วิรัตน์ แสงทองคำ : สื่อกับสังคมไทย (1) ฉากใหญ่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สื่อในสังคมไทย เผชิญความผันแปรอย่างต่อเนื่อง

ยังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่อนอีกต่อไป

จนถึงปัจจุบัน 3 ทศวรรษแล้ว

 

ช่วงที่หนึ่ง (2530-2540)

ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง เกิดขึ้นทั้งสื่อสิงพิมพ์ ซึ่งเป็นธุรกิจเปิดกว้าง กับทีวีซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจมีการแข่งขันไม่มากราย ท่ามกลางสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย

หนึ่ง-เป็นช่วงเวลาตลาดหุ้นไทยเติบโตครั้งใหญ่ ท่ามกลางสังคมธุรกิจขยายตัวด้วยโอกาสที่เปิดกว้างมากมาย แม้ว่าเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือสงครามอ่าว (2 สิงหาคม 2533-28 กุมภาพันธ์ 2534) มีผลกระทบระยะสั้นๆ

ในอีกด้านส่งผลระยะยาวให้ผู้คนในสังคมไทยสนใจข่าวสาร สนใจธุรกิจสื่อกันมากขึ้น

และอีกครั้ง (ปี 2535) เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ความวุ่นวายทางการเมือง กลับกระตุ้นแนวคิดใหม่ ผู้คนในเมืองหลวงเชื่อในพลังการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร-ก่อเกิดแนวคิดทีวีเสรี

สอง-เป็นช่วงเวลาต่อเนื่องกับระบบสื่อสารใหม่ ดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย (ไทยคม-ปี 2534) เชื่อมการสื่อสารระหว่างเครือข่าย (โดยเฉพาะธุรกิจ) ทั่วประเทศ จากนั้นตามมาด้วยเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานชนบท 1 ล้านเลขหมาย (ปี 2536) ขณะที่ระบบสื่อสารไร้สายเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

AIS (ได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้เป็นผู้ดำเนินโครงการบริการระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900) เปิดบริการในปี 2533

และ DTAC (ทำสัญญากับ กสท เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปลายปี 2533) เริ่มให้บริการต้นปี 2534 ในช่วงแรกๆ บริการเครือข่ายและผู้ใช้บริการยังมีจำนวนจำกัด แต่สะท้อนแนวโน้มที่ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในวงกว้างและรวดเร็ว เป็นช่วงเวลาเดียวกัน ทีวีไทยทุกช่องพัฒนาเครือข่ายทั่วประเทศ ในความพยายามเสนอรายการเดียวกันกับผู้ชมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สื่อสิ่งพิมพ์ไทยเป็นหัวหอกพาเหรดเข้าตลาดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ถือเป็นยุคเริ่มต้นธุรกิจสื่ออย่างแท้จริง วางรากฐานเป็นธุรกิจสำคัญในประเทศไทย ทั้งสื่อภาษาไทย อังกฤษ และจีน (บางกอกโพสต์ ปี 2527 เนชั่น ปี 2531 มติชน และ ผู้จัดการ ปี 2532 วัฏจักร และ ตงฮั้ว ปี 2534)

ในช่วงเวลาเดียวกันผู้รับสัมปทาน ทีวีช่อง 3 ปรับตัวขยายกิจการครั้งใหญ่ ก่อตั้งบริษัทใหม่-บริษัท บีอีซี เวิลด์ ในปี 2533 และเข้าตลาดหุ้นในปี 2539 กลายเป็น “โมเดล” ความรุ่งเรือง ความมั่งคั่งของสื่อดั้งเดิม ซึ่งทอดยาวมาอีกช่วงหนึ่ง

ยุครุ่งเรืองของสื่อขยายวงไปมากกว่าที่คิด นิตยสารระดับโลกเข้ามาแชร์ในสังคมไทย ปรากฏการณ์เริ่มต้นด้วย ELLE เปิดฉากฉบับภาษาไทย (ปี 2537)

และจากนั้นตามมาด้วย ELLE Decoration และ CLEO (ร่วมทุนระหว่าง Hachette Filipacchi Medias Group แห่งฝรั่งเศส กับ Post Publishing เจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์) จุดกระแสนิตยสารระดับโลกพาเหรดกันเข้ามา สอดคล้องกับ global advertising scheme (การว่าจ้างโฆษณาสินค้าในนิตยสารพร้อมกันในเครือข่ายทั่วโลก)

ที่สำคัญมากๆ คือการประมูลหาผู้รับสัมปทานทีวีช่องใหม่ในระบบยูเอชเอฟ (ปี 2538) หรือทีวีเสรี ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สื่อสิ่งพิมพ์พยายามสร้างโมเดลความมั่งคั่งใหม่สนใจเข้าร่วมหลายราย ทั้งเนชั่น มติชน เดลินิวส์ ฯ

แต่ในที่สุดจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกลุ่ม ธนาคารไทยพาณิชย์ ชนะประมูล โดยใช้ชื่อ ไอทีวี ทั้งนี้ มีการเปลียนแปลงหลายครั้ง

มีความร่วมมือกับสื่อสิ่งพิมพ์ ต่างกรรม ต่างวาระ โดยเฉพาะบทบาทของเนชั่นช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่ง

 

ช่วงที่สอง (2540-2560)

2ทศวรรษแห่งความผันแปร เริ่มต้นจากวิกฤตการณ์สื่อไทย ตามมาด้วยปรากฏการณ์ใหม่ระดับโลก ค่อยๆ ขยายอิทธิพลเข้ามาในสังคมไทย

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยมาถึงในปี 2540 สื่อดั้งเดิมจึงเดินเข้ายุคแห่งความผันแปรอย่างแท้จริง ในช่วงเวลาชุลมุน สาละวนกับการแก้ปัญหาอันหนักหน่วง มีปรากฏการณ์ใหม่ คือการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อใหม่ ในโลกอินเตอร์เน็ต รวมทั้งปรากฏการณ์อันน่าทึ่งของ Social media

Google และ Web log หรือ Blog เกิดขึ้นในปี 2541 Wikipedia (2544) Face book (2547) YouTube (2548) หรือ Tweeter (2549) เปิดพื้นที่ใหม่ๆ นำเสนอและสื่อสารด้วยข้อมูล ข่าวสารและเนื้อหาต่างๆ มาจากแนวคิดและกระบวนการทำงานแตกต่างจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

Social media เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Consumer-Generated Media (CGM) แท้จริงคือกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหม่ระดับโลก อ้างอิงกับโมเดลใหม่

หนึ่ง-เชื่อมโยงกับพลังเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทลายกำแพงความเป็นประเทศ ข้ามพรมแดน ครั้งใหญ่

สอง-อาศัยพลังของปัจเจก กลุ่มคน องค์กร หรือธุรกิจ ไม่จำกัดขนาด สร้างเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อสื่อสารกันเองหรือกับกลุ่มย่อย จนถึงสื่อสารกับสาธารณชน โดยเฉพาะมีแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ใช้บริการมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเนื้อหา (Content)

ขณะเดียวกัน สื่อไทยเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุด วัฏจักร สื่อสิ่งพิมพ์ที่เติบโตอย่างมาก เป็นรายแรกถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (ปี 2542) ในปีเดียวกันนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ พยามแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างหนักของ ไอทีวี ด้วยการดึงกลุ่ม ชินคอร์ป ของ ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาถือหุ้นใหญ่ไอทีวี

แต่ในที่สุดไปไม่รอด รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงจัดการ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส จัดตั้งโดยรัฐบาล เข้าแทนที่ ไอทีวี (ปี 2551) ปีเดียวกันนั้นเอง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งล้มละลายให้กับ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป เจ้าของสื่อ “ผู้จัดการ” ซึ่งแสดงบทบาทสื่อไทยอย่างโลดโผนในช่วงก่อนปี 2540

ไม่นานนัก สื่อระดับโลกรูปแบบใหม่ ได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยอย่างเต็มที่ เริ่มต้นด้วย Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานในประเทศไทย (ปี 2554)

ในเวลาใกล้เคียงกัน Fox Entertainment Group ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐ เปิดเครือข่ายด้วยการนำภาพยนตร์ซีรี่ส์อเมริกันเข้ามาถึงครัวเรือนไทย

Line เครือข่ายสื่อสังคมระดับโลกอีกรายจากญี่ปุ่น มีสมาชิกในสังคมไทยทะลุ 10 ล้านคน (ปี 2555)

YouTube ผู้ครองตลาดธุรกิจเครือข่ายบริการแชร์คลิปวิดีโอ (video-sharing website) แห่งสหรัฐ (เครือข่ายของ Google) เปิดบริการในประเทศไทย Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิลพลมากที่สุดในโลก เปิดตัวในประเทศไทย (ปี 2558) ให้ภาพพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งอย่างน่าทึ่ง และ Netflix เครือข่ายธุรกิจบริการผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet video streaming เปิดบริการในสังคมไทย (ปี 2559)

ขณะที่สื่อดั้งเดิมระดับโลกที่เคยปักหลักในเมืองไทยมีอันเป็นไป Reader”s Digest และนิตยสารภาคภาษาไทย “สรรสาระ” ปิดฉากในสังคมไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นกระแสนิตยสาร “หัวนอก” ทยอยลาแผงตามกันมาอีกมาก ทั้งนี้ Reader”s Digest เข้ามาเมืองไทย (ปี 2539) เปิดนิตยสารภาคภาษาไทย “สรรสาระ” ในช่วงปี 2559-2560 นิตยสาร “หัวนอก” ฉบับสำคัญ ลาแผงในเมืองไทยเป็นระลอกคลื่น โดยเฉพาะ Cosmopolitan Marie Claire Men”s Health และ Madame Figaro

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเดียวกันนิตยสารดั้งเดิมเก่าแก่ของไทย ก็มีอันเป็นไปตามกระแสอันเชี่ยวกรากนั้นด้วยอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะนิตยสารบางกอก รายสัปดาห์ สกุลไทย ขวัญเรือน และคู่สร้างคู่สม

 

ช่วงที่สาม (2557-ปัจจุบัน)

โมเดลใหม่ โอกาสใหม่ พร้อมๆ กับความผันแปรใหม่ที่คาดไม่ถึง

ทีวีดิจิตอล เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย (ปี 2557) มากถึง 48 ช่อง สะท้อนภาพความพยายามใหม่ โอกาสทางธุรกิจใหม่ และโมเดลธุรกิจใหม่ มีความสัมพันธ์ในมิติที่น่าสนใจ

หนึ่ง-บริษัทในตลาดหุ้น ในบรรดา 17 รายใหม่ ซึ่งกลายเป็นเจ้าของทีวีดิจิตอล มีถึง 9 ราย อยู่ในเครือข่ายบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สอง-รายเก่ากับหน้าใหม่ เครือข่ายธุรกิจทีวีดั้งเดิมได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างคึกคัก ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์บางรายเข้าสู่เกมด้วยอย่างตื่นเต้น

อีกเหตุการณ์ถือว่าเกี่ยวข้องพอสมควร คือการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่า 4G (ปี 2558) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ แนวโน้มใหม่ โดยเฉพะการสื่อสาร การเข้าถึงเนื้อหาที่มากกว่าเสียง ย่อมสนับสนุนสื่อในรูปแบบหลากหลาย อย่างสำคัญ

ผ่านไปแค่ปีเดียวธุรกิจทีวีดิจิตอลเองเผชิญความผันแปรไปอย่างคาดไม่ถึง มีการเพิกถอนใบอนุญาติทีวีดิจิตอลรายหนึ่ง เป็นรายแรก (กุมภาพันธ์ 2559) และการปลี่ยนมือกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

–บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เจ้าของช่องทีวีดิจิตอลช่องหนึ่ง ได้ขายหุ้นให้นิติบุคคล เชื่อกันว่าเป็นตัวแทน กลุ่มทีซีซี โดย เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำ ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายใหม่แทนกลุ่มเดิม (24 พฤศจิกายน 2559)

ตามมาติดๆ (30 พฤศจิกายน 2559) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ขายกิจการทีวีดิจิตอล “ช่อง ONE 31” ให้ผู้หุ้นถือรายใหม่ เชื่อกันว่าเป็นตัวแทนเครือข่ายธุรกิจใหญ่อีกราย

ปรากฏการณ์ข้างต้นมีผู้คนตั้งข้อสังเกตว่าสื่อไทยกำลังก้าวไปอีกขั้น ในฐานะอยู่ในเครือธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพล

ความผันแปรและการปรับตัวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และบางกรณีดูซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าเครือมติชนประกาศยุบแผนกการพิมพ์และแผนการจัดส่ง (ปลายปี 2560) หันไปใช้บริการคู่ค้าแทน ประหนึ่งย้อนกลับยุคแรกๆ สื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมประกาศทุ่มเททรัพยากรไปยังสื่อดิจิตอล

และล่าสุดกรณีเครือเนชั่น (ธันวาคม 2560) ประกาศขายกิจการทั้งทีวีดิจิตอล-ช่อง NOW ธุรกิจการศึกษา (มหาวิยาลัยเนชั่น) และธุรกิจโลจิสติกส์ ด้วยอ้างว่าไม่ใช่ธุรกิจหลัก เชื่อกันว่ามีผลต่อเนื่องมาจากการเข้ามาของผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่

เป็นการส่งสัญญาณการสิ้นสุดยุคผู้นำ ผู้บุกเบิกคนเดียว ตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา