได้มีโอกาสเล่าให้ฟังต่อไป

 

หลังจบมนต์พิธีอันสง่างาม เราได้มีโอกาสชวนอาจารย์นนท์พูดคุยและสอบถามความหมายในพิธีกรรมต่างๆ เด็กหนุ่มในชุดภาวนาอย่างจีนครองผ้าขมากรรมเรียบร้อย ปฏิเสธที่จะนั่งบน “เก้าอี้ครู” ซึ่งเราได้จัดไว้ให้ผู้บรรยายหรือปาฐกถาทุกท่านได้นั่งด้วยความถ่อมตน จนผมต้องคะยั้นคะยอแล้วจึงยอมในที่สุด

อาจารย์นนท์เล่าถึงเส้นทางชีวิตตนเองเพียงสั้นๆ ว่าเข้ามาสนใจไสยเวทจีนและพุทธศาสนาได้อย่างไร แน่นอนว่า บทบาทของชุมชนรายรอบเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจในสิ่งเหล่านี้ แต่ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการได้พบ “ครู”

ผมคงต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า ในจังหวัดภาคใต้ เช่น ภูเก็ต ระนอง ตรัง พังงา ซึ่งมีชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ศาลเจ้าหรือ “อ๊าม” มีบทบาทต่อวิถีชีวิตมาก เด็กๆ จะเติบโตจากการอยู่ใกล้อ๊ามทำให้หลายคนอยากจะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมหรือฮวดกั้วหรือคนทรงเจ้า (ตังกี) ซึ่งนับว่าโก้เก๋ไม่หยอกทีเดียว

แต่เพราะว่ามันเท่นี่แหละครับ หลายครั้งเนื้อหาสาระก็หล่นหายไประหว่างทาง

 

การที่อาจารย์นนท์ได้พบครูหรือแป๊ะเกี๋ยวนั้น แม้จะมีระยะเวลาอยู่ด้วยกันเพียงสองปีก่อนที่แป๊ะเกี๋ยวจะเสียชีวิต ก็ได้ฝากฝังสิ่งที่สำคัญมากมาย

แป๊ะเกี๋ยวได้ทำให้รู้ว่ามนต์พิธีต่างๆ ในทางไสยเวทนั้นมีความหมายอย่างไร เพราะท่านชำนาญภาษาจีนโบราณ รวมทั้งความรู้ลึกๆ ที่ท่านเก็บไว้อีกมาก และทำให้ทราบได้ว่า โดยแท้จริงนั้น ไสยเวทจีนไม่ได้ไกลห่างจากพุทธศาสนามหายานสักเท่าใด เทพเจ้าหลายองค์ในทางไสยเวทก็มาจากคติพุทธ แม้แต่ในการทำพิธีกรรม เช่น ทำน้ำมนต์ ก็มักอาราธนาคุณของพระอวโลกิเตศวรมาปกโปรด ทำให้แม้รดราดไข้หนาวสั่นก็หายเพราะความอบอุ่นแห่งกรุณาคุณนั้น ทั้งยังต้องฝึกฝนสมาธิภาวนาเพื่อให้เกิดความเข้มขลังด้วย

พอผมถามถึงความสัมพันธ์กับแป๊ะเกี๋ยว อาจารย์นนท์นิ่งไปนานและตอบด้วยน้ำเสียงเบาๆ ปนสะอึกสะอื้นที่ผมเห็นได้ถึงความรักที่มีต่อครู

ผมสังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ นอกเหนือจากคำสอนแล้ว คือการที่แป๊ะเกี๋ยวยอมรับกับนนท์ว่า ท่านไม่ได้มีความรู้ทั้งหมด ที่เหลือศิษย์ต้องไปต่อยอดและแสวงหาเอง

กับการบอกว่าเมื่อมีความรู้แล้ว ก็ควรจะต้องถ่ายทอดไปยังผู้อื่นต่อไป

 

อาจารย์นนท์ยังแสดงให้เห็นว่า ไสยเวทวิทยานั้นมิใช่สิ่งเลวร้ายโดยตัวมันเอง กระนั้นก็ควรเห็นมันเป็นเครื่องมือหรืออุปายะสำหรับช่วยเหลือผู้คนเท่านั้น ขนบเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ครึหรือล้าสมัยเสมอไป หากมันจะพอโอบอุ้มคุณค่าและเนื้อหาสาระไว้ได้ในฐานะอีกเครื่องมือหนึ่งเช่นกัน

กระทั่งพิธีกรรมง่ายๆ เช่น การไหว้เจ้าในชีวิตประจำวัน คนโบราณอาจไม่ได้อธิบายอะไรมาก แต่นั่นคือ “ความสัมพันธ์” แบบญาติพี่น้องที่เคารพให้เกียรติกัน ปู่ย่าตายายไหว้เจ้าที่ก็เพราะเขาอยากให้เกียรติต่อแผ่นดินหรือที่ทางที่เขาได้มาอาศัย ถ้าเราคิดว่าการมีความรู้สึกเช่นนี้ช่วยบ่มเพาะคุณลักษณะของความอ่อนน้อมแล้ว จะสืบสานต่อไปก็ย่อมได้

การไหว้เทพเจ้าที่ตนนับถือทุกคืนวัน หากพอทราบประวัติความเป็นมาและคุณลักษณะของเทพองค์นั้น เมื่อฝึกไปเช่นนี้นานๆ เข้า องค์คุณต่างๆ ของเทพเจ้าก็ซึมซับเข้ามาในเนื้อในตัว

กระนั้นข้อควรระวังก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเรียนสิ่งเหล่านี้บางครั้ง “อัตตา” ก็จะเติบโตมากเป็นพิเศษ เนื่องจากคิดว่าตนมีฤทธิ์มีอำนาจ เมื่อมาอยู่ในตำแหน่งครูก็ยิ่งแล้วใหญ่ จำต้องทบทวนตนเองให้ดีเสมอ หากไม่หมั่นระลึกถึงปณิธานและเจตนาของการร่ำเรียน โอกาสเข้ารกเข้าพงก็จะมีมาก

การมีครูและวิถีแห่งความเป็นมหายาน รวมทั้งความเปิดกว้างบางประการจึงช่วยกล่อมเกลาให้ไสยเวทมีความลุ่มลึกงดงามยิ่งขึ้น

อันที่จริงมหายานมองว่า “อะไรก็ได้” ที่ช่วยให้ผู้คนและสรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ ผู้บำเพ็ญโพธิสัตวมรรคจะเลือกใช้ด้วยปัญญาอันไตร่ตรองไว้ดีแล้ว ไสยเวทวิทยากับโพธิสัตวมรรคบนวิถีแห่งความกรุณา

จึงได้มาบรรจบกัน •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง